Jan 8, 2009

Always: Sunset on Third Street ความทรงจำอันแสนร่มรื่น





เริ่มต้นปีใหม่ ผมขออนุญาตเขียนถึงหนังญี่ปุ่นอบอุ่นอย่าง Always: Sunset on Third Street (2005) ครับ หนังเรื่องนี้ใช้ชื่อญึ่ปุ่นว่า Ōruweizu: San-chōme no Yūhi เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ “ทาเคชิ ยามาซากิ” (Takashi Yamazaki)

“ทาเคชิ ยามาซากิ” เป็นผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่เกิดและเติบโตหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงไปแล้ว แม้ว่า “ยามาซากิ” ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงจากสงครามอันเลวร้ายรวมไปถึงบรรยากาศการสร้างชาติญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกแต่ “ยามาซากิ” สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความอบอุ่นของหลายชีวิตที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ได้ชนิดไม่มีที่ติ

Always: Sunset on Third Street เป็นหนังที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Cinema Paradiso (1988) ของ “จูเซปเป้ ทอนาทอเร่” (Giuseppe Tornatore) ที่เล่าถึงอารมณ์ถวิลหาของผู้คนชาวอิตาเลียนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอิตาลีก็แพ้สงครามเช่นกัน ทั้งนี้แกนหลักของ Cinema Paradiso นั้นอยู่ที่ “โรงหนัง” และความทรงจำของโต้โต้ที่มีต่อคุณลุงอัลเฟรโด้ ซึ่ง “ทอนาทอเร่” ผู้กำกับได้ทำให้เราประทับใจไปกับอารมณ์ “ถวิลหา” (Nostalgia) ในวัยเด็กซึ่งผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีความทรงจำดีๆในวัยเด็กด้วยกันทั้งนั้นครับ

“ยามาซากิ” ได้พาเราไปรู้จัก “มหานครโตเกียว” ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามมาสิบกว่าปี และในช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นได้สร้าง “หอคอยโตเกียว” หรือ Tokyo Tower ขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของมหานครโตเกียว

ตามประวัติแล้วหอคอยโตเกียวเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1957 ครับ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1958 ทั้งนี้จุดประสงค์ของการสร้างหอคอยโตเกียวก็เพื่อเป็นหอกระจายสัญญาณสื่อสารให้กับสถานีโทรทัศน์และวิทยุอย่าง NHK , TBS และ FujiTV โดยลักษณะของหอคอยโตเกียวนั้นมีรูปทรงที่คล้ายคลึงกับหอคอยไอเฟิล (Eiffel Tower) ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส

ในหนังเรื่อง Always หอคอยโตเกียว เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงจุดเริ่มต้นของ “ญี่ปุ่นยุคใหม่”ที่พร้อมจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งแต่ไม่ใช่จาก “แสนยานุภาพทางทหาร” แต่เป็น “แสนยานุภาพทางเศรษฐกิจ” ครับ

ตามธรรมเนียมครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาของหนัง เนื่องจากเกรงจะเสียอรรถรสในการชม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมเก็บได้จากการดูหนังเรื่องนี้ คือ วิธีการมองโลกของคนญี่ปุ่นยุคฟื้นฟูชาติ

หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ชาวญี่ปุ่นมีความทรงจำที่ขมขื่นจากประสบการณ์ของสงครามที่ผู้นำทางทหารของพวกเขาเป็นผู้ก่อขึ้น ด้วยเหตุนี้เองชาวญี่ปุ่นจึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างชาติขึ้นมาใหม่โดยใช้ปรัชญา “อดทน อดกลั้น และ อดออม”

ทั้งนี้การที่ญี่ปุ่นสามารถฟื้นจากสงครามได้อย่างรวดเร็วนั้น ก็เนื่องด้วยคนญี่ปุ่นมี “วินัย”ในการดำเนินชีวิต ในหนังเรื่อง Always ตัวละครอย่างคุณ “โนริฟูมิ ซูซูกิ” (Norifumi Suzuki) เจ้าของร้านซ่อมรถยนต์เล็กๆ “ซูซูกิออโต้” คือ ตัวแสดงที่สะท้อนให้เห็นคุณสมบัติที่สำคัญของคนญี่ปุ่นรุ่นสร้างชาติที่มีความอดทนและมีความฝันตลอดเวลาว่าร้านเล็กๆของเขาจะกลายเป็นบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ส่งรถออกไปขายทั่วโลกได้

ผมว่าการมีความฝันและมีจินตนาการเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถประสบความสำเร็จได้เกือบทุกเรื่องหากพวกเขาตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่น การใช้การ์ตูน “กัปตันซึบะสะ” (Captain Tsubasa) เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กญี่ปุ่นยุคแปดศูนย์กล้าฝันที่จะไปบอลโลกซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จจริงๆ

กล่าวกันว่าปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงหลังจากแพ้สงครามก็เนื่องด้วยการ “อดออม” ครับ ทั้งนี้ชนชาติญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีวินัยในการออมอย่างยิ่งจนพวกเขาสามารถเป็น “แหล่งเงินกู้” ให้กับชาติที่ไม่ค่อยจะชอบออมแต่ชอบบริโภคอย่างบ้านเรา

มาถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตเล่าเรื่องผู้นำญี่ปุ่นในยุคฟื้นฟูประเทศและพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งตามประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นแล้วดูจะมีนายกรัฐมนตรีสองคนที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการฟื้นฟูญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้ง คนแรก คือ นายชิเกรุ โยชิดะ (Shigeru Yoshida) นายกรัฐมนตรีห้าสมัยที่อยู่ในตำแหน่งช่วงปลายทศวรรษที่ 40 ถึงกลางทศวรรษที่ 50 และอีกคนหนึ่ง คือ นายฮายาโตะ อิเคดะ (Hayato Ikeda) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสามสมัยระหว่างช่วงปี ค.ศ.1960-1964

นายโยชิดะเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่มีส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยเน้นไปที่การพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมสำคัญๆที่ถูกทำลายไปในช่วงระหว่างสงครามรวมทั้งดำเนินนโยบายทางการทูตที่เป็น “กลาง” ในช่วงสงครามเย็น ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถทำการค้าได้โดยไม่ต้องฝักใฝ่ฝ่ายใด

ท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบันนาย “ทาโร อาโสะ” (Taro Aso) ก็คือหลานตาของนายโยชิดะนี่เอง

สำหรับนายฮายาโตะ อิเคดะ นั้น เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่มีส่วนสำคัญในการนำพาญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา อิเคดะได้ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักอย่างเต็มตัว จนอาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ยุคหกศูนย์เป็นต้นมาญี่ปุ่นครองอำนาจทางการค้าและการลงทุนกว่าค่อนโลก

กลับมาที่หนังต่อดีกว่าครับ, หนังเรื่องนี้พูดถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 50 อย่าง “โทรทัศน์” ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมบันเทิงรูปแบบใหม่ของคนสมัยนั้นที่ตั้งตารอชมกัน เรียกได้ว่าบ้านไหนมีโทรทัศน์บ้านนั้นดูจะป๊อบปูล่าร์กว่าใครเพื่อน นอกจากโทรทัศน์แล้วยังมี “ตู้เย็น” อีกด้วยครับและคงไม่ต้องเดานะครับว่าสินค้าทันสมัยเหล่านี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากฝีมือของคนญี่ปุ่น

อย่างที่ทราบกันนะครับว่า “ญี่ปุ่น” เคยเป็นชาติที่ลอกเลียนได้เก่งที่สุด แต่จะว่าอย่างนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะชาวญี่ปุ่นนั้นมีความเป็น “นักสร้างสรรค์” ไม่แพ้ชาติใดในโลกและปัจจุบันญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศอันดับต้นๆในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีสมัยใหม่

Always: Sunset on Third Street นับเป็นหนังที่ทำให้คนดูถวิลหาความรู้สึกเก่าๆในอดีตได้ไม่แพ้ Cinema Paradiso หรือหนังสกุล Nostalgia เรื่องอื่นๆ หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ผมรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก…ลองไปหาหนังเรื่องนี้มาดูสิครับเผื่อบางทีเราอาจจะมีความทรงจำอันแสนร่มรื่นบังเกิดขึ้น

Hesse004