Dec 28, 2008

ฟุตบอลไทย กับ พัฒนาการที่หยุดยั้ง




ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ยังคงติดตามผลงานของทีมฟุตบอลชายไทยในศึกซูซูกิอาเซียนคัพครั้งนี้ คงจะเริ่มรู้สึกแล้วว่าทีมชาติไทยไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนอย่างที่เราเคยเข้าใจมาช้านาน

คำถามที่เกิดขึ้นในใจผมหลังจากที่เราแพ้ “ทีมชาติเวียดนาม” คาสนามราชมังคลากีฬาสถาน คือ เขาดีขึ้นหรือเรายังย่ำอยู่กับที่? คำตอบอาจจะเป็นไปได้ทั้งสองประการนะครับ เพียงแต่ว่าเราอยากจะยอมรับในคำตอบไหนมากกว่ากัน

ในฐานะที่เป็นผู้ชมคนเชียร์ทีมชาติไทยมาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เริ่มดูฟุตบอลเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมพบว่าพัฒนาการของฟุตบอลไทยเรานั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากครับ บางทีอาจจะพอๆกับพัฒนาการของนักการเมืองบ้านเรา

ว่ากันว่าความเข้มแข็งของระบบลีกในประเทศมีผลทำให้ทีมชาตินั้นแข็งแกร่งตามไปด้วย แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่เห็นว่าลีกของเราจะเข้มแข็งแต่ประการใดทั้งๆที่ฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก (Thailand Premier League) ก่อตั้งมาได้สิบสองปีแล้ว

อย่างที่เคยเรียนไปแล้วครับว่า ผมไม่ขอวิจารณ์การทำงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเพราะผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาทำงานให้กับส่วนรวมย่อมมีความตั้งใจและเสียสละเป็นพื้นฐานอยู่แล้วเพียงแต่ว่าความเสียสละดังกล่าวนั้นเคลือบแฝงไปด้วยวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือไม่

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมน์หรือ Football Association of Thailand ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2459 ในสมัยรัชกาลที่หกครับ มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ประเทศของเราหรือ “สยาม” ในขณะนั้นสมัครเป็นสมาชิกฟีฟ่า (FIFA) เป็นลำดับที่สองของทวีปเอเชียครับโดยเราเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรก (พ.ศ.2473) ที่อุรุกกวัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามทีมชาติไทยยังไม่เคยได้เป็นตัวแทนของทวีปไปอวดแข้งฟุตบอลโลกกับเขาสักที

แม้ว่าสมาคมฟุตบอลของเราจะก่อตั้งมาช้านานแต่กว่าจะฟอร์มทีมชาติเพื่อลงแข่งในระดับนานาชาติก็ปาเข้าไปเมื่อปี พ.ศ.2495 โดยการแข่งขันฟุตบอลกับทีมต่างประเทศแมตช์แรกของทีมชาติไทยเรานั้นแพ้ให้กับทีมชาติเวียดนามใต้ (ในสมัยนั้น) ไป 3 ประตูต่อ 1 ครับ

อย่างไรก็ตามก็ตามดูเหมือนฟุตบอลไทยในช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 นั้น เรามีโอกาสได้ลับแข้งกับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะแมตช์โอลิมปิกเกมส์ที่ทีมชาติไทยเคยเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในโอลิมปิกส์เกมส์ครั้งที่ 16 เมื่อปี พ.ศ.2499 ซึ่งจัดที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นั้น ผลปรากฏว่าแค่รอบแรกเราโดนต้นตำรับบอลอย่าง “ทีมสหราชอาณาจักร” สอนเชิงไป 9 ประตูต่อ 0 ครับ ซึ่งแมตช์ดังกล่าวถูกบันทึกให้เป็นสถิติความพ่ายแพ้ยับเยินที่สุดของทีมชาติไทย

หลังจากนั้นสิบสองปีต่อมาทีมฟุตบอลชายไทยก็เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ครั้งที่19 เมื่อปี พ.ศ.2511 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ผลปรากฏว่าทีมชาติไทยจอดแค่รอบแรกโดยเสียประตูไป 19 ประตู และยิงคืนมาได้ประตูเดียวในเกมส์ที่พบกับกัวเตมาลา

ในระดับเอเชียนั้น ทีมชาติไทยไปได้ไกลสุดในฟุตบอลเอเชียนคัพที่เราเป็นเจ้าภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2515 โดยคว้าตำแหน่งที่สาม ขณะที่ในระดับเอเชียนเกมส์ เราทำได้ดีที่สุดโดยทะลุถึงรอบรองชนะเลิศ 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตามในระดับภูมิภาคอาเซียน ทีมชาติไทยของเราดูจะยึดตำแหน่งหมายเลขหนึ่งมาโดยตลอดทั้งในกีฬาแหลมทองหรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน ซึ่งเราคว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 13 ครั้ง โดยซีเกมส์ใน 8 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา เราผูกขาดเหรียญทองมาโดยตลอด

จะว่าไปแล้วการพัฒนากีฬาฟุตบอลของแต่ละชาตินั้นต้องเริ่มต้นจากการมีฟุตบอลอาชีพภายในประเทศที่เข้มแข็งก่อน นั่นหมายถึงว่าสมาคมฟุตบอลต้องมีส่วนผลักดันให้เกิดอาชีพ “นักฟุตบอล” เกิดขึ้นให้ได้

ด้วยคำว่า “อาชีพ” (Professional) จะทำให้คนที่รักจะประกอบสัมมาอาชีพนี้ย่อมตระหนักถึง “ความเป็นมืออาชีพ” และนี่เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการได้ “นักฟุตบอล” จริงๆ

อย่างไรก็แล้วแต่การเกิดขึ้นของฟุตบอลอาชีพจำเป็นต้องอาศัย “คนดู” ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อสมาคมฟุตบอลคิดจะ “ผลิตบริการฟุตบอลบันเทิง” ออกมาขายให้ผู้บริโภคได้เสพแล้ว สมาคมฟุตบอลต้องมีส่วนในการสร้างคุณภาพให้กับ “ลีก” ภายในประเทศให้สมกับที่ผู้เสพบริการฟุตบอลบันเทิงยอมเสียสตางค์เข้าไปดูนักฟุตบอลยี่สิบสองชีวิตฟาดแข้งกัน

ผมเชื่อว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยย่อมรู้ซึ้งในหลักการการบริหารลีกฟุตบอลอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดีสิบสองปีที่ผ่านมาของไทยลีกกลับไม่ได้ทำให้คนรักฟุตบอลอย่างผมมีความกระหายที่จะเข้าไปดูฟุตบอลลีกภายในประเทศเลย

ครั้งหนึ่ง “คุณ บอ.บู๋” คอลัมน์นิสต์ชื่อดังจากค่ายสตาร์ซอคเกอร์ เคยให้ความเห็นทำนองว่าที่ฟุตบอลไทยไม่พัฒนา เราไม่ควรมาโทษว่าเพราะคนไทยมัวแต่สนใจบอลนอก คุณ บอ บู๋ แนะนำว่าทางที่ดีเราควรหันกลับมามองตัวเราเองก่อนว่าลีกของเรามันไม่พัฒนาตรงไหน

ผมเห็นด้วยกับคุณ บอ.บู๋ ครับ ทั้งนี้หากเราใช้กรอบการวิเคราะห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์มองความล้มเหลวของฟุตบอลอาชีพในบ้านเรา เราก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมผู้ผลิตบริการฟุตบอลบันเทิงอย่างสมาคมฟุตบอลนั้นไม่สามารถผลิตบริการฟุตบอลบันเทิงได้เป็นที่ประทับใจชาวไทยผู้บริโภคฟุตบอล

ผลจากความล้มเหลวของฟุตบอลลีกอาชีพทำให้ “สโมสรฟุตบอล” ไม่สามารถพัฒนาตนเองจนขยับขึ้นมาเป็น “ธุรกิจการกีฬา” เมื่อสโมสรไม่พัฒนา คำว่า “นักฟุตบอลอาชีพ” ก็ไม่เกิดเพราะนักฟุตบอล คือ แรงงานที่มีทักษะ (Skill labor)ในการผลิตบริการฟุตบอลบันเทิง นอกจากนี้นักฟุตบอลที่มีฝีเท้าดีก็ย่อมหาทางเลือกที่ดีให้กับตัวเองด้วยการย้ายตัวเองไป “ค้าแข้ง” ในลีกและสโมสรที่ให้ค่าเหนื่อยในระดับที่สมน้ำสมเนื้อกับการเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” ด้วยเหตุนี้เองนักเตะทีมชาติไทยของเราจึงนิยมไปค้าแข้งตั้งแต่ลีกล่างๆในยุโรป เอสลีกในสิงค์โปร์ เซมิโปรลีกในมาเลเซียรวมไปถึงวีลีกในเวียดนาม

อย่างไรก็ตามปัจจัยเล็กๆที่อาจทำให้บอลลีกภายในประเทศเริ่มพัฒนาได้ คือ การสร้างความรู้สึก “จังหวัดนิยม” ขึ้นมาก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อความกระหายของแฟนฟุตบอลประจำจังหวัดที่อยากเข้ามาดูผลงานของจังหวัดตัวเอง เหมือนที่ครั้งหนึ่งบ้านเราเคยมีทัวร์นาเมนต์ “ยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัพ” (Yamaha Thailand Cup) ซึ่งผมคิดว่าเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีสีสันมากที่สุดทัวร์นาเมนต์หนึ่งครับ

กรณีจังหวัดนิยม ผมชื่นชมการสร้างทีมของ “ชลบุรี เอฟซี” หรือ “ฉลามชล” (The Shark) ที่สามารถสร้างสีสันให้กับฟุตบอลไทยแลนด์ลีกได้ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และเราคงแอบหวังลึกๆว่าจะมีจังหวัดต่างๆเริ่มหันมาพัฒนาและร่วมสร้างฟุตบอลลีกภายในประเทศอย่างจริงจังโดยไม่ต้องรอการชี้นำจาก “สมาคม” เพียงอย่างเดียว

ในวงการฟุตบอลอาเซียนด้วยกัน สิงค์โปร์กำลังพัฒนา “เอสลีก” (S-league) ของพวกเขาให้เจริญรอยตาม “เจลีก” (J-leauge) เช่นเดียวกับที่เวียดนามได้สร้างให้ “วีลีก” (V-league) มีความแข็งแกร่งจนทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคได้อย่างที่พวกเขาฝันไว้

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ดูการแข่งขันฟุตบอลระดับโรงเรียนประถมที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ผมสนุกไปกับเกมส์ที่เห็นเด็ก ป.5-ป.6 เล่นบอลกันด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นทุ่มเท มันเป็นภาพความสุขแบบเรียบง่ายที่ครั้งหนึ่งผมเชื่อว่าเด็กผู้ชายหลายคนคงเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว

บางที “ฟุตบอล” อาจจะไม่ต้องการอะไรมากมายหรอกครับ ขอแค่ให้ “ใจ” ไปกับมันทั้งคนเล่น คนทำทีม หรือแม้แต่คนบริหารสมาคมฟุตบอลเองก็ตาม

Hesse004

Dec 19, 2008

เศรษฐศาสตร์แบบ “อภิสิทธิ์”





ในฐานะ “นักเรียนเศรษฐศาสตร์” ผมยินดีอยู่ไม่น้อยที่เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมาจากแวดวงวิชา “เศรษฐศาสตร์” ในอดีตนั้นเรามีผู้นำประเทศที่มีพื้นฐานทางการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยสองท่านครับ

ท่านแรก คือ ท่านอาจารย์ “ปรีดี พนมยงค์” นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย มันสมองของคณะราษฎรและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านปรีดีจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายมาจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครับ นอกจากนี้ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือ Diplome d’Etudes Superieures d’Economic Politique ด้วยเหตุนี้เองท่านปรีดีจึงเป็นผู้วาง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ซึ่งจะว่าไปแล้วในอดีตนั้นประเทศของเรามีบุคลากรที่เรียกว่า “นักเศรษฐศาสตร์” (Economist) น้อยมากครับ

ผู้นำประเทศคนต่อมาที่มีพื้นความรู้การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ครับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จบการศึกษาด้านวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์และการเมือง (Philosophy, Politics and Economics-PPE) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University) ครับ

สำหรับคุณอภิสิทธิ์นั้น นับเป็นผู้นำประเทศคนที่สามที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์และเคยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2533-2534

อย่างที่ทราบกันว่าคุณอภิสิทธิ์นับเป็นผู้นำประเทศที่มีประวัติทางการศึกษาคล้ายคลึงกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ โดยจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเหมือนกันแถมยังมีดีกรีเกียรตินิยมพ่วงท้ายเหมือนกันอีกด้วย

จากประวัติการศึกษาที่ดีเยี่ยมของคุณอภิสิทธิ์บวกกับความเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์ 1” แม้ว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจะไม่ได้ดำเนินการตามลำพังเพียงคนเดียวก็ตาม แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าความเข้าใจที่ดีพอต่อปัญหาและกลไกเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ของเศรษฐกิจโลกที่เชี่ยวกรากนั้นนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศทั้งในวันนี้และในวันหน้า

เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมได้กลับไปอ่าน “บทความวิชาการ” ที่คุณอภิสิทธิ์เขียนลงในวารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 และ 4 พ.ศ.2534 โดยบทความวิชาการดังกล่าวมีชื่อว่า “ทิศทางวิชาเศรษฐศาสตร์” ซึ่งประกอบไปด้วยสองตอนครับโดยตอนที่ 1 เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ให้คำโปรยไว้ว่า “ความพยายามที่จะปรับทฤษฎีให้เข้าหาความเป็นจริง” ส่วนตอนที่สองเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ตั้งคำถามไว้น่าสนใจว่า “ยังห่างไกลจากความเป็นเอกภาพ”

บทความชุดดังกล่าวนับเป็นบทความที่สะท้อนให้เห็นทักษะความเป็นนักวิชาการของคุณอภิสิทธิ์ได้ดีอย่างยิ่ง เนื่องจากคุณอภิสิทธิ์สามารถร้อยเรียงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในช่วงระหว่างทศวรรษแปดสิบได้เป็นเรื่องเป็นราวคล้ายกับการทบทวนวรรณกรรมแนวคิดที่ปรากฏในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค

แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คุณอภิสิทธิ์ตัดสินใจหันหลังให้กับงานวิชาการและกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2535

โดยทั่วไปพื้นฐานความรู้ทางการศึกษาของผู้นำประเทศมีส่วนสะท้อนซึ่ง “วิธีคิด” หรือ “กระบวนการตัดสินใจ” ในการบริหารประเทศไม่มากก็น้อยนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมสันนิษฐานว่าผู้นำประเทศส่วนใหญ่มักมาจาก “นักกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ รวมไปถึงอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ผู้นำประเทศที่มีพื้นฐานมาจาก “นักการทหาร” ก็สามารถพบได้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับผู้นำประเทศที่มาจาก “นักเศรษฐศาสตร์” หรือ “นักเรียนเศรษฐศาสตร์” นั้น เท่าที่ผมจำได้ก็น่าจะมีอดีตประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน” (Ronald Reagan) ครับ เรแกนนั้นจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จาก Eureka College ในมลรัฐอิลินอยส์ (Illinois) นอกจากนี้ชื่อเสียงของเรแกนยังถูกนำไปใช้เรียกแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของนักเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปทาน (Supply side economics) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “เรแกนโนมิคส์” (Reaganomics)

เช่นเดียวกันกับนาย “จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ” (Junichiro Koizumi) อดีตนายกรัฐมนตรีสุดเท่ห์ของชาวญี่ปุ่นก็จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) ครับ ในปัจจุบันยังมีผู้นำประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างน้อยสองคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ โดยคนแรก คือ ดร.มาโมฮาน ซิงห์ (Mamohan Singh) ของอินเดีย และอีกคนคือ ดร.กลอเรีย มาร์คาลปากาล อาร์โรโย่ (Gloria Marcapagal Arroyo) แห่งฟิลิปปินส์ ครับ

“มาโมฮาน ซิงห์” (Mamohan Singh) จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากUniversity of Oxford Nuffield College โดย ดร.ซิงห์เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำไอเอ็มเอฟก่อนจะกลับอินเดียมาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ใน University of Delhi และ Jawarharal Nehru University ซึ่งจะว่าไปแล้ว “ซิงห์” คือ มือเศรษฐกิจในระดับต้นๆของแดนภารตะที่มีส่วนวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียให้ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคงในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

สำหรับ “นางอาร์โรโย่” ผู้นิยมแนวคิดเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโนมิคส์” (Thaksinomics) นั้น จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Philippines ครับ หลังจากนั้นอาร์โรโย่เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ในกรุงมนิลา ก่อนจะได้รับคำเชื้อเชิญจากอดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาควิโน่ (Corazon Aquino) ให้เข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์

ทั้งหมดที่ผมได้เรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบนั้นจะเห็นได้ว่า อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้นโดยเฉพาะการนั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศ

แม้ว่าความเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” จะทำให้มองเห็นปัญหาและกลไกของระบบเศรษฐกิจประเทศตัวเองและกลไกของเศรษฐกิจโลกได้แจ่มชัด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์ล้วนได้รับการปลูกฝังสรรพวิชาจากตำราเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาลงมา “กุมบังเหียน” ของจริง บางครั้งตำราอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมดซึ่งบางครั้งปัญหาเศรษฐกิจอาจจะไม่ซับซ้อนอะไรมากไปกว่าเรื่อง “ความเป็นอยู่หรือปัญหาปากท้องของชาวบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นของแพง ค่าแรงถูก

ท้ายที่สุดผมแอบลุ้นลึกๆว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ท่านนี้อาจสร้างแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เผื่อวันหน้าอาจมีใครเรียกแนวคิดของท่านว่า “มาร์โคโนมิคส์” (Marconomics) หรือ “เศรษฐศาสตร์แบบอภิสิทธิ์” ไงล่ะครับ

Hesse004

Dec 10, 2008

"หมากเตะโลกตะลึง" ชัยชนะของคนขี้แพ้





นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” (2546) ออกฉาย หกผู้กำกับหนุ่มจาก “กลุ่ม 365 ฟิล์ม” ได้ออกไปสร้างสรรค์ผลงานเดี่ยวอันหน้าประทับใจหลายต่อหลายเรื่องครับ

เริ่มจาก “คุณเอส” คมกฤษ ตรีวิมล ได้ทำให้หนังเรื่อง “เพื่อนสนิท” (2548) กลายเป็นหนังรักที่ดีเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่สร้างให้ “สายลับจับบ้านเล็ก” (2550) เป็นหนังตลกที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับหัวจิตหัวใจของคนเป็น “เมียน้อย” ในอารมณ์ที่ไม่หนักจนเกินไปนัก

“คุณย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้ผันตัวเองมากำกับหนังเรื่องแรกที่ชื่อ “เด็กหอ” (2549) แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีกลิ่นอายของความเป็น “หนังผี” แต่ผู้กำกับได้แทรก “ปม” ต่างๆของตัวละครไว้อย่างน่าสนใจและที่สำคัญที่สุดคือเรื่องมิตรภาพของเพื่อนต่างภพ

ต่อมา “คุณต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร ออกมากำกับหนังวัยรุ่นภายใต้การดำเนินเรื่องโดยมี “ดนตรีคลาสสิค” เป็นแกนหลัก ด้วยเหตุนี้เอง “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (2549) หรือ Seasons change จึงเป็นหนังที่มีความละเมียดละไมอยู่ไม่น้อย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน “คุณบอล” วิทยา ทองอยู่ยง ทำให้หนังชื่อ “เก๋า เก๋า” (2549) กลายเป็นหนังแนวแฟนตาซีที่ดูสมจริงเพราะด้วยไมค์วิเศษสีชมพูนี้เองที่ทำให้วงดนตรี “อิมพอสสิเบิล” ต้องระหกระเหินข้ามเวลาจากปี พ.ศ. 2512 มาสู่ปี พ.ศ. 2549

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ หนังของกลุ่มผู้กำกับแฟนฉันที่ผมมีโอกาสได้ดูครับ โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชมผลงานของพวกเขามากเนื่องจากหนังของพวกเขาเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงแบบชิลๆเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนเก่าอย่างสบายใจ

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของคนที่มีช่วงวัยสามสิบถึงสี่สิบปี โดย “แฟนฉัน” คือ ภาพยนตร์นำร่องที่เปิดให้เห็นการเติบโตของคนช่วงวัยดังกล่าว ซึ่งจะว่าไปแล้ววัฒนธรรมบันเทิงยุค 80 นั้นดูจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อคนช่วงวัยนี้

หากไล่เรียงลำดับการทำหนังของกลุ่มผู้กำกับ 365 ฟิล์ม ให้ดี เราจะพบว่าหนังของพวกเขาสามารถถ่ายทอดช่วงเวลาชีวิตของตัวละครหลักในเรื่องได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น “เด็กหอ” ที่กล่าวถึงช่วงชีวิตของเด็กวัยรุ่นชายตอนต้น “Seasons change” ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนมัธยมปลาย “เพื่อนสนิท” เล่าชีวิตของเด็กระดับมหาวิทยาลัย

ความชัดเจนในพล็อตหนังทุกเรื่องของผู้กำกับกลุ่มนี้ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ที่ผ่านช่วงชีวิตเหล่านั้นมาแล้วย่อมเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปจนกระทั่งอารมณ์ถวิลหาหรือ Nostalgia ซึ่งทำให้ผลงานของพวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้น

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอีกหนึ่งผู้กำกับในกลุ่ม 365 ฟิล์ม ที่ดูจะมีอุปสรรคกับการทำหนังเรื่องแรกของเขา นั่นคือ “คุณปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณปิ๊งคิดทำหนัง “ฟุตบอล”

“หมากเตะโลกตะลึง” หรือ Lucky Looser (2549) ของ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ตั้งใจที่จะสร้างออกมาให้เกี่ยวกระแสฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ แต่อย่างไรก็ดีหนังเรื่องนี้ได้รับการต่อต้านจาก “ลาว” ประเทศบ้านพี่เมืองน้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาไปในเชิงลบหลู่ดูถูกศักยภาพทีมฟุตบอลชาติลาว

แม้ว่าหมากเตะโลกตะลึงจะกลับมาอีกครั้งในชื่อของ “หมากเตะรีเทิร์นส์” โดยเปลี่ยนชื่อจากทีม “ลาว” เป็น “ทีมอาวี” แต่ก็ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะหลุดกระแสไปจากบอลโลกฟีเวอร์ เสียแล้ว

ในแง่ของมิติการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์แล้วกันครับ เนื่องจากว่าทุกชาติ ทุกภาษาล้วนมีความรู้สึก “ชาตินิยม” กันอยู่ในเผ่าพันธุ์ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้เองการนำเสนอเรื่องราวของ “ความด้อยหรือความผิดพลาด” ของเผ่าพันธุ์หนึ่งย่อมกระทบกระเทือนจิตใจของคนชาตินั้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม “หมากเตะโลกตะลึง” ของคุณปิ๊งนั้นได้ทำให้เราเข้าใจมุมมองของ “ผู้แพ้” มากกว่าจะชื่นชมความสำเร็จของผู้ชนะ

จะว่าไปแล้ว “ฟุตบอล” ได้กลายเป็นกีฬา “อวด” หรือ “เบ่ง” ศักยภาพของประเทศได้อย่างหนึ่ง ฟุตบอลสามารถเป็น “กลยุทธ์”หนึ่งในการสร้างชาตินิยมได้เหมือนที่ “เกาหลีใต้” เคยทำได้ในช่วงฟุตบอลโลกที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2002

น่าสนใจว่าการตั้งเป้าเพื่อไป “ฟุตบอลโลก” หรือ World Cup นั้นกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกชาติ ปัจจุบันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จัดสี่ปีครั้งนั้นได้คัดเอา “เต้ยลูกหนัง” ในแต่ละทวีปรวมทั้งสิ้น 32 ทีม มาบรรเลงเพลงเตะกันในช่วงเวลาหนึ่งเดือน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกจึงเปรียบเสมือนเวทีอวดศักดาของชาติตัวเองว่ามีความสามารถในเชิงลูกหนังมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนที่สุดครับว่า “ฝัน”ของทีมชาติไทยที่จะไปบอลโลกนั้นดูจะเป็น “ฝัน” จริงๆ แม้ว่าเราจะพยายามผลักดันส่งน้ำเลี้ยงและแรงใจก็แล้ว แต่ดีที่สุดของเราคือ รอบคัดเลือกสิบทีมสุดท้ายของเอเชีย

บางครั้งผมว่าเราต้องยอมรับ “ศักยภาพ” ของเราว่าเราไปได้เท่านี้จริงๆ การยอมรับความจริงไม่ใช่สิ่งน่าอายและยิ่งมีความฝันด้วยแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพียงแต่ขอให้ทำอะไรก็ทำด้วยความตั้งใจจริงมิใช่แค่เข้ามาทำทีมชาติเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างอื่นแอบแฝง

นอกจากนี้หนังของคุณปิ๊งยังสะท้อนให้เห็นการทำงานแบบ “ไทย”ๆ นั่นคือ ทำงานเป็นทีมไม่เป็นรวมไปถึงไม่ไว้ใจความสามารถของคนไทยด้วยกันเองซึ่งจะว่าไปแล้วมันคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บอลไทยของเราไปได้ไกลในระดับภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น

ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์การทำทีมฟุตบอลชาติไทยแล้วกันนะครับ เนื่องจากผมเชื่อว่าทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่าความพยายามของเราอาจจะยังไม่เพียงพอเทียบเท่ากับการเอาจริงเอาจังของชาติเอเชียด้วยกันอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิหร่าน จีน การ์ตาร์ แม้กระทั่งวันนี้อาจจะมีสิงค์โปร์ย่องมาอย่างเงียบๆ

ผมแอบเชื่อลึกๆว่า หากวันใดทีมฟุตบอลไทยของเราประสบความสำเร็จจนไปถึงฟุตบอลโลกได้ บางทีคนไทยอาจจะเลิกทะเลาะกันนั่นหมายถึงว่าเรารู้แล้วว่าจริงๆแล้วถ้าเราสามัคคีกันชาติพันธุ์ของเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครและท้ายที่สุดเราก็จะหันมาเคารพความคิดเห็นของพวกเรากันเองโดยไม่มองว่า “มึงโง่กว่ากู” หรือ “มึงนั่นแหละคือตัวถ่วงความเจริญของชาติ”

บางครั้งการพ่ายแพ้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนอย่างที่ทีมชาติ “อาวี” เจอนั้น อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะในอนาคตเมื่อเราทุกคนหันมาสามัคคีและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เผื่อไม่แน่ทีมชาติไทยจะได้ไปบอลโลกกับเขาได้เสียทีใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Dec 1, 2008

การเมืองเรื่องของ “สี”





ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมแทบไม่มีเวลาจะเขียนอะไรเลยครับ เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการปรับปรุงโครงร่างวิทยานิพนธ์ นอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆทางการเมืองยิ่งทำให้ “บั่นทอน” อารมณ์และจินตนาการบางอย่างไม่มากก็น้อย

สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของ “รสนิยม” (Taste) ครับ นั่นหมายถึง การที่เราจะรักหรือศรัทธาใครก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับรสนิยมและฐานคติของแต่ละบุคคล

จะว่าไปแล้วการเมืองไทยวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของรสนิยมของคนสองกลุ่มหรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ คนกลุ่มหนึ่งชื่นชอบ “การเมืองแบบสีเหลือง” (Yellow Politic) ขณะที่คนอีกกลุ่มชื่นชม “การเมืองแบบสีแดง” (Red Politic)

การเมืองแบบสีเหลืองมุ่งเน้นไปที่อุดมการณ์ของประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ไม่ต้องการเห็นการเมืองระบบตัวแทนแบบเดิมๆเข้าไปโกงกินฉ้อฉลหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ธนกิจการเมือง” (Money Politic) ผู้ที่นิยมบริโภคการเมืองแบบสีเหลืองจึงมีความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้กลายเป็น “การเมืองใหม่”หรือ “ประชาภิวัฒน์” ซึ่งผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นครับ

สำหรับการเมืองแบบสีแดงนั้นกลับมองเห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบตัวแทนแบบเดิมโดยผู้บริโภคการเมืองแบบสีแดงเชื่อว่าประชาธิปไตยจะต้องมาจากการเลือกตั้ง (Voting) และการเลือกตั้งคือกลไกที่สามารถสะท้อนความต้องการของพวกเขาผ่านตัวแทนที่เขาเลือก ผ่านรัฐบาลที่เขาไว้ใจให้บริหารราชการแผ่นดิน

มองในแง่อุดมคติและอุดมการณ์ ผมเชื่อว่าการเมืองทั้งสองสีมีเจตนาดีต่อสังคมส่วนรวมเพียงแต่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การที่สังคมเลือกสีใดสีหนึ่ง สังคมย่อมมีค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) สำหรับคนอีกสีหนึ่งเสมอ

นั่นหมายถึงว่าระบอบประชาธิปไตยได้สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อยที่ไม่สามารถสื่อสารความคิดความเห็นและความต้องการของตนเองผ่านกลไกทางการเมือง

การจัดตั้งมวลชน หรือ “ม๊อบ” (Mob) ของการเมืองสีเหลืองเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามกติกาใหญ่ของคนในสังคมนั่นคือ “รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกันกับการแสดงพลังมวลชนของการเมืองสีแดงในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เพียงแต่ว่าการเมืองของคนทั้งสองสีที่คิดและเชื่อไม่เหมือนกันนั้นดูจะไม่สามารถหาจุดที่เรียกว่า “อุตมภาพ”หรือ Optimum ได้เลย

ภายใต้เงื่อนไขการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำกัดของคนในสังคมทั้งสองสีทำให้ผู้บริโภคการเมืองทั้งสองแบบไม่สามารถข้ามพ้นหลักการที่ตัวเองยึดเหนี่ยวได้ รังแต่จะสร้างความร้าวฉานแตกแยกและชิงชังมากขึ้น และนี่เองที่เป็นที่มาของคนที่พยายามจะเสนอเรื่องของ “การเมืองสีขาว” (White Politic) ที่อยากให้คนทั้งสองหันหน้ามาคุยกันเข้าทำนองว่า “หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

แม้ว่าการเมืองสีขาวจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกตีกิน” จากการเมืองทั้งสองสีแต่ถ้ามองเจตนาของการเมืองสีขาวแล้วน่าจะเข้าใจดีว่าสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการคือความสงบและสันติภาพของคนในสังคม

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายนะครับ ทั้งนี้ไม่มีใครสามารถยอมรับข้อเสนอการเมืองใหม่ของผู้บริโภคการเมืองสีเหลืองได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถยอมรับความเลวร้ายแบบเดิมๆของการเมืองสีแดงได้ทั้งหมดเช่นกัน

ในช่วงปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสบริโภคการเมืองของคนทั้งสองสีนั่นหมายถึงว่าผมมีโอกาสรับรู้การต่อสู้ของมวลชนคนเสื้อเหลืองพอๆกับการนั่งฟังเหตุผลของคนเสื้อแดง

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วว่าผู้บริโภคการเมืองทั้งสองสีนั้นไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารที่ทั้งสองฝ่ายได้บริโภค (Imperfect Information)

ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร คือ ปัญหาสำคัญที่ทำให้กลไกตลาดล้มเหลวนั่นหมายความว่าผู้ผลิตการเมืองทั้งสองสีไม่สามารถให้ข้อมูลที่ครบด้านในกระบวนการผลิตอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับผู้บริโภค

ทุกวันนี้ผู้บริโภคการเมืองทั้งสองสีแบบสุดโต่ง ได้กลายเป็นผู้บริโภคประเภท Corner Solution หรือเลือกที่เสพสินค้าการเมืองประเภทใดประเภทหนึ่งโดยไม่แบ่งใจไปยอมรับความหลากหลายของสินค้าการเมืองชนิดอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศไทย ผมคงไม่มีอะไรเรียกร้องมากมายไปกว่าขอความสงบและสันติกลับคืนมาให้กับสังคมที่ผมเคยอาศัย ผมอาจเป็นผู้บริโภคประเภท Free Rider หรือ “ตีตั๋วฟรี” ที่ไม่ยอมออกไปเรียกร้องว่าผมจะเลือกบริโภคการเมืองของสีใด

สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของรสนิยมครับ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่น่าเคารพนับถืออย่างยิ่ง เช่นเดียวกันกับการแสดงออกซึ่ง “อารยะขัดขืน” ก็เป็นมาตรการที่น่าประทับใจในการต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า

แต่หากการแสดงออกที่เกินขอบเขตจนถึงฆ่าฟันกันถึงแก่ชีวิตหรือปิดสนามบินโดยมีชะตากรรมของคนทั้งประเทศเป็นตัวประกันนั้นเพียงเพราะเราบริโภคการเมืองคนละสีกัน คำว่า "อารยะขัดขืน" จะกลายเป็น “อนารยะข่มขืน” ในที่สุด

ผมเองเป็นพวก “อารยะขบขัน” ครับ ผมยังอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ผมเติบโตมาด้วยความสงบสุขและสามัคคี

ลองสำรวจตัวเองดูสิครับว่า เราพอจะบริโภคการเมืองแบบหลายสี (โดยไม่ต้องสูญเสียอุดมการณ์) ได้หรือเปล่า? เผื่อบางทีเราอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่า…ที่แท้การเมืองมันก็ไม่ได้มีแค่สีเหลืองหรือสีแดง

Hesse004