Aug 21, 2008

"The Counterfeiters" ความอยู่รอดบนเรื่องจอมปลอม





ปี ค.ศ.2008 คณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมแห่งเวทีออสการ์ได้พร้อมใจกันเลือก Die Fälscher (2007) ให้เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Foreign language Film)

Die Fälscher (2007) เป็นภาพยนตร์ออสเตรีย (Austrian Film) ครับ และเป็นผลงานการกำกับของ "สเตฟาน รูโซวิสกี้" (Stefan Ruzowitzky) ผู้กำกับหนุ่มใหญ่จากเมืองเวียนนา

สำหรับชื่อภาษาอังกฤษของ Die Fälscher (2007) นั้นค่อนข้างตรงไปตรงมานั่นคือ The Counterfeiters ซึ่งคำว่า Counterfeit นั้นแปลว่า ปลอมแปลง ครับ

บทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำของ “อดอลฟ์ เบอร์เกอร์” (Adolf Burger) หนึ่งในเหยื่อชาวยิวที่เคยถูกฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (The Holocaust)

เบอร์เกอร์ นั้นเป็นยิวที่มีเชื้อสายสโลวัค ครับ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่เผด็จการฮิตเลอร์จุดไฟสงครามขึ้นมานั้น เบอร์เกอร์เองก็ถูกจับเป็นเชลยชาวยิวที่ค่ายนรกออสวิตส์ (Auschwitz Concentration Camp)ในโปแลนด์ อย่างไรก็ตามเบอร์เกอร์นั้นรอดมาด้วยความที่แกเป็นยอดฝีมือทางด้านช่างพิมพ์ (Typography)

เบอร์เกอร์นั้นถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการลับที่ชื่อว่า Operation Bernhard ซึ่งโครงการลับสุดยอดนี้เป็นแนวคิดของนายพลนาซีคนหนึ่งนามว่า “เบอร์นฮาร์ด ครูเกอร์” (Bernhard Krüger) ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาด้วยการพิมพ์แบงก์ปอนด์และดอลลาร์ปลอมออกมาจำนวนมากโดยมีวัตถุประสงค์ให้ระบบการเงินของทั้งสองประเทศนี้ระส่ำระสาย

ผมเองก็เพิ่งทราบเหมือนกันครับว่ากลยุทธ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีเรื่องการปลอมแปลงธนบัตรฝ่ายตรงข้ามกันด้วย โครงการลับของเบอร์นฮาร์ดนั้นถูกเก็บเงียบอยู่ที่ค่ายกักกันชาวยิวที่ซัคเซนฮาวเซน (Sachsenhausen Concentration Camp)

ว่ากันว่ากลยุทธ์ปลอมแบงก์ของนาซีครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งครับ เพราะเหล่ายอดฝีมือปลอมแบงก์ชาวยิวสามารถปลอมแบงก์ปอนด์ได้ถึงเก้าล้านใบ ซึ่งคิดเป็นเงินปอนด์ได้เกือบหนึ่งร้อยสามสิบห้าล้านปอนด์เลยทีเดียวครับ

แหม่! ชาวยิวเนี่ยมีพรสวรรค์หลายด้านเลยนะครับ แม้แต่การปลอมแบงก์ พระเจ้าก็ยังมอบพรสวรรค์พรรค์นี้ให้กับชาวยิวอีกแน่ะ!

สำหรับบทนำของภาพยนตร์เรื่องนี้ตกอยู่กับ “ซาโลมอน ซาโลวิทซ์” (Salomon Sorowitsch) สุดยอดนักปลอมแปลงเอกสารทางการทุกชนิด ไล่ตั้งแต่พาสปอร์ต วีซ่า บัตรประชาชนไปจนกระทั่งแบงก์ดอลลาร์

ซาโลวิทซ์ , นำแสดงโดย คาร์ล มาร์โควิทซ์ (Karl Markovics) นักแสดงชาวออสเตรียน, เป็นชาวยิวที่มีพรสวรรค์ในการวาดรูปโดยเฉพาะการลอกเลียน ด้วยเหตุนี้เองซาโลวิทซ์จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวเรือใหญ่ปลอมแบงก์ในโครงการลับครั้งนี้

ทั้งหมดนี้ซาโลวิทซ์และผองเพื่อนทำไปเพื่อความอยู่รอดในค่ายกักกันแถมด้วยอาหารและที่นอนดีๆซึ่งเป็นสิทธิพิเศษสำหรับเหล่านักปลอมแบงก์ชาวยิว อย่างไรก็ตามใช่ว่าทุกคนอยากจะทำบาปกันนะครับ โดยเฉพาะ "เบอร์เกอร์"แล้ว เขาต่อต้านนาซีทุกวิถีทางโดยไม่ยอมร่วมมือในโครงการลับนี้แต่โชคยังดีที่แกไม่โดนนาซีฆ่าเสียก่อน เพราะตำแหน่งช่างพิมพ์แบงก์นั้นค่อนข้างหายาก

แม้ว่าซาโลวิทซ์จะได้รับการยอมรับจากพลพรรคนาซีในฝีไม้ลายมือการปลอมแบงก์ที่ยากจะหาที่ติ พูดง่ายๆว่าแบงก์ปอนด์ของซาโลวิทซ์กับแบงก์ปอนด์ของธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษนั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างกันแม้แต่น้อย แต่ด้วยความที่เขาเป็น “ยิว” ซาโลวิทซ์จึงถูกเหยียดหยามหลายอย่าง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองครับ ซึ่งถ้าหากเรามาจัดกลุ่มภาพยนตร์คลาสสิคที่ว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว Die Fälscher (2007) น่าจะเป็นอีกเรื่องที่ได้รับการบันทึกเข้าไปด้วยนะครับ

จะว่าไปแล้วความโหดร้ายในค่ายกักกันชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นถูกนำมาตีแผ่เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเริ่มจากภาพพยนตร์เรื่อง Schindler's List (1993) ของ “สตีเฟน สปิลเบิร์ก” (Steven Spielberg) ซึ่งสปิลเบิร์กได้ทำให้เราเห็นความเลวร้ายของเหล่านาซีที่กระทำต่อบรรพบุรุษชาวยิวของสปิลเบิร์ก

อย่างไรก็ตามความโหดร้ายในค่ายกักกันก็ไม่ได้ถูกสื่อออกมาในแง่ของความหดหู่ไปซะทีเดียวนะครับ เพราะหนังของ “โรแบร์โต้ เบนจีนี่” (Roberto Benigni) ผู้กำกับอารมณ์ดีชาวอิตาเลียนก็ได้ทำให้ La vita è bella (1997) หรือ Life is beautiful กลายเป็นหนังต่อต้านสงครามที่คลาสสิคและรื่นรมย์ที่สุดเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ Jakob the Liar (1999) ของ “ปีเตอร์ คาสโซวิทซ์” (Peter Kassovitz) ก็เป็นอีกเรื่องที่กล่าวถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเมืองเก็ตโต้ (Ghetto) โปแลนด์ โดยประเด็นหลักของเรื่องอยู่ที่การโกหกของ "ยิวจาคอบ"ที่ทำให้เพื่อนร่วมชะตากรรมในค่ายกักกันมีกำลังใจที่จะรอวันที่สงครามสงบ

น่าสนใจนะครับว่าประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือ The Holocaust นั้นได้กลายเป็นพล็อตเรื่องที่เหล่านักทำหนังนิยมนำมาสร้างกัน อาจเป็นเพราะภาพยนตร์นั้นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้ายรุนแรงได้เห็นภาพพจน์มากกว่าตัวหนังสือ ซึ่งทำให้ผู้ชมตระหนักถึงภัยร้ายแรงของสงครามโดยเฉพาะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างบ้าคลั่ง

หลายอาทิตย์ก่อนผมมีโอกาสได้ดู Hotel Rwanda (2004) ของ “เทอร์รี่ จอร์จ” (Terry George) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสงครามกลางเมืองระหว่างชนเผ่าทุซซี่ (Tussi) และ ฮูตู (Hutu) ในประเทศรวันดา ซึ่งท้ายที่สุดชาวรวันดาเชื้อสายทุซซี่ที่บริสุทธิ์กว่าแปดแสนคนต้องสังเวยชีวิตไปด้วยสงครามบ้าๆที่แตกแยกกันเพียงเพราะ “เขาไม่เหมือนกับเรา”

ท้ายที่สุดผมไม่รู้ว่า “ความเกลียดชัง” ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้นมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่แน่ๆบ่อแห่งความชังมักมาจาก “อคติ” ของมนุษย์ด้วยกันเอง ใช่หรือเปล่าครับ

Hesse004

Aug 11, 2008

"โจโฉ" นักเลงโบราณแห่งวุยก๊ก





หลังจากไปชมภาพยนตร์สามก๊ก ตอนศึกผาแดง (Red Cliff) ของจอหน์ วู (John Woo) อาการสามก๊ก มาเนีย (Three Kingdoms Mania) ของผม ก็กลับมากำเริบอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่เมื่อต้นปีเคยเป็นมาแล้วรอบหนึ่ง

มาคราวนี้ ผมกลับสนใจเรื่องของ “จอมวายร้าย” ที่อุตสาห์ล่องเรือพาทหารนับแสนบุกดินแดน “กังตั๋ง”

ใช่แล้วครับ…บุคคลที่ผมกำลังจะเขียนถึง คือ “โจ-เม้งเต้-โฉ” หรือ โจโฉ นั่นเองครับ

“โจโฉ” นับเป็นตัวละครในสามก๊กที่น่าจะมีคนพูดถึงไม่น้อยไปกว่าสามพี่น้องแห่งสวนดอกท้อและกุนซือเทวดาอย่าง “ขงเบ้ง” นอกจากนี้หนังสือสามก๊กฉบับเก็บเกร็ดตัวละครอย่าง “สามก๊ก ฉบับวณิพก” ของท่านยาขอบ, สามก๊ก ฉบับนายทุน ของท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และสามก๊ก ฉบับคนเดินดิน ของคุณ เล่า ชวน หัว ได้วิเคราะห์ “โจโฉ” ในทุกรายละเอียดทุกซอกมุมที่หลากหลายแตกต่างกันไป

“ยาขอบ” ให้ฉายากับ “โจโฉ” ว่า “ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ” ขณะที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ดูจะนิยมโจโฉถึงกับให้เป็น “นายกตลอดกาล” ส่วนคุณเล่า ชวน หัว ก็ถึงขนาด “ผ่าสมองโจโฉ” ออกมาดูกันเลย

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของ “โจโฉ” ซึ่งเป็นเรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีนนั้น (ค.ศ.155- 220) ถูกตีความได้ในหลายแง่มุมนะครับ บ้างก็ว่าโจโฉ เป็นผู้นำที่ชั่วช้าสารเลวไม่ต่างอะไรกับ “ตั๋งโต๊ะ” บ้างก็ว่าโจโฉ คือ นักบริหารที่เก่งกาจในการวางแผนและเลือกใช้คน

ท่านยาขอบหรือ คุณ “โชติ แพร่พันธุ์” ได้บรรยายลักษณะของโจโฉไว้อย่างนี้ครับว่า

“เม้งเต้สูงไม่ถึงห้าศอก….นัยน์ตาของเขาเล็ก แต่มันกลิ้งกลอกแสดงความระวังระไวอยู่เสมอไม่ใคร่ยอมไว้วางใจต่อเหตุการณ์อันใด แม้เมื่อเขาสงสัยว่ามีความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเขาเองปนอยู่เพียงเปอร์เซนต์เดียวก็ตาม”

ยาขอบยังได้เล่าถึงการทำงานใหญ่ครั้งแรกของโจโฉโดยเป็นโต้โผรวบรวมกองทัพธรรมสิบแปดหัวเมืองเพื่อปราบตั๋งโต๊ ทั้งที่ตอนนั้นโจโฉเพิ่งมีอายุแค่สามสิบห้า

โจ-เม้งเต้-โฉ ถึงหากจะเป็นนายพลผู้น้อยและอายุน้อย แต่ก็ได้อาศัยความที่ผู้มีอายุเห็นว่า เป็นเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมของมันนั่นแหละ ทะลึ่งบ้าง เสือกบ้าง ดันทุรังบ้าง ไกล่เกลี่ยเรื่องราวเริ่มต้นจะร้าวฉานของพวกผู้ใหญ่ได้ดีนัก มันเสนอความคิดเห็นของมันตะบมตะบันไปสิ”

ลักษณะของ “โจโฉ” ที่ยาขอบบรรยายมานี้สะท้อนให้ความเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว ฉลาดหลักแหลม ช่างเจรจา สามารถทำงานประสานกับผู้คนทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ด้วยเหตุนี้บทบาทของโจโฉในช่วงต้นเรื่องสามก๊กจึงมีลักษณะเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ออกจะดันทุรังในบางครั้ง

“ความเคี่ยว” ของโจโฉค่อยๆปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้คำแนะนำของกุนซือเฒ่าอย่าง “ซุนฮก” ที่ให้ชูธงกองทัพธรรมพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์พระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำให้โจโฉมีสิทธิอันชอบธรรมในการปราบหัวเมืองกบฏที่คิดกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก

อย่างไรก็ตามการยึดถือปรัชญาการเป็นผู้นำตลอดชีวิตของเขาที่ว่า “ข้าพเจ้าสมัครทรยศโลกมากกว่ายอมให้โลกทรยศข้าพเจ้า” (สำนวนท่านยาขอบ) ก็ยิ่งทำให้ภาพของโจโฉในช่วงที่เรืองอำนาจนั้นยิ่งน่ากลัวและมีความอำมหิตไม่แพ้ “ตั๋งโต๊” แต่สิ่งที่โจโฉแตกต่างจากตั๋งโต๊ะ คือ การรู้จักเลี้ยงคนและให้โอกาสผู้มีฝีมือได้พิสูจน์ตัวเองเหมือนที่เขาเคยให้โอกาส “กวนอู” ในวันที่กวนอูเป็นแค่พลธนูหน้าไม้พิทักษ์เล่าปี่แสดงฝีมือไปตัดหัว “ฮัวหยง”

น่าสนใจว่าทำไมคนมีปรัชญาเช่นนี้จึงสามารถผูกใจคนเก่งๆได้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการที่โจโฉมี “ใจนักเลง” เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสามารถครองใจคนได้ ซึ่งดูจะแตกต่างจาก "เล่าปี่" ที่ครองใจคนด้วยการเป็น “ผู้พนมมือทั้งสิบทิศ” ที่นอบน้อมถ่อมตน

ใจนักเลงของโจโฉแสดงออกมาในรูปของความกล้าได้กล้าเสียมาตั้งแต่วัยเยาว์ มีมิตรสหายมากมาย นับถือคนดีมีฝีมือ คอยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงฝีมืออยู่เสมอ คุณลักษณะเหล่านี้ของโจโฉจึงสามารถครองใจขุนพล กุนซือ แม้กระทั่งทหารเลวได้

อย่างไรก็ตามโจโฉเป็นคนที่สร้างบาปไว้มากมายนะครับ โดยเฉพาะการฆ่าคนบริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไล่ตั้งแต่ คุณลุงแปะเฉียและครอบครัว ที่หวังดีจะเชือดหมูให้กินแต่ด้วยความระแวงสงสัยของโจโฉทำให้เขาต้องฆ่าคน “ยกครัว” เช่นเดียวกับการฆ่า “อองเฮา” นายกองเสบียงของตนเองเพื่อขอยืมหัวอองเฮามาเป็น “แพะ” ตอนที่เสบียงใกล้หมด หรือกรณีที่ “โจโฉ” ฆ่า“เล่าฮก” ศิลปินเอกแห่งยุคในระหว่างงานเลี้ยงก่อนออกศึกเซ็กเพ็ก เพียงเพราะเล่าฮกไปวิจารณ์กลอนลำนำของท่านผู้นำว่าไม่ถูกอักขระ ทำนองเดียงกับที่ฆ่า “เอี้ยวสิ้ว” ที่ดันมารู้ทันว่าโจโฉจะถอยทัพจากการแทะโครงไก่

ทั้งหลายทั้งปวงนี้แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ครบรสของโจโฉที่ดูจะใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยานและสะสมบุญพอๆกับการสร้างบาป

โดยส่วนตัวผมแล้ว, หลังจากที่อ่านเรื่องราวของโจโฉในหนังสือสามก๊กหลายเล่มรวมไปถึงดูหนังสามก๊กหลายรอบ ผมคิดว่าโจโฉเป็นมนุษย์ประเภท Practical Man หรือ พวกนักปฏิบัตินิยม ครับ ซึ่งพวกนักปฏิบัตินิยมมักมีเป้าหมายที่ชัดเจนและพยายามหาทางไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้โจโฉจึงมักเลือกใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

นอกจากนี้คนจำพวกนี้จะไม่มานั่งหมดอาลัยตายอยากร้องห่มร้องไห้ เหมือนครั้งหนึ่ง ที่เหล่าขุนนางต่างร้องไห้เมื่อเห็นตั๋งโต๊ะกระทำการหยาบช้าต่อองค์ฮ่องเต้ แต่มี “โจโฉ” เพียงคนเดียวเท่านั้นที่หัวเราะแถมยังประชดต่อด้วยว่าต่อให้ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด แล้วไอ้ตั๋งโต๊ะมันจะตายมั๊ย

ตัวอย่างหลายๆตัวอย่างแสดงให้เห็นความเป็น “นักปฏิบัติ” หรือ “นักทำ” ของโจโฉ มากกว่าเป็น “นักพูด” อย่างไรก็ตามโจโฉยังมีความผิดพลาดอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้สงครามใหญ่อย่างศึกเซ็กเพ็กนั้นต้องพ่ายไปอย่างหมดรูป

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยวิเคราะห์โจโฉไว้ว่า แม้ว่าโจโฉจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “มหาอุปราช” หรือ “ไจเสี่ยง” แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งเป็นตำแหน่งสูงที่สุดแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะสถาปนาตัวเองเป็น “ฮ่องเต้” ซึ่งผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะ “นักเลงจริง” ส่วนใหญ่จะรู้ว่าอะไร “ควร” หรืออะไร “ไม่ควร” ใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004