Jul 23, 2008

Notting Hill รักของเธอมีจริงหรือเปล่า?




กล่าวกันว่าการสร้าง “หนังรัก” ให้เป็นที่ประทับใจผู้ชมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ เพราะหากผู้กำกับใส่ความโรแมนติคมากจนเกินไป หนังรักเรื่องนั้นก็จะดูจะมีรสหวานปนเลี่ยน แต่ถ้ามัวแต่เติมความรันทดมากจนเกินเหตุ หนังรักก็อาจจะมีรสเหมือนกาแฟดำผสมยาขมน้ำเต้าทอง

กระบวนผู้กำกับและมือเขียนบทที่เขียนหนังรักได้ “กลมกล่อม” ที่สุดในยุคนี้ น่าจะหนีไม่พ้น “ริชาร์ด เคอร์ติส” (Richard Curtis) นะครับ

ริชาร์ด เคอร์ติส คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังรักโรแมนติค คอมมิดี้ (Romantic Comedy) หลายต่อหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นหนังรักพันธุ์อิงลิชครับ

เคอร์ติส สร้างชื่อให้กับตัวเองในการเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Four Weddings and Funeral (1994) หนังรักที่ส่งให้ ฮิวจ์ แกรนท์ (Hugh Grant) กลายเป็นพระเอกจอมเปิ่น ผู้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพระเอกในหนังรักทั่วไป

เคอร์ติส เป็นเพื่อนซี้กับ “โรแวน แอตกินสัน” (Rowan Atkinson) หรือ Mr. Bean นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้เคอร์ติสจึงมีส่วนในการสร้างสรรค์ซีรีส์ตลกสุดคลาสสิคอย่าง Mr. Bean (1990-1995) ด้วย

นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’s Diary ก็เป็นผลงานของเคอร์ติสในการพัฒนาบทภาพยนตร์จากนิยายขายดี ของ “เฮเลน ฟิลด์ดิ้ง” (Helen Fielding) อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า เคอร์ติสจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์รักโรแมนติค คอมมิดี้เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ Love actually (2003) ครับ

สำหรับหนังรักโรแมนติค คอมมิดี้ อีกเรื่องที่ ริชาร์ด เคอร์ติส สร้างสรรค์บทภาพยนตร์ จนเป็นเรื่องที่มีผู้ชมจดจำกันได้มากที่สุด คือ Notting Hill (1999) ครับ

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันมาแล้ว Notting Hill (1999) เป็นผลงานการกำกับของ “โรเจอร์ มิเชล” (Roger Michell) มีเคอร์ติส เป็นผู้เขียนบท ซึ่ง Tag Line หรือคำโปรยของหนังเรื่องนี้ใช้ว่า “Can the most famous film star in the world fall for just an ordinary guy?” ถ้าแปลแบบไทยๆก็คงทำนองว่า “เจ้าดอกฟ้าจะโน้มตัวลงมาหลงรักไอ้หมาวัดได้หรือเปล่า?”

จริงๆแล้วคำว่า “Ordinary Guy” มันก็คงไม่ถึงกับต่ำต้อยมากนัก เพียงแต่ว่าสำนวนไทยๆมันก็ทำให้เราเห็นภาพพจน์ดีเหมือนกันนะครับ

ผมมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้อย่างตั้งใจจริงๆ 2 รอบ ครับ รอบแรกนั้นผ่านมานานมากแล้ว ส่วนรอบที่สองเพิ่งจะดูไม่กี่วันมานี้

ผมไม่แน่ใจว่าด้วยอายุที่มากขึ้นหรือเปล่าจึงทำให้รู้สึกว่า Notting Hill ของเคอร์ติสนั้นพยายามจะบอกอะไรกับคนดูโดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก”

หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นชีวิตของ “วิลเลี่ยม แทกเกอร์” (William Thacker) หนุ่มอังกฤษธรรมดาๆซึ่งมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตคู่จนทำให้ต้องหย่าร้าง

“แทกเกอร์” ซึ่งนำแสดงโดย “ฮิวจ์ แกรนท์” นั้นเล่นบทนี้ชนิดได้ใจเลยครับ เพราะเขาแสดงให้เราเห็นถีงความเจ็บปวดที่แสดงออกมาทางแววตาได้ดีพอๆกับอารมณ์ขันแบบฝืดๆที่มีอยู่เหลือเฟือ แต่โดยรวมแล้ว นายแทกเกอร์คนนี้เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอนะครับ ซึ่งผมว่าคุณสมบัติข้อนี้แหละครับที่ทำให้ “แอนนา สก๊อต” (Anna Scott) ดอกฟ้าจากฮอลลีวู้ด มองเห็น

บางทีดารานักแสดง เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราๆท่านๆแหละครับ เพียงแต่ว่าอาชีพของเขาคือ “การแสดง” ด้วยเหตุนี้ “ชีวิตดารา” (แหม่! ชื่อเหมือนหนังสือก๊อซซิปรายสัปดาห์เลย) จึงเป็นชีวิตที่ออกจะแตกต่างจากชีวิตคนธรรมดาสามัญ

ชีวิตส่วนตัวที่หดหายไปและการเป็นบุคคลสาธารณะนั้น คือ ราคาที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายต้องจ่ายเพื่อแลกมาซึ่ง “เงินตราและชื่อเสียง” ครับ อย่างไรก็ตามผมก็ยังเชื่อว่าพวกเขาก็มีอารมณ์ความรู้สึก เจ็บเป็น เสียใจเป็น ร้องไห้เป็น อายเป็น เหมือนคนทั่วไป
ริชาร์ด เคอร์ติส ได้ทำให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยคำคม (Quote) หลายๆประโยค เช่น “For June who loved this garden from Joseph who always sat beside her.” Some people do spend their whole lives together. ประโยคนี้ “แอนนา สก๊อต” ได้อ่านข้อความที่จารึกบนเก้าอี้ยาวในสวนสาธารณะซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เธอต้องการที่สุดจากความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” นั้น คือ แค่หาใครสักคนที่เข้าใจและจริงใจกับเธอและพร้อมจะอยู่ร่วมกับเธอตลอดไป

ถ้าดูกันเผินๆมันเป็นเรื่องธรรมดาๆมากนะครับ เพราะใครๆก็อยากมีชีวิตคู่ยืนยาวกันทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริงอาจมีเพียงไม่กี่คู่เท่านั้นที่ได้อยู่ร่วมหอลงโลงด้วยกันจนแก่จนเฒ่า

และที่น่าแปลกไปกว่านั้น คือ ผู้คนส่วนใหญ่ยิ่งใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนานเท่าไร ดูเหมือนความรักมันจะค่อยๆถดถอยลงตาม “กฎที่ว่าด้วยการลดน้อยถอยลงของความพึงพอใจหน่วยสุดท้ายในการบริโภคสินค้า” หรือ Diminishing marginal utility law

ที่กล่าวมานี้คงไม่ใช่ทุกคู่หรอกครับที่จะเป็นไปตามกฎดังกล่าว เพราะบางคู่ยิ่งใช้ชีวิตร่วมกันนานขึ้นเท่าไร ความรักและความผูกพันมันยิ่งแปรผันตาม ซึ่งรักแบบเนี้ยแหละครับ ที่เขาเรียกกันว่า “รักแท้” หรือ “รักกันจริง”

ตัวอย่าง “คู่รัก” ที่ผมประทับใจมากที่สุด คือ คู่ของคุณรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) กับ คุณชูศรี พุ่มชูศรี ทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ

ความรักของท่านทั้งสองได้แสดงให้คนรุ่นพวกเราได้เห็นว่า “ความรักที่แท้” นั้นมันเป็นเช่นไร เมื่อปีที่แล้วคุณสุวัฒน์นั้นเสียชีวิต ขณะที่คุณชูศรีกำลังนอนป่วยอยู่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณชูศรีก็เสียตาม การครองเรือนด้วยกันมากกว่าครึ่งศตวรรษนั้นทำให้ทั้งคู่ฝ่าฟัน
ทุกอย่างมาด้วยกันซึ่งผมขออนุญาตใช้คำว่า “ทั้งสองท่านมีหัวใจดวงเดียว” กันไปแล้ว

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวรุ่นพวกเราส่วนใหญ่มักจะ “รักง่ายหน่ายเร็ว” เข้าทำนองอยู่กันจน “หม้อข้าวไม่ทันดำ” และเหตุผลสำคัญที่ถูกนำมาใช้กล่าวอ้างบ่อยที่สุดในวันที่ทั้งสองตัดสินใจหย่าร้างกันก็คือ “เราเข้ากันไม่ได้” หรือ “เราไปด้วยกันไม่ได้” หรือ “เค้าก็มีโลกส่วนตัวของเค้า ส่วนฉันก็มีโลกส่วนตัวของฉัน”

ทั้งหมดที่กล่าวมาผมขออนุญาตไม่วิจารณ์นะครับ, เพราะยังไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตคู่ นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่า การตัดสินใจแต่งงานเหมือนกับการแทงหวยครับ หากเจอคู่ที่ดีจริงๆก็ “ถูกหวย” แล้วแต่ว่าจะถูกรางวัลอะไร แต่หากเจอคู่ที่ไม่ดีก็ “ถูกกิน” แถมยังต้องมานั่งเจ็บปวดอีก

ด้วยเหตุนี้แหละครับที่ “วิลเลียม แทกเกอร์” ซึ่งเคยถูกหวยกินมารอบหนึ่งแล้วจากชีวิตคู่ที่ต้องหย่าร้าง จึงยังไม่มั่นใจนักว่ารักของ “แอนนา สก๊อต” นั้นจะมีให้กับเขาจริงหรือเปล่า เพราะสถานะของทั้งสองนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน

ขณะที่ “แอนนา สก๊อต” ก็กำลังมองหาใครสักคนที่มีความจริงใจและพร้อมจะอยู่เคียงข้างเธอตลอดไปเหมือนข้อความที่สลักอยู่บนเก้าอี้ในสวนสาธารณะ

ท้ายที่สุดผมเชื่อว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงเอยใช้ชีวิตคู่กับใครนั้น เราคงต้องถามตัวเองให้แน่ใจเสียก่อนนะครับว่า “รักของเราที่มีให้เขานั้นมันมีจริงหรือเปล่า” ในทำนองเดียวกันเราก็คงต้องถามเขากลับด้วยว่า “แล้ว..รักของเธอล่ะ …มีจริงใช่มั๊ย”

Hesse004

Jul 21, 2008

“Rocky Balboa” บางครั้งชัยชนะก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ





ชื่อของ “ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน” (Sylvester Stallone) ผู้คนส่วนใหญ่มักจดจำดาราใหญ่คนนี้ในบทของ “แรมโบ้” ทหารหนุ่มนักบู๊ อย่างไรก็ตามผู้ชมยังจดจำภาพของเขาในบทบาทของ “ร๊อคกี้ บัลโบ” (Rocky Balboa) นักมวยโนเนมที่โด่งดังขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน

โดยส่วนตัวแล้ว , ผมได้ดูหนังเรื่อง Rocky (1976) เพียงภาคเดียวครับ หนังเรื่องนี้ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปี ค.ศ.1976 รวมทั้ง “จอห์น จี อวิลด์เซ่น” (John G. Avildsen) ก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองอีกด้วย

หนังเรื่องนี้ทำให้ชื่อของ “ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน” แจ้งเกิดในวงการฮอลลีวู้ดอย่างแท้จริงครับ ขณะที่ศักยภาพของสตอลโลนเองก็ไม่ได้เป็นแค่นักแสดงเจ้าบทบาทเท่านั้น หากแต่เขาคือมือเขียนบทเรื่อง “ร๊อคกี้” ภาคหนึ่งด้วยตัวเอง

จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้มีพลังหลายอย่างอยู่ในตัวเองนะครับ พลังอย่างแรก คือ การปลุกกำลังใจให้เราลุกขึ้นมา “พิสูจน์ตัวเอง” เหมือนที่ร๊อคกี้นักมวยไร้อันดับได้รับโอกาสขึ้นท้าชิงกับ อพอลโล ครีท (Apollo Creed) แชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวี่เวท ผู้มีนิสัยขี้โอ่

ภาพยนตร์ “มวย” ในยุคต่อๆมามักมีแพทเทิร์นการนำเสนอคล้ายๆกับ “Rocky” ไม่ว่าจะเป็น Cinderella Man (2005) ของ รอน โฮเวิร์ด (Ron Howard) หรือแม้กระทั่ง Million Dollar Baby (2004) ของคุณปู่คลิ้นท์ อีสต์วู้ด (Clint Eastwood)

จริงๆแล้วมนุษย์เรานั้นมี “ศักยภาพ” อยู่ในตัวเองทุกคนนะครับ เพียงแต่ว่าศักยภาพดังกล่าวนั้นมันจะถูกดึงออกมาใช้ได้ถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ผมเชื่อว่าทุกๆคนมี “สังเวียน” ของการพิสูจน์ตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน กีฬา หรือแม้แต่ชีวิตครอบครัว

หนังเรื่องนี้ยังสื่อให้เห็น “โอกาส” ของชีวิตคนเราที่มันไม่ใช่ว่าจะได้มากันอย่างง่ายๆนัก เช่นเดียวกับโอกาสของร๊อคกี้ที่เป็น “มวยแทน” รอให้แชมป์คอยถลุงเล่น

ครั้งหนึ่ง “ไอ้ป๋า” เพื่อนผมมันเคยพูดไว้ว่า “โอกาสมักมาเยือนกับผู้เตรียมพร้อมเสมอ”

จริงอย่างที่ไอ้ป๋ามันพูดนะครับ เพราะหลายต่อหลายครั้งเรามักปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างหน้าเสียดายเพราะความไม่พร้อมและลังเลใจของเราเอง

“ร๊อคกี้”ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีอายุครบสองร้อยปีพอดีครับ ด้วยเหตุนี้เรื่องของ “การให้โอกาส” จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาถ่ายทอดในเรื่องนี้ ด้วยเหตุที่ชาวอเมริกันเชื่อว่าแผ่นดินของพวกเขานั้นเป็นดินแดนที่ให้โอกาสกับทุกคน (ที่ได้รับอนุมัติวีซ่าจากสถานทูตอเมริกา…ฮา!)

ผมประทับใจกับบทภาพยนตร์ที่สตอลโลนเขียนเพราะเนื้อหาของเรื่องเต็มไปด้วยเรื่องราวของ “ชีวิต” ผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้จากคนใกล้ตัวแม้กระทั่งตัวเราเอง ดังนั้น บุคลิกของตัวละครจึงมีความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่มีใครดีสุดขั้วหรือชั่วสุดขีด และความเป็น “มนุษย์” เนี่ยแหละครับที่ทำให้โลกเราดูจะมีรสชาติที่แตกต่างกันไป

สำหรับประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ คือ บางครั้งผลการแข่งขันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก ซึ่งในหนังเรื่องนี้สตอลโลนพยายามชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของร๊อคกี้ที่ขึ้นต่อยกับครีทนั้นเพียงแค่ประคองตัวให้ครบสิบห้ายกไม่ให้โดนน๊อคไปเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้เอง หากเราเชื่อว่าเราได้พยายามถึงที่สุดแล้ว (Try to do the best) น่าจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าผลการแข่งขันเสียอีก

ผมเชื่อว่าเราแต่ละคนล้วนรู้จักถึงพลังของตัวเราเองเป็นอย่างดี น่าแปลกนะครับที่ความสามารถของคนเราจะได้รับการพัฒนาได้หากเราตั้งใจและฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ เพราะในโลกนี้ไม่มีใครหรอกครับที่เกิดมาแล้วจะวิ่งได้เลย, เกิดมาแล้วจะเตะบอลเป็น, เกิดมาแล้วจะว่ายน้ำได้เก่ง เกิดมาแล้วจะคิดเลขได้เร็ว, เกิดมาแล้วจะเขียนหนังสือเป็น ทุกอย่างมันอยู่ที่การฝึกฝนด้วยกันทั้งนั้น (Practice)เหมือนที่วาทยากรดนตรีคลาสสิคท่านหนึ่งเคยบอกในโฆษณาเหล้าบักจอหน์นี่ว่า “ถ้าเราอยากจะไปคาร์เนกี้ ฮอลล์ เราก็ต้อง ซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม”

การฝึกฝนบ่อยๆ จะก่อให้เกิดความชำนาญ ความชำนาญจะสร้างทักษะ ทักษะ คือที่มาของประสบการณ์และประสบการณ์เนี่ยแหละครับจะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้

ภาพยนตร์เรื่อง “ร๊อคกี้” นับเป็นตัวอย่างภาพยนตร์ที่ให้กำลังใจคนที่กำลังหมดหวังทดท้อกับชีวิตหรือกำลังดูถูกตัวเอง เพราะหากเรามีฐานคติเช่นนั้นแล้วโลกทั้งใบของเราก็ดูจะหม่นๆไปตลอดชีวิตนะครับ ลองหันกลับมาให้กำลังใจตัวเองก่อน ด้วยความหวังที่เชื่อว่าทุกอย่างมันจะต้องดีขึ้นในวันข้างหน้า...หากเรามีความพยายามครับ

Hesse004

Jul 12, 2008

นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.




วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมเดินทางกลับจากนครสวรรค์โดยอาศัยรถตู้สาธารณะ สายนครสววรค์ - อนุสาวรีย์ชัยฯ และเมื่อถึงอยุธยารถตู้แวะเติมก๊าซเอ็นจีวี (NGV) ที่ปั๊ม ปตท. สารภาพตามตรงเลยครับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมติดอยู่ในขบวนคิวรถนับสิบคันที่รอเติมก๊าซเอ็นจีวี โดยก่อนหน้านี้ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่าเหตุใดจึงมีขบวนรถยาวเหยียดรอเติมเจ้า Natural Gas Vehicle นี้

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2551, ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยเจอปัญหาหลายเรื่องนะครับไล่ตั้งแต่ราคาอาหารเฟ้อ (Agflation) มาจนกระทั่งวิกฤตการณ์พลังงานซึ่งผมไม่แน่ใจว่านักเศรษฐศาสตร์จะเรียกวิกฤตดังกล่าวว่า Oil Shock ครั้งที่ 3 หรือเปล่า

แต่ที่แน่ๆ วิกฤตหนนี้ทำให้ประชาชนทั่วโลกเดือดร้อนไปตามๆกัน ครับ ในเว็บไซด์ของสำนักข่าวบีบีซีได้ทำสกู๊ปติดตามเรื่องวิกฤตพลังงานซึ่งเหล่านักวิเคราะห์พยายามหาสาเหตุของราคาน้ำมันดิบ (Crude oil) ที่พุ่งเพิ่มไม่มีวันหยุด

สาเหตุแรกถูกพุ่งไปยังความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการบริโภคน้ำมันของจีนและอินเดียครับ เนื่องด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูงทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างต้องการใช้พลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่สองนักวิเคราะห์ได้โยนบาปอันนี้ไปยังเหล่ากองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ด้วยเหตุผลที่ว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งไม่มีอะไรจะให้เล่นกันแล้วเหรอวะ เลยต้องหันมาเก็งกำไรในน้ำมันดิบกัน”

สำหรับสาเหตุสุดท้ายคงหนีไม่พ้น “โอเปค” เจ้าเดิมล่ะครับที่ถูกมองว่ายังรอดูท่าทีแถมกั๊กการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันออกมาทำให้ราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นสร้างระดับ New High อยู่เรื่อยๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลนโยบายพลังงานของบ้านเราคงเข้าใจถึงสภาพการณ์ดังกล่าวดีและคงหาเหตุผลในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ไม่ยากเกี่ยวกับปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตามผมยังคงสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง “ปตท.” ว่าพวกเขาจะมีส่วนช่วยบำบัดทุกข์ยากให้กับพวกเราอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากการเป็นหัวหอกในเรื่องรณรงค์ให้คนเข้าคิวยาวเหยียดมาเติมก๊าซเอ็นจีวีของพวกเขา

ด้วยความบังเอิญหลือเกินครับ ผมมีโอกาสได้อ่านเอกสารประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549

เอกสารดังกล่าวเป็นไฟล์ PowerPoint เรื่อง “การแปรรูป ปตท. เปลี่ยนรูป หรือ ปฏิรูป” ครับ ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ของคุณ “ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

หลังจากได้อ่านเอกสารดังกล่าวจบ , ผมรู้สึก “ตาส่วาง” ขึ้นเยอะเลยครับ และต้องขอบคุณรวมทั้งให้เครดิตกับคุณชื่นชมในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องดังกล่าวด้วยครับ

ปตท. หรือ ชื่อเดิม “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดย ปตท. มีที่มาจากการรวมกันของ “องค์การเชื้อเพลิง” และ “องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย”

วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้นมาก็เพื่อ “เป็นกลไกของรัฐในการแทรกแซงการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ก๊าซและน้ำมันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม” ด้วยเหตุนี้เอง ปตท. ของเราคนไทยสมัยนั้นจึงเป็น “รัฐวิสาหกิจ”และเป็น “บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” ครับ

อย่างไรก็ตาม ปตท. ของเราได้ถูกจับให้เป็นรัฐวิสาหกิจนำร่องในการแปรรูป ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือ กระแสการ Privatization ที่ยังไงซะรัฐก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งเหตุผลที่ว่าเราต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่สัญญาไว้ว่าจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ดังนั้น มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 จึงได้สรุปออกมาโดยมีสาระสำคัญว่า “รัฐจะไม่ใช้ ปตท.เป็นกลไกในการแทรกแซงราคาน้ำมันอีกต่อไปแล้ว”

หลังจากวันนั้น ปตท. ได้ถูกแปลงสภาพเป็น “บริษัทมหาชน” ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 ครับ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังของรัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. ร้อยละ 52 ขณะที่เอกชนถือหุ้นร้อยละ 48

หลังจากการแปรรูป ปตท., รัฐหันมาแทรกแซงราคาน้ำมันโดยใช้ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ผลทำให้หนี้ของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวครับ ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มเดินหน้าขยายตลาดในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันโดยมุ่งหวัง “กำไรสูงสุด” ตามหลักการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจเอกชนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เอง กำไรสุทธิของ ปตท. จึงเพิ่มพูนปรากฏตามตัวเลข ดังนี้ ครับ
ปี พ.ศ.2545 กำไร 24,507 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2546 กำไร 37,580 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2547 กำไร 62,666 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2548 กำไร 85,221 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2549 กำไร 95,260 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2550 กำไร 97,803 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าอัตรากำไรของ ปตท.ที่เติบโตนั้นเป็นไปแบบ “ก้าวกระโดด” ซึ่งแน่นอนล่ะครับว่าส่งผลดีต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนแห่งนี้

มองในแง่นักลงทุน, การถือหุ้นบริษัทที่มีผลกำไรมหาศาลแบบนี้ย่อมน่าชื่นใจไม่น้อยนะครับ ไม่ว่าจะรอรับเงินปันผลหรือรอขายเอาส่วนต่างจากราคาหุ้น

อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักลงทุนกันบ้าง คำถามคือ เราได้อะไรจากผลกำไรของบริษัทมหาชนแห่งนี้บ้างครับ?

ผลกำไรที่เพิ่มพูนมหาศาลนี้ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ ปตท. ที่ดีขึ้นหลังจากแปรรูปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานของโลกที่นับวันมีแต่ถีบตัวสูงขึ้นขณะที่ความต้องการบริโภคพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากจะเกิดผลกำไรมหาศาลกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามคำถามถึงผลกำไรดังกล่าวน่าจะผูกโยงไปถึงเรื่องที่ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)นั้น ได้สิทธิพิเศษจากรัฐในเรื่องที่ไม่ต้องมาแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันรายอื่นๆด้วยหรือเปล่าทั้งที่ค่าการกลั่นปัจจุบันสูงกว่าระดับจุดคุ้มทุนอยู่มาก

ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. ยังสามารถครองสัดส่วนตลาดธุรกิจโรงกลั่นเกินกว่า 80% นั่นยิ่งสะท้อนภาพความเป็น “ขาใหญ่” ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันได้ดี

มิพักต้องเอ่ยถึงเรื่องกิจการท่อก๊าซที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือ ผู้ผูกขาดดำเนินกิจการส่งก๊าซผ่านท่อแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้รับการโอนสิทธิต่างๆจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจัดหา ขนส่งและจำหน่าย , สิทธิรับซื้อปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรกจากผู้รับสัมปทานหรือ Right of First refusal รวมไปถึงสิทธิในการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมเสมือนหนึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโดยการอนุมัติของ ครม.

นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนอนุรักษ์เพื่อส่งเสริม NGV แถมด้วยคลังก๊าซ LPG ยังได้รับเงินอุดหนุนค่าขนส่งอีกด้วย

ขณะเดียวกันในแง่ของการเป็นวิสาหกิจเอกชน, คณะกรรมการบริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องบริหารธุรกิจโดยมุ่งเน้นผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น เช่นเดียวกับบริษัทลูกที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50-67 นั้น ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด

รายละเอียดที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้, ผมเพิ่งจะมา “ตาสว่าง” ก็จากการศึกษาค้นคว้าของคุณ “ชื่นชม” ที่เรียกได้ว่าเปิดให้เห็นชุดข้อมูลบางอย่างที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้กันเท่าใดนัก

งานของคุณ “ชื่นชม” น่าจะได้รับเผยแพร่ผ่านทางสื่อสาธารณะนะครับ อย่างน้อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆฝ่ายทั้งภาครัฐและ ปตท. เองจะได้ออกมาชี้แจงความจริงที่เกิดขึ้นในห้วงยามที่คนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตพลังงาน

อ้อ! เพื่อเป็นการให้ข้อมูลรอบด้าน ทุกวันนี้ ผลประโยชน์ของปตท. สผ. หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม นั้นถูกส่งกลับคืนรัฐร้อยละ 33 ครับ

สุดท้ายนี้ผมนึกถึงสโลแกนคลาสสิคของ ปตท. เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วว่า “นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.” เป็นสโลแกนที่ดีมากนะครับ อย่างน้อยมันทำให้เห็นว่า คนไทยเราไม่เคยทิ้งกัน

หรือว่าสโลแกนของ ปตท. ในวันนี้จะเหลือแต่เพียงว่า “ทุกหยดน้ำมันของเรา คือ หยาดน้ำตาของคนไทยทั้งชาติ” ล่ะครับ

Hesse004

ปล. 1 .ผมต้องขอขอบคุณเอกสารของคุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน มากครับ สุดยอดจริงๆ
2. สำหรับสโลแกนในย่อหน้าสุดท้ายนั้นผมไม่แน่ใจว่าไปเจอในบล๊อกโอเคเนชั่นหรือกระทู้ในพันทิพย์ ซึ่งผมว่าเป็นสโลแกนที่ “โดน” มากครับโดยเฉพาะในเวลานี้