Jun 22, 2008

Wanee&Junah โลกที่เธอไม่ให้ฉันเข้าไป





กระบวนหนังรักเกาหลีที่ผมเลือกหยิบมาดูบ่อยที่สุดน่าจะมีดังนี้ครับ Christmas in August (1998) ดูไปแล้วสี่รอบ รองลงมาเป็นMy Sassy Girl (2001), I wish I had a wife (2000) และ Il Mare (2000) สามเรื่องนี้ดูไปแล้วสามรอบและล่าสุดผมเพิ่งหยิบ Wanee&Junah (2002) มาดูรอบสองครับ

วานีและจูน่าห์ (Wanee&Junah) เป็นผลงานการกำกับของ “คิมยองกุน” (Kim Yong-gyun) ที่เล่าเรื่องความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เลือกแยกออกมาใช้ชีวิตคู่ก่อนแต่งงาน

“คิมยองกุน” ทำให้หนังรักเรื่องนี้มีความละเมียดละไมมากโดยเฉพาะประเด็นความรักสามเส้าระหว่าง ลี วานี (นางเอก), คิม จูน่าห์ (พระเอก) และลี ยังมิน (พี่ชายบุญธรรมของวานี) แน่นอนครับว่าไอ้สามเศร้าที่ว่ามันเป็น “เส้า” ระหว่าง วานีที่ยังไม่ลืมรักแรกกับพี่ชายบุญธรรมของตัวเอง ส่วนจูน่าห์คือรักถัดมาของเธอ

นอกจากนี้หนังยังแอบพ่วงรักสามเส้าของเพื่อนสนิทวานีที่มาหลงรักพี่ชายบุญธรรมของวานีอีก พูดง่ายๆว่าผู้หญิงในเรืองนี้มาหลงรัก “ลียังมิน” กันหมด

ผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อหกปีที่แล้วครับ แล้วก็หาซื้อดีวีดีเรื่องนี้มาเก็บไว้เผื่อสบโอกาสเหมาะทางอารมณ์ค่อยหยิบขึ้นมาดูใหม่

ประเด็นที่คิมยองกุนยังแทรกใส่ลงไปในหนังรักของเขา คือ การนำเสนอความรักในรูปแบบที่แตกต่างมิใช่มีเพียงแค่รักของหนุ่มสาวเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รูปแบบความรักแบบเกย์ระหว่างหัวหน้าของวานีกับแฟนหนุ่มที่เป็นตำรวจ นอกจากนี้คิมยองกุนยังตั้งคำถามชวนอึดอัดถึงรักระหว่างพี่ชายบุญธรรมอย่าง “ลียังมิน” และน้องสาวผู้หลงรักพี่ชายอย่าง “วานี”

คำถามของผู้กำกับถึงความรักที่เป็นไปไม่ได้ของรูปแบบความรักที่ไม่ใช่ความรักปกติระหว่างหนุ่มสาวทั่วไปนี้ ทำให้ผมเริ่มมองเห็นว่าแท้จริงแล้ว “ความรัก” เป็นอารมณ์หนึ่งของมนุษย์ที่ยากยิ่งนักจะอธิบาย

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจหากมีวรรณกรรมคลาสสิคบางเรื่องพยายามสื่อสารให้เห็นรูปแบบความรักที่มันแตกต่างไปจากรักระหว่างสถานะหญิงชายหรือหนุ่มสาว บางทีมันกลับกลายเป็นรักประเภทผิดฝาผิดตัว ซึ่งหากเรามองด้วยสายตาเป็นกลางแล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมผู้กำกับอย่างอั้งลี่หรือคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จึงทำหนังเรื่อง Broke back Mountain (2006) กับรักแห่งสยาม (2007) ขึ้นมา

นอกจากนี้ คิมยองกุนได้ทำให้ “วานี”กลายเป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่แสดงความขบถต่อสังคมเกาหลีด้วยการเลือกที่จะให้แฟนหนุ่มจูน่าห์มาอยู่กินฉันคู่ผัวตัวเมียก่อนแต่งงาน

อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้ยังเลือกดำเนินเรื่องในสไตล์หนังรักเกาหลีที่เน้นความโรแมนติคของคู่พระนางโดยท้ายที่สุดหนังเรื่องนี้ก็จบลงด้วยดี

จะว่าไปแล้วความต่างระหว่างหนังเรื่องนี้กับ Christmas in August ของ “เฮอ จินโฮ” นั้นอยู่ที่สถานการณ์ของความรักที่เกิดขึ้น ใน Christmas in August นั้น เฮอ จินโฮ ได้ทำให้ความรักกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตช่วงสุดท้ายของ “จุงวอน” พระเอกของเรื่อง

ขณะที่คิมยองกุนทำให้ความรักของวานีนั้นคลี่คลายและพร้อมจะเริ่มต้นอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจกับผู้ชายคนใหม่ของเธออย่าง “คิม จูน่าห์”

ความรักที่ยากจะเป็นไปได้ระหว่างพี่ชายบุญธรรมกับน้องสาว ยังถูกขังไว้ในห้องของลียังมิน รวมไปถึงความทรงจำของวานีเอง

ในเรื่อง, จูน่าห์เองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมวานีจึงไม่ยอมให้เขาเข้าไปเหยียบห้องของยังมิน จนท้ายที่สุดเขาก็ได้ล่วงรู้ความลับในใจของวานีจากภาพสเก๊ตช์ของหล่อน

แม้ว่าเธอได้เริ่มต้นรักครั้งใหม่กับผู้ชายอีกคนหนึ่งแล้ว แต่ความทรงจำเหล่านั้นยังกลับมาเขย่าตะกอนของความสับสนให้เกิดขึ้นมาอีก โดยที่จูน่าห์เองก็ไม่รู้ว่ารักแรกของวานีนั้นเป็นเช่นไร

หนังพยายามจะพูดถึง “รักแรก” ซึ่งตัวละครแต่ละคนล้วนแต่มีรักแรกที่แตกต่างกัน แต่ถึงยังไงมันก็ต้องถูกดึงกลับมาสู่ “รักปัจจุบัน” วันยังค่ำ

ระหว่างที่ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้ ผมนึกถึงเพลง “โลกที่เธอไม่ให้ฉันเข้าไป” ของคุณบอย ตรัย ภูมิรัตน์ เพลงนี้น่าจะเอามาประกอบเป็นมิวสิควีดีโอในหนังเรื่องนี้ด้วยเพราะมีความหมายตรงกับสิ่งที่จูน่าห์รู้สึก

ประโยคหนึ่งที่ผมติดใจตอนที่จูน่าห์พูดในต้นเรื่อง คือ “อย่ามองกลับไป เพราะลมจะทำให้เธอแสบตา” มันเป็นแค่คำเก๋ๆที่เขาคิดขึ้นเพื่อจะใส่ไปในบทหนัง แต่คำพูดดังกล่าวนั้นเหมือนจูน่าห์ต้องการบอกให้วานีเลือกเก็บความทรงจำดีๆบางอย่างไว้ดีกว่า

ข้อดีของการรักษาความทรงจำไว้ คือ การได้อิ่มเอมใจไปกับมันทุกครั้งที่รำลึกถึงมันขณะที่ข้อเสีย คือ มันมักกลับมาย้อนทำร้ายและสร้างความสับสนให้กับเจ้าของความทรงจำนั้นทุกครั้งยามเมื่อนึกถึง เหมือนที่วานีกำลังเผชิญอยู่

หนังเรื่องนี้ใช้ออริจินัล ซาวด์แทรคเพลง “I wish you love” ของ ลิซ่า โอโนะ (Lisa Ono) ศิลปินแจ๊ซชื่อดังที่ร้องเพลงนี้ได้เพราะมากๆ ครับ ซึ่งผมชอบท่อนสุดท้ายของเพลงนี้ที่ร้องว่า

“When snowflake fall , I wish you love” ฉันได้แต่หวังว่าพอหิมะตก …เธอจะหันมารักฉันได้อีกครั้ง

Hesse004

Jun 20, 2008

"มาร์โก้ แวน บาสเท่น"กับฟุตบอลยูโรปี 2008






นับตั้งแต่ฟุตบอลยูโรปี 2008 เปิดฉากมา, ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามฟุตบอลมาโดยตลอดน่าจะได้ยลแข้งของทีมชาติฮอลแลนด์ไปบ้างแล้วนะครับ โดยเฉพาะสองนัด “เจ็ดลูก”ที่อัดทีมแชมป์โลกอย่างอิตาลีและรองแชมป์อย่างฝรั่งเศสเสียไม่เป็นกระบวน

ตามพงศาวดารลูกหนังโลกแล้ว , “ทีมชาติฮอลแลนด์” เจ้าของฉายาอัศวินสีส้ม หรือ Oranje เริ่มสร้างชื่อในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ.1974 ครับ ฮอลแลนด์ในยุคนั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของท่าน นายพล “ไรนุส มิเชล” (Rinus Michels)

จริงๆแล้ว ไรนุส มิเชล แกไม่ใช่นายพลหรอกครับ เพียงแต่โหงวเฮ้งของแกคล้ายกับนายพล (The General ว่ากันว่าเหตุที่ไรนุส มิเชล ได้รับฉายานี้ก็เพราะอมตะวาจาของแกที่พูดว่า Professional football is something like war. แปลเป็นไทยก็คงทำนองว่าฟุตบอลมันก็เหมือนสงครามดีๆนั่นแหละ

ไรนุส มิเชล เป็นผู้ทำให้ฮอลแลนด์ยุคทศวรรษที่ 70 นั้นเล่นฟุตบอลภายใต้หลักการที่เรียกว่า “โททั่ลฟุตบอล” (Total Football) ครับ

โททั่ลฟุตบอลนั้นมีต้นกำเนิดมาจากทีมอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัมส์ (Ajax Amsterdam) ครับ ซึ่งเราต้องย้อนอดีตไปไกลกันถึงปี ค.ศ.1910 เลยทีเดียว กุนซือทีมอาแจ๊กซ์นามว่า “แจ๊ค เรย์โนลด์” (Jack Reynolds) คือ เจ้าของความคิดหลักการโททั่ลฟุตบอล

เรย์โนลด์นับเป็นผู้จัดการทีมอาแจ๊กซ์ ที่น่าจะคุมทีมยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเลยก็ว่าได้ครับ ด้วยเหตุนี้เองเรย์โนลด์จึงสามารถทดลองปรับแต่งรูปแบบ แผนการการเล่นตลอดจนพัฒนาหลักการทำทีมฟุตบอลได้หลากหลายก่อนจะมาลงตัวที่ “ระบบโททั่ลฟุตบอล”

อย่างไรก็ตามลูกศิษย์ก้นกุฎิของเรย์โนลด์อย่าง “ไรนุส มิเชล” กลับได้รับเครดิตในการทำให้ทีมชาติฮอลแลนด์เกรียงไกรภายใต้หลักการดังกล่าวครับ

ในช่วงทศวรรษที่ 70 ทั้งสโมสรอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัมส์และทีมชาติฮอลแลนด์ล้วนประสบความสำเร็จในฟุตบอลรายการใหญ่ๆตั้งแต่ยูโรเปียนคัพ ไปจนถึงฟุตบอลโลก อาแจ๊กซ์สามารถสถาปนาความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินยุโรปด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพได้ติดต่อกันสามสมัยซ้อน (The Treble) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1971, 1972 และ 1973

มหัศจรรย์แห่งอาแจ๊กซ์ยังส่งต่อมายังขุนพลอัศวันสีส้มภายใต้การนำของจอมทัพนามว่า “โยฮัน ครัฟฟ์” (Johan Cruyff) อย่างไรก็ตามครัฟฟ์ไม่ได้โดดเด่นเพียงคนเดียวนะครับ หากไม่ได้เหล่าพลพรรคออเรนจ์แมนอีกสิบคนที่เหลือที่ช่วยบันดาลให้โททั่ลฟุตบอลบังเกิดขึ้น

หลักการข้อแรกของโททั่ลฟุตบอล คือ นักเตะในสนามต้องสามารถปรับตัวเล่นได้ทุกตำแหน่งครับ การทดแทนกันได้ในทุกตำแหน่งนั้นทำให้ผู้จัดการทีมไม่ต้องปวดหัวว่าจะเปลี่ยนใครลงไปแทนเพราะทุกคนมีความสามารถใกล้เคียงกันหมด

หลักการต่อมา คือ ความเข้าใจในเกมของผู้เล่น ว่ากันว่านักเตะดัตช์นั้นมีเซนส์บอลที่ไม่แพ้นักเตะบราซิลเลยทีเดียว หัวใจสำคัญของโททั่ลฟุตบอลอยู่ที่การหาพื้นที่ว่าง (Space) ให้กับเพื่อนที่ครองบอลอยู่ครับ อย่างที่กูรูฟุตบอลมักชอบพูดเสมอว่าผู้เล่นที่อันตรายที่สุด คือ ผู้เล่นที่ไม่มีบอล

เมื่อนักเตะสามารถหาที่ว่างได้แล้ว การให้แล้วไป (Give and Go) คือกลไกสำคัญที่ทำให้โททั่ลฟุตบอลมีความไหลลื่น ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วอาร์เซนอลยุคปัจจุบันของอาร์เซน เวงเกอร์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้เกมฟุตบอลมีความต่อเนื่องและไหลลื่น (Fluid)

นอกจากนักเตะแล้วโค้ชชาวดัตช์ก็น่าจะมีเซนส์บอลการทำทีมที่ดีเช่นกันนะครับ ลองไล่กันตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่างป๋า กุ๊ด ฮิดดิ้ง (Guss Hiddink), โค้ชทีมชาติรัสเซีย ผู้ถีบอังกฤษตกรอบคัดเลือกยูโรหนนี้, ดิค แอทโวคาท (Dick Advocaat) ,ผู้จัดการทีมสโมสรเซนิต เซนต์ปีเตอร์เบิร์กที่เพิ่งได้แชมป์ยูฟ่าคัพปีล่าสุด, แฟรงก์ ไรจ์กาจ (Frank Rijkaard) ,อดีตกุนซือบาร์ซ่าที่เพิ่งจะตกงานมาหมาดๆ และคนล่าสุด คือ มาร์โก้ แวน บาสเทน (Marco Van Basten) โค้ชทีมชาติฮอลแลนด์ชุดลุยยูโร 2008

โททั่ลฟุตบอลจำเป็นต้องอาศัยนักเตะที่ฉลาด เข้าใจในแผนการเล่นของโค้ช รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี อย่างไรก็ตามข้อเสียของนักเตะฮอลแลนด์ทุกยุคทุกสมัยคือ มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ประเภทว่า “Selfจัด” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ฮอลแลนด์จึงกลายเป็นทีมที่มีปัญหาระหว่างนักเตะด้วยกันเองโดยเฉพาะเวลามาแข่งทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ เมื่อสปิริตในทีมหายไปส่งผลต่อผลงานของทีมที่มักไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน ตัวอย่างเช่นฟุตบอลโลกปี 2002 ภายใต้การคุมทีมของกุนซือสมองเพชรอย่าง หลุยส์ ฟานกัล (Louis Van Gaal) แต่อัศวินสีส้มชุดนี้กลับไม่ผ่านรอบคัดเลือกทั้งๆที่มีดาวดังอยู่เต็มทีม

อย่างไรก็ตามฟุตบอลยูโรปีนี้เท่าที่ผมติดตามฮอลแลนด์มาสามนัดแล้ว ต้องยอมรับว่าพวกเขาเล่นเกมเคาน์เตอร์แอทแทคได้ “โคตรดุ” เลยครับ แม้ว่าความเพลินตาที่เคยปรากฏในโททั่ลฟุตบอลจะไม่ค่อยมีเท่าไรนัก แต่ถ้าในเรื่องความเฉียบขาดและความแน่นอนแล้วดูเหมือนว่าฮอลแลนด์จะทำได้ดีกว่าทุกทีมครับ

เกมของฮอลแลนด์ในสองนัดที่พบคู่ปรับโคตรบอลอย่างอิตาลี กับฝรั่งเศสนั้นสะท้อนให้เห็นตัวตนของ “มาร์โก้ แวนบาสเทน” ได้ดีไม่น้อยเลยนะครับ กล่าวคือ สมัยที่เขาเป็นศูนย์หน้าเขาสามารถหาพื้นที่ในการเข้าทำประตูได้บ่อยครั้ง มีความเฉียบขาดในการยิงประตูจนเป็นเจ้าของสถิติ 90 ประตูจาก 147 นัดที่ลงเล่นให้กับเอซีมิลาน และ 24 ประตูจาก 58 นัดภายใต้เสื้อสีส้มของฟลายอิ้งดัตช์แมน
ความเฉียบขาดดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปเกมการเล่น ซึ่งถ้าดูจากทัพครั้งนี้ของแวนบาสเท่นแล้วจะพบว่าเขามีตัวเลือกประเภท “รุกพิฆาต” เกือบจะเต็มทีม ไล่ตั้งแต่ อาร์เยน ร๊อบเบน (Arjen Robben) และ เวสลีย์ ชไนเดอร์ (Wesley Sneijder)จากทีมราชันชุดขาวเรอัลมาดริด, โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ (Robin Van Persie)จากทีมปืนโต, เดิร์ต เคาท์ (Dirk Kyut)จากหงส์แดง , คลาส ยาน ฮุนเต่ล่าร์ (Klass Jan Huntelaar)จากอาแจ๊กซ์ รวมไปถึงศูนย์หน้าตัวเก๋าอย่าง “พี่ม้า” รุด ฟาน นิสเตอรอย (Ruud Van Nisterooy)

นอกจากจะ “ไม่ต้องห่วงหน้าแล้ว” ฮอลแลนด์ชุดนี้ดูจะ “ไม่ต้องพะวงหลัง” มากนัก เพราะได้ซูเปอร์หนึบอย่าง “น้าเอ๊ด” เอ็ดวิน ฟานเดอ ซาร์ (Edwin Van De Sar) รับบทนายทวารที่กำลังจะตามรอยตำนานผู้รักษาประตูอย่างปีเตอร์ ชไมเคิล ณ เดนมาร์ก หลายต่อหลายเกมน้าเอ๊ดสามารถเซฟลูกยากๆได้หลายครั้งจนทำให้กองหลังฮอลแลนด์มีความมั่นใจมากขึ้นทั้งที่มารอบนี้ฮอลแลนด์ไม่ได้พกกองหลังระดับดาวดังมากนักจะมีก็แต่เพียงอังเดร ออยเลอร์ (Andre Ooijer)ของแบล๊คเบิร์น รวมไปถึง คาลิด บูรารูซ (Khalid Boulahrouz)จากเชลซี นอกจากนี้ความเก๋าของจิโอวานี่ ฟานบรองฮอส (Giovanni van Bronckhorst) ก็นับว่ามีประโยชน์ต่อเกมรับของฮอลแลนด์อย่างมาก

แม้ว่าแวนบาสเท่นจะแขวนสตั๊ดเร็วเกินไปด้วยอาการบาดเจ็บเรื้อรัง แต่การเข้ามากุมบังเหียนทีมชาติต่อจากซี้เก่าอย่างแฟรงค์ ไรจ์การ์ดนั้น นับได้แวนบาสเท่นทำได้โดดเด่นไม่น้อยนะครับ

ยูโรหนนี้แวนบาสเท่นทำให้เกมรุกของฮอลแลนด์สุดแสนจะอันตราย โดยเฉพาะเกมโต้กลับที่เร่งจังหวะเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยตัวรุกที่เอ่ยนามมาแล้ว

สำหรับยูโรครั้งนี้, ผมเอาใจช่วยฮอลแลนด์ให้ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของทีมครับ การเก็บได้เก้าคะแนนเต็มใน “กรุ๊ปออฟเดธ” (Group Death) นั้นไม่ใช่มาจากความบังเอิญแน่นอน

อย่างไรก็ตามถ้าฮอลแลนด์ผ่าน “รัสเซีย” ในรอบสองไปได้ การเจอ “สเปน”หรือ “อิตาลี”อีกครั้งนับเป็นงานที่ไม่ง่ายอีกแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดแวนบาสเท่นจะทำให้ฟลายอิ้งดัตช์แมนทีมนี้บินไปได้ไกลแค่ไหนนั้นต้องคอยดูกันต่อไปครับ

Hesse004

Jun 10, 2008

“The Pink Panther”กับ เจ้าเสือสีชมพู






ขึ้นชื่อว่า “เสือ” แล้วย่อมมีความน่ากลัวอยู่ในตัวนะครับ อย่างไรก็ตามมีเสืออยู่ชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้เราหวาดกลัวแต่อย่างใด ใช่แล้วครับ! เสือที่ผมกำลังจะเล่าถึงคือ “เจ้าเสือสีชมพู” ไงครับ

พอเอ่ยถึงเจ้าเสือสีชมพู เรามักนึกถึงชื่อของ “พิงค์ แพนเธอร์” (Pink Panther) ครับ และพอเอ่ยถึงชื่อของพิงค์ แพนเธอร์ ท่านผู้อ่านที่มีอายุหน่อยก็จะนึกถึงชื่อของหนังตลกแนวสืบสวน ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่นึกถึงคือชื่อวงดนตรีสตริงที่ร้องเพลง “ถึงจะแสนไกล ไกลถึงใต้หล้า สุดขอบฟ้าแสนไกล” พร้อมเห็นภาพหน้านักร้องมาดนุ่มๆใส่แว่นสีชายืนร้องเพลงด้วยความละเมียดละไม

สำหรับเดอะพิงค์ แพนเธอร์ (The Pink Panther) ที่ผมอยากเล่าถึงนั้นเป็นภาพยนตร์ตลกแนวสืบสวนสอบสวนครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นซีรีส์คล้าย “เจมส์ บอนด์” ที่สตูดิโอในฮอลลีวู้ดนิยมสร้างกันในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา

เดอะพิงค์ แพนเธอร์ ฉบับดั้งเดิม (Original version) นั้นถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1963 ครับ โดยได้เบลค เอ็ดเวิร์ด (Blake Edwards) เป็นผู้กำกับ และมีดาราชูโรงในยุคนั้นอย่างเดวิด นีเวน (David Niven) และปีเตอร์ เซลเลอร์ (Peter Sellers)

ศูนย์กลางของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ “พิงค์ แพนเธอร์” ซึ่งเป็นเพชรสีชมพูขององค์หญิงดาล่า ครับ ไม่ใช่เจ้าเสือสีชมพูอย่างที่เราหลงเข้าใจกันมานาน

หนังเรื่องนี้นับเป็นหนังตลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำในกรุงโรม อิตาลี หรือเรื่องราวบางตอนในกรุงปารีส

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า "เดอะพิงค์ แพนเธอร์" (1963) ซึ่งเป็นภาคแรกนั้นมีความคลาสสิค อยู่ไม่น้อยนะครับ โดยเฉพาะการคัดเลือกตัวแสดงอย่าง “เดวิด นีเวน” ซึ่งเป็นดาราชื่อดังชาวอังกฤษแห่งทศวรรษที่ 50-60 มารับบทเดอะแฟนธอม (The Phantom) วายร้ายผู้มุ่งหมายในเพชรพิงค์แพนเธอร์ และได้ “ปีเตอร์ เซลเลอร์” สตาร์ดังชาวอังกฤษอีกคนที่มารับบทสารวัตรคลูโซ่ (Jacques Clouseau) ยิ่งทำให้เดอะพิงค์แพนเธอร์ ภาคแรกกลายเป็นตำนานหนังตลกแนวสืบสวนไป

นอกจากนี้ผมยังแอบตั้งข้อสังเกตกับบุคลิกของสารวัตรคลูโซ่ที่แกดูจะเปิ่น ซุ่มซ่าม และไม่ทันเกมของเหล่าร้ายเอาเสียเลย แต่บุคลิกแบบนี้แหละครับที่ทำให้เดอะพิงค์ แพนเธอร์ ได้รับการตอบรับจากคอหนังในยุคนั้นเป็นอย่างดี ด้วยเหตุที่ว่าหนังในยุคนั้นพระเอกโดยเฉพาะเจมส์ บอนด์ ต้องดูดี เท่ห์ สมาร์ท และฉลาดกว่าตัวโกง แต่สำหรับเดอะพิงค์ แพนเธอร์แล้วตรงกันข้ามทุกอย่างครับ

นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านเคยดูหนังเรื่อง “จอหน์นี่ อิงลิช” (Johnny English) ที่นำแสดงโดย โรแวน แอตกินสัน (Rowan Atkinson) หรือ “มิสเตอร์บีน” เราจะพบว่าบุคลิกของจอหน์นี่ อิงลิช มีความละม้ายคล้ายคลึงกับบุคลิกของสารวัตรคลูโซ่มากๆครับ

จะว่าไปแล้วหนังแนวคอมเมดี้ (Comedy genre) ของฝั่งยุโรปนั้นดูจะมีอารมณ์ขันที่เจือไปด้วยการเสียดสีประชดประชันอยู่ไม่น้อยนะครับ เรียกได้ว่าดูจบกลับไปนั่งคิดอะไรต่อได้อีกประมาณว่า “ตลกร้าย” เช่นเดียวกับพิงค์แพนเธอร์ครับที่ตอนจบนับว่าเป็นตลกร้ายเลยทีเดียวลองไปหาชมแล้วกันนะครับ

นอกจากนี้เพลงประกอบหนังเดอะพิงค์แพนเธอร์ ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสงสัยใคร่รู้ซึ่งเพลงๆนี้มักถูกนำมาใช้ประกอบฉากหนังที่เกี่ยวกับการสืบสวนแบบขำๆประเภทชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน

เพลงประกอบหนังพิงค์แพนเธอร์มาจากผลงานการรังสรรค์ของ “เฮนรี่ มานชินี่” (Henri Mancini) ประพันธกรเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน (Music composer)ครับ มานชินี่ใช้ลูกเล่นของเสียงแซกโซโฟนในดนตรีแจ๊ซสร้างให้เพลงประกอบเดอะพิงค์ แพนเธอร์ กลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เอ๊! ที่ผมเล่ามาทั้งหมด ยังไม่เห็นมีเรื่องเจ้าเสือสีชมพูแต่อย่างใดเลยใช่มั๊ยครับ สำหรับเจ้าเสือ สีชมพูนั้นมีที่มาจากหนังแอนนิเมชั่นเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยบริษัท DePatie-Freleng Enterprises เป็นผู้สร้างสรรค์เจ้าเสือสีชมพูขึ้นมาครับ ว่ากันว่าบริษัทนี้รับผิดชอบผลงานแอนนิเมชั่นให้กับค่ายหนังอย่างวอร์เนอร์ บราเธอร์ มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 60 แล้วครับ บริษัทนี้ได้ผลิตผลงานแอนนิเมชั่นเด่นๆอย่างเช่น เดอะพิงค์แพนเธอร์ กับเจ้ากระต่ายน้อยจอมแสบอย่างลูนนี่ ทูน (Looney Tunes) นั่นเองครับ

เดอะ พิงค์แพนเธอร์ ยังคงเป็นตำนานภาพยนตร์แนวตลกสืบสวนที่ทุกวันนี้ออกจะหายากหน่อยนะครับ เพราะดูเหมือนไม่ค่อยมีใครอยากทำกันนัก จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพระเอกไม่ได้สมบูรณ์แบบไปทุกอย่างเช่นสายลับ 007 หากแต่ทำให้พระเอกกลายเป็นตัวตลกที่เรียกเสียงฮาได้ทุกฉาก เดอะพิงค์แพนเธอร์จึงเป็นหนังประเภทต่อต้านวีรบุรุษหรือ Anti Hero นั่นเองครับ

นอกจากนี้เดอะพิงค์ แพนเธอร์ ยังได้สร้างสัญลักษณ์ทั้งด้านภาพและเสียง ที่พอเอ่ยชื่อพิงค์แพนเธอร์ปุ๊ป เรามักนึกถึง เจ้าเสือสีชมพูกับดนตรีแนวสอดรู้สอดเห็น อ้อ! ชื่อแนวเนี่ยผมคิดขึ้นเองนะครับ ฮา ฮา

Hesse004