May 26, 2008

เศรษฐศาสตร์ภาคเพลง “แรพ”





ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมหรือเปล่าครับว่า การเรียนรู้ของมนุษย์เราไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียนหรือจำกัดแค่เพียงตำราอย่างเดียว

นับตั้งแต่ผมเริ่มหัดเขียนบล็อกนั้น, ผมเชื่อว่าความรู้จากสื่ออินเตอร์เนตนั้นทรงพลังอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะ “วิกิพีเดีย” (Wikipedia) ได้กลายเป็นเว็บประจำที่ผมโปรดปรานมากที่สุดไปแล้ว

อย่างไรก็ดีในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์, การได้ท่องไปในบล็อกของเหล่ากูรูนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกนั้นนับได้ว่าน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลยครับ

ถ้าจะว่าไปแล้วบล็อกเศรษฐศาสตร์ หรือ Economics Blog ที่ได้รับความนิยมจากนักเรียนเศรษฐศาสตร์และผู้สนใจนั้นคงหนีไม่พ้นบล็อกของเหล่าศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาอย่างสแตนฟอร์ด (Stanford), เอ็มไอที (M.I.T), หรือ ฮาวาร์ด (Harvard)

นอกจากนี้บรรดาป็อปปูลาร์ อีโคโนมิสต์ (Pop Economists) อย่าง นายสตีเวน ดี เลวิตต์ (Steven D Levitt) และ สตีเฟน เจ ดับเนอร์ (Stephen J Dubner) คู่หูนักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง “Freakonomics” หรือ นายทิม ฮาร์ฟอร์ด (Tim Harford) เจ้าของเบสต์เซอลเลอร์ “The Undercover economist” ก็ยังแอบแฝงตัวมาเป็นบล็อกเกอร์เหมือนกัน

เช่นเดียวกับเหล่าปรมาจารย์อย่าง แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) หรือ อาจารย์ใหญ่ พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ก็เริ่มขยับเนื้อที่การเขียนจากหน้าหนังสือพิมพ์มาสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นครับ

กลับมาเรื่องที่ผมอยากเล่าดีกว่าครับ, ไม่กี่วันมานี้ผมมีโอกาสแวะไปเยือนบล็อกของโปรเฟสเซอร์แมนคิว (N. Gregory Mankiw) ซึ่งว่ากันว่า ณ นาทีนี้ชื่อของ “แมนคิว”ไม่ได้เป็นรองใครในบรรณพิภพเศรษฐศาสตร์แห่งเมืองลุงแซม

โดยส่วนตัวผมแล้ว, ผมเชื่อว่าตำราหลักเศรษฐศาสตร์ของแมนคิว (Principles of Economics) น่าจะมีอิทธิพลต่อนักเรียนเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่แพ้ตำราเศรษฐศาสตร์ (Economics) ของศาสตราจารย์ พอล แซมมวลสัน (Paul Samuelson) ที่เคยสร้างเบ้าหลอมความคิดทางเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ยี่สิบ

ปัจจุบันแมนคิวกินตำแหน่งศาสตราจารย์สอนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ครับ

โปรเฟสเซอร์แมนคิวนั้นนับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เขียนหนังสือได้สนุกคนหนึ่งครับ ดูจากสำบัดสำนวนแล้ว แมนคิวได้ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ดูน่าสนุกขึ้นเยอะ

แมนคิวได้เปิดบล็อกส่วนตัวให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์และผู้สนใจได้เข้าไปเยือน แน่นอนครับแมนคิวเป็นคนที่อัพบล็อก (Update Blog) บ่อยมาก ทำให้เนื้อหาในบล็อกของเขามีความทันสมัยและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้อย่างเฉียบคม

นอกจากนี้แมนคิวยังสร้างชื่อในวงการเศรษฐศาสตร์ด้วยการบัญญัติ “หลักสิบประการของวิชาเศรษฐศาสตร์” หรือ Ten Principles of Economics

หลักสิบประการของแมนคิวนี้ได้สะท้อนให้เห็นผลึกทางความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ยึดมั่นในเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร (Efficiency of allocation) มาโดยตลอด

ไอ้เจ้าหลักทั้งสิบของแมนคิวนั้น, ถูกแบ่งออกเป็นสามเรื่องใหญ่ๆครับ คือ มนุษย์เราตัดสินใจกันอย่างไร? (How people make decision) แล้วจากนั้นมนุษย์เรามาปฏิสัมพันธ์กันได้ยังไง? (How people interact with each other) และท้ายที่สุดไอ้สิ่งที่มนุษย์มันมาสัมพันธ์กันนั้นมันส่งผลกระทบต่อการทำงานของเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรล่ะ? (The forces and trends that affect how the economy as a whole works)

อย่างไรก็ตามหลักทั้งสิบข้อของแมนคิว ถ้าจับให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์มานั่งท่องนั้นมันก็จะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปเสียอีก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีวงดนตรีแรพวงหนึ่งชื่อ Rhythm, Rhyme, Results ได้หยิบเอาบัญญัติสิบประการของแมนคิวมาแปลงเป็นเนื้อร้องแล้วใส่ทำนองร้อง “แรพ” ได้อย่างมีสีสัน

ในครั้งแรกที่ผมเห็นชื่อ Principles of Economics, Rap version ในบล็อกของแมนคิวนั้น ผมงงอยู่ไม่น้อยว่ามันคืออะไร แต่พอคลิ๊กเข้าไปดูจึงรู้ว่ามันเป็นเพลงแรพที่วง Rhythm, Rhyme, Results ได้ใช้หลักเศรษฐศาสตร์สิบข้อของแมนคิวมาแปลงเป็น “แรพ” ในชื่อเพลง Demand, Supply

สำหรับ Rhythm, Rhyme, Results หรือ Triple-R นั้นจัดเป็นวงดนตรีแรพเพื่อการศึกษา (Educational Rap)ครับ ทั้งนี้ทั้งอัลบั้มของ Triple-R นั้นล้วนเป็นแรพที่กล่าวถึงวิชาการต่างๆ อย่างเพลง Circulatory system นี่ก็ว่าด้วยเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือจะเพลง 43 presidents นี่ก็ว่าด้วยเรื่องสังคมประวัติศาสตร์อเมริกัน สำหรับเพลง Demand,Supply นั้นน่าจะเป็นเพลงเปิดตัวของ Triple-R นะครับ เพราะดูแล้วเนื้อแรพและทำนองลงตัวน่าฟังมาก

ผมขอทิ้งท้ายด้วยเนื้อเพลง Demand, Supply ที่กล่าวถึงหลักเศรษฐศาสตร์ของแมนคิวให้ท่านผู้อ่านได้ลอง “แรพ” ดูแล้วกันนะครับ เผื่อบางทีเราจะเข้าใจหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์จากเพลงแรพกันไงล่ะครับ…โย่...โย่!

Hesse004

Demand, Supply by Rhythm, Rhym, Results

VERSE 1
Tradin’ this for that, call it tit for tat
We all face tradeoffs and that’s a fact because
Everything is in finite supply
That’s the reason why we all sell and buy

Next up is rule deuce, the next best use
Of money or time defines its true value
It’s more convoluted than just the simple cost
What else could you do? What opportunities are lost?
Decisions at the margin, yeah that’s the key

To understanding principle #3
Take your present situation and assume that it’s the best
If a change is worth more than it costs, then that’s your test

Lesson #4: it’s like the carrot and the stick
We break it down so you can see what makes the world tick
So why do we do the things that we do?
It’s a system of incentives that we all respond to

CHORUS
Demand, supply
Listen up, learn this, and you’ll know why
We work, we buy
The price is right when the competition’s alive
(x2)

VERSE 2
Everyone in society can benefit from trade
#5 is a reminder that we shouldn’t let hope fade
Just use what you’ve got to produce your best
The money that you make will buy the rest

Lesson 6 is a trick, the invisible hand
Buyers and sellers clear markets without the man
The market system almost always prevails
But recognize, too, that markets can fail
Because of monopolies and the troubles they create
Uncle Sam comes along and he’s gotta regulate

That’s lesson #7: when government’s there
They oversee to guarantee that competition is fair

#8 says the future of a national State
Relies on services and products people create
If we sell and excel and we keep doing well
Then the money keeps going ’round just like a carousel

CHORUSVERSE 3

#9: keep an eye on that money supply
Printing too much paper sends prices sky high
A dollar means nothing, it’s just a nice name
If what it represents doesn’t stay the same

Number 10: there’s a tradeoff in the short run
Between unemployment and inflation
I really can’t explain the whole situation
You want the full story? Step up your education!

May 10, 2008

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ใน "เกมเศรษฐีโมโนโปลี"





ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่พ้นวัยเบญจเพสมาแล้วน่าจะคุ้นเคยกับเกมเด็กๆเกมหนึ่งที่ชื่อว่า “เกมเศรษฐีโมโนโปลี” (Monopoly Game) นะครับ

“เกมเศรษฐี”ที่ผมว่านี้ไม่ใช่ชื่อรายการเกมโชว์เกมหนึ่งที่เคยโด่งดังในอดีต หากแต่เป็นเกมกระดาน (Board) สำหรบเด็กที่บางครั้งผู้ใหญ่อย่างพวกผมก็ยังชอบเล่นกันอยู่

ผมว่าเกมเศรษฐีมันมี “ความคลาสสิค”อยู่ในตัวเองครับ ความคลาสสิคที่ว่านี้มันต่างจากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการมานั่งล้อมวง ทอยลูกเต๋าแล้วเดินตัวผู้เล่นของเราไปตามช่องต่างๆบนกระดาน ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละช่องก็มักเป็นชื่อจังหวัด หรือ สถานที่สำคัญๆ

ย้อนกลับไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เกมเศรษฐีโมโนโปลีถูกคิดค้นโดยสุภาพสตรีท่านหนึ่งนามว่า “อลิซาเบธ (ลิซซี่) เจ. แมกกี้ ฟิลิปส์” (Elizabeth (Lizzie) J. Magie Phillips) ครับ ซึ่งเกมที่คุณป้าลิซซี่แกคิดค้นขึ้นมานั้นเรียกว่า “Landlord game”

เชื่อมั๊ยครับว่าเกมๆนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายทฤษฎี Single Tax on land ของเฮนรี่ จอร์จ (Henry George) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองคนดังชาวอเมริกัน

“เฮนรี่ จอร์จ” อธิบายถึง Single Tax on land ไว้ว่าค่าเช่าที่ได้จากที่ดินนั้นสมควรจะถูกแจกจ่ายกระจายออกมาให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมากกว่าที่จะไปตกอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น “ภาษี” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เจ้าของที่ดินทั้งหลายปล่อยที่ดินออกมาเพื่อให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์

กลับมาที่เกมเศรษฐีโมโนโปลีกันต่อครับ, ถ้าท่านผู้อ่านเคยเล่นเกมเศรษฐีดังกล่าวย่อมเข้าใจดีว่าการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก หรือ ถือโฉนดที่ดินมากๆนั้นมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้ไม่น้อย ครับ ด้วยเหตุนี้เองกฎข้อแรกของการเล่นเกมโมโนโปลี คือ การกว้านซื้อที่ดินมาอยู่ในมือให้มากที่สุดนั่นเองครับ

แม้ว่าเกมของคุณป้าลิซซี่ต้องการที่จะอธิบายทฤษฎีภาษีของนักเศรษฐศาสตร์แต่กลับกลายเป็นว่าเกมดังกล่าวถูก “พี่น้องตระกูลปาร์คเกอร์” (Parker Brothers) ได้พัฒนาเกมนี้จนมีชื่อเสียงโด่งดังและเปลี่ยนชื่อจาก Landlord game มาเป็น Monopoly game ครับ

ประวัติศาสตร์ของเกมเศรษฐีนั้นนับว่าน่าสนใจไม่น้อยนะครับ ทั้งนี้นับแต่คุณป้าลิซซี่คิดค้นเกมนี้ขึ้นมาด้วยเหตุผลทางวิชาการแล้ว พี่น้องสกุลปาร์คเกอร์ได้ทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายก่อนจะต้องมาแก่งแย่งเรื่องลิขสิทธิ์กันและท้ายที่สุดลิขสิทธิ์ของเกมนี้ก็ตกอยู่ในมือของ บริษัท Hasbro ซึ่งเป็นบริษัทเกมรายใหญ่ในอเมริกา

สำหรับเกมเศรษฐีแบบไทยๆนั้น ผมไม่แน่ใจว่ามีพัฒนาการเป็นมาอย่างไร โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมจำลางๆว่าเล่นเกมนี้ครั้งแรกเมื่ออายุเก้าขวบครับ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดเกมที่เล่นน่าจะชื่อ “ซุปเปอร์เศรษฐี” ซึ่งคุณอาของผมท่านซื้อมาให้เล่น

คราวนี้ลองหวนรำลึกดูมั๊ยครับว่า เรายังจำกติกาการเล่นเกมเศรษฐีนี้กันได้บ้างหรือเปล่า? แรกสุดเลยต้องมีคนเล่นเป็น “ธนาคาร” ก่อนครับ จากนั้นธนาคารจะแจกโฉนดที่ดิน แจกแบงก์ตามกติกาที่กำหนดไว้ เสร็จแล้วเราก็เลือกตัวเดินว่าจะเป็นสีอะไร พอเริ่มเดินๆไปแล้วดันไปตกที่ดินใครก็ต้องจ่ายตังค์เขาตามค่าเช่าในโฉนด ซึ่งสมัยผมเล่นค่าเช่าที่ดินที่แพงที่สุดรู้สึกจะเป็น “สะพานหัน”หรือไม่ก็ “ถนนสุขุมวิท” นะครับ

หากโชคดีหน่อยอาจจะเดินไปเจอ “ช่องขุมทรัพย์มหาสมบัติ” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักมีแต่เรื่องดีๆ อย่างถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง หรือ มีลาภลอย ได้รับมรดก อะไรทำนองนั้น แต่หากบางทีซวยหน่อยดันไปตกช่องติดคุก ก็ต้องหยุดเดินไปหนึ่งตา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนซื้อบ้านสีเหลืองตามราคาโฉนด และหากอยากขยับขยายเราก็สามารถปลูกโรงแรมสีแดงได้กรณีที่เราปลูกบ้านครบสี่หลังแล้ว

เล่นไปเล่นมาสักพักก็จะเริ่มมีคน “ล้มละลาย”แล้วครับ แหม่! นี่มันสะท้อนให้เห็นถึงระบบทุนนิยมแบบเจ้าที่ดินจริงๆเลย ท้ายที่สุดผู้ชนะ คือ ผู้ครอบครองที่ดินได้เกือบทั้งกระดานหรืออาจจะมีเงินสดมากกว่าเพื่อนร่วมวง

จะว่าไปแล้วเกมเศรษฐีโมโนโปลีแบบกระดานนั้น มันได้ซ่อนวิธีคิดบางอย่างของระบบทุนนิยมเสรีโดยเฉพาะการสะสมทุนที่มาจากที่ดิน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วที่ดินนับเป็นปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่งครับ ซึ่งการสะสมที่ดินนั้นมีต้นทุนที่เรียกว่า “ค่าเสียโอกาส”หรือ Opportunity Cost ครับ แต่มีผลตอบแทนที่เรียกว่า “ค่าเช่า”หรือ Rent อย่างไรก็ตามเจ้าของที่ดินเลือกที่จะยอมมีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดโดยเขาจะปล่อยให้ผู้อื่นเช่าที่ดินของเขาในราคาที่เขาคิดว่าดีที่สุด วิธีคิดแบบนี้เป็นหลักคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักครับ

อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยชอบระบบเจ้าที่ดินมากนัก เพราะพวกเขามองว่าเจ้าของที่ดินนั้นสามารถแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากผู้เช่าได้โดยที่ตัวเองลงทุนไม่ต้องมากนัก

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดมั่นในเป้าหมายการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพแล้ว, นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าการเก็บ “ภาษีที่ดิน” (Land Tax) จะสามารถทำให้เหล่าแลนด์ลอร์ดทั้งหลายคายที่ดินออกมาให้คนส่วนใหญ่ทำประโยชน์ได้

ผมเข้าใจว่าประเทศไทยเราพูดถึงเรื่องภาษีที่ดินรวมไปถึงภาษีมรดกมานานหลายทศวรรษแล้วนะครับ แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนกล้าหาญชาญชัยพอที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าวออกมา

หรือจะเป็นเพราะว่าท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่นั่งอยู่ในสภากำลังเล่นเกมเศรษฐีโมโนโปลีกันอย่างเมามันส์ เพราะดูเหมือนว่าที่ผ่านมาแต่ละท่านกำลังทอยเต๋าเดินหมากแสวงหาที่ดินบนกระดานประเทศไทยกันอย่างสนุกสนาน แต่เสียอย่างเดียวนะครับ ผมยังไม่เคยเห็นใครเดินไปตกช่องติดตารางสักรายเลยสิ พับผ่าเถอะ!

Hesse004