Feb 16, 2008

“ราฟาเอล เบนิเตซ”เหยื่อของทุนนิยมฟุตบอล




ในฐานะที่ผมเป็นแฟนของทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ที่พักหลังมักถูกค่อยขอดว่าเป็น “เป็ดแดง” บ้างล่ะ เป็น “นกกระเด้าลมแดง” บ้างล่ะ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็จริงอย่างที่ใครหลายคนพูดนะครับ

พลันที่ทีมรักพ่ายต่อทีมจากเดอะแชมป์เปี้ยนชิพ อย่าง “บาร์นสลี่ย์” ผมเชื่อว่าศรัทธาของแฟนบอลที่มีต่อลิเวอร์พูลดูจะค่อยๆจางจืดไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “เชียร์ไม่ขึ้น” นั่นเอง

ผมตั้งคำถามเล่นๆกับน้องชายที่เป็นเหล่า The Kop ด้วยกันว่า “ปีนี้เป็นปีชงของ เบนิเตซ หรือเปล่าวะ?” น้องชายผมหัวเราะแล้วตอบกลับมาว่าดูเหมือนมันจะชงมาหลายปีแล้วนะเฮีย

เกียรติยศของลิเวอร์พูลดูจะเกรียงไกรจนน่าหมั่นไส้ ด้วยความที่ชื่อของสโมสรแห่งนี้กวาดแชมป์ลีกสูงสุดในเกาะบริเตนถึง 18 สมัย กวาดแชมป์เอฟเอคัพมา 7 รอบ ชูถ้วยบอลลีกคัพหรือมิคกัเมาส์คัพอีก 7 ครั้ง แถมด้วยการครองเจ้ายุโรปอีก 5 สมัย แหม! ทำไปได้

อย่างไรก็ตามเกียรติยศเหล่านี้ดูจะกลายเป็น “อดีต” ไปเสียแล้วครับ เป็นอดีตที่ทำให้ทั้งผู้จัดการทีม นักฟุตบอลและแฟนบอลต่างคาดหวังการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนที่พวกเขาเคยทำได้เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่า “ฟุตบอล” จะกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่งในระบบทุนวัฒนธรรมที่ทำให้องค์กรธุรกิจอย่าง “พรีเมียร์ชิพ” ซึ่งเปรียบเสมือนบรรษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเกาะอังกฤษนั้นสามารถส่งออกสินค้าตัวนี้ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกโดยอาศัยการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม และได้รายได้หลักจาก “การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอด”

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจครับว่า ทุกวันนี้เราได้บริโภค “บริการฟุตบอลบันเทิง”กันทุกอาทิตย์แถมมีสินค้าให้เลือกหลากหลายทั้ง พรีเมียร์ชิพ ลาลีกา กัลโช่ซีรีส์อา ลีกเอิง เป็นต้น

ในฐานะผู้บริโภคเรามักจะต้องหาทีมเชียร์ให้กับตัวเอง เพื่อจะได้ดูบอลอย่างมีรสชาติไงครับ ในขณะเดียวกันการบริโภคฟุตบอลบันเทิงแบบ “ลงทุน” ก็อาจทำได้เพียงแค่ซื้อหนังสือพิมพ์กีฬา เปิดดูอัตราต่อรอง แล้วโทรไปแทงบอลกับ “โต๊ะ”

สำหรับประเทศที่มีชนชั้นปกครองประเภท “มือถือสากปากถือศีล” นั้น ผมยังเชื่อว่าธุรกิจการพนันฟุตบอลจะดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่มีเกมลูกหนังให้เราได้ดูกัน

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา “พรีเมียร์ชิพ” คือ หัวขบวนในการนำพาให้ฟุตบอลลีกเมืองผู้ดีกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้ “เกมลูกหนัง” จากเกาะบริเตนจะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของอิงลิชชน ที่ทุกวันเสาร์จะต้องหอบลูกจูงหลานไปดูฟุตบอลจนเป็นที่มาของคำว่า “When the saturaday comes”

“พรีเมียร์ชิพ” ค่อยๆขายสินค้าฟุตบอลบันเทิง แบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการสร้างกระแสโปรโมตทีมอย่างลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และอาร์เซนอล ทำให้สามทีมนี้กลายเป็นทีมที่มีผู้ชมจากทั่วโลกติดตามผลงานมากที่สุด

อย่างไรก็ตามสินค้าฟุตบอลบันเทิงที่ “พรีเมียร์ชิพ” ผลิตขึ้นนี้ ไปเตะตาองค์กรโลกบาลทางฟุตบอลของยุโรปอย่าง “ยูฟ่า” จนทำให้ยูฟ่าตัดสินใจยกเลิกเกมยูโรเปี้ยนคัพเดิมและหันมาผลิตสินค้าฟุตบอลบันเทิงในชื่อ “ยูฟ่าแชมป์เปี้ยน ลีก” ด้วยวัตถุประสงค์ทางรายได้และผลกำไรของทั้งผู้จัดรายการและสโมสรฟุตบอล

ด้วยเหตุนี้เอง ชื่อเสียงเรียงนามของทีมนอกเกาะอังกฤษอย่าง รีล มาดริด , เอซี มิลาน , บาร์เซโลน่า , ยูเวนตุส , เอฟซีปอร์โต้ มาจนกระทั่งทีมอย่าง มัคคาบี้ ไฮฟา จึงกลายเป็นทีมที่คุ้นหูคุ้นตามากกว่าสโมสรฟุตบอลในประเทศเราอย่าง ทหารอากาศ , ท่าเรือ, ราชประชา อ้อ !แม้กระทั่ง ทีมกุยบุรี ครับ

ฟุตบอลในทศวรรษที่ 90 ได้ขยายพรมแดนการชมจากสนามฟุตบอลมาสู่จอโทรทัศน์ ระบบลิขสิทธิ์การถ่ายสดจึงถูกนำมาใช้ พร้อมๆกับการขายสินค้าและบริการประเภทอื่นๆพ่วงเข้าไป ดูเหมือนเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอลได้กลายเป็น “อุตสาหกรรมบริการ”ที่ทำให้ธุรกิจอื่นๆเจริญเติบโตไปด้วย ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงโต๊ะแทงบอล

ขณะที่โลกของฟุตบอลได้ก้าวไปด้วยแรงส่งของระบบทุนนิยมนั้น นอกเหนือจากสโมสรฟุตบอลจะได้กำไรจากการขายบัตร ลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสดแล้ว ตัวนักฟุตบอลเองก็มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเตะในรุ่นคุณพ่อ หรือรุ่นคุณปู่

“นักฟุตบอล” กลายเป็น แรงงานที่มีทักษะ (Skill labor) ที่มีรายได้ไม่แพ้อาชีพอย่างหมอ วิศวกร หรือ ทนายความเลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับ “ผู้จัดการทีม” ที่กลายเป็นอาชีพที่ขาดไม่ได้สำหรับกีฬาลูกหนังในยุคโลกาภิวัฒน์

สำหรับ “ลิเวอร์พูล” แล้วชื่อของ “บิล แชงคลีย์ , บ๊อบ เพรสลีย์ , โจ เฟแกน และ เคนนี่ ดัลกลิช” ดูจะเป็นที่จดจำมากที่สุด เพราะทั้งสี่คนนี้ได้สร้างให้ลิเวอร์พูลเกรียงไกรจนมีแฟนบอลยอมตะโกนแหกปากร้อง “You will never walk alone” กันทุกนัด

อย่างไรก็ตามชื่อของผู้จัดการทีมอย่าง “แกรม ซูเนสส์ , รอย อีแวนส์ และ เชราร์ อุลลิเยร์” ดูจะเป็นชื่อที่แฟนบอลไม่อยากจดจำมากที่สุด สาเหตุเพราะ พวกเขาไม่สามารถนำพา “หงส์แดง” ตัวนี้ขยับปีกขึ้นสูงกว่าสี่คนที่กล่าวมาข้างต้น

จริงๆแล้ว “ลิเวอร์พูล” เป็นสโมสรที่ปรับตัวไม่ทันกับสภาพของทุนนิยมฟุตบอลต่างหาก ที่ผมเชื่อเช่นนี้เพราะลิเวอร์พูลดูจะขยับตัวช้ากว่าคู่แข่งสำคัญๆอย่าง แมนยูไนเต็ด อาร์เซนอลหรือแม้แต่เชลซีเสมอ การขยับตัวช้าส่วนหนึ่งมาจากการหลงระเริงกับความสำเร็จเมื่อครั้งโบราณ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าตัวเอง คือ สโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดในเกาะอังกฤษ

ดูเหมือนความเชื่อเหล่านี้พลอยจะฝังหัวไปในกลุ่มแฟนบอลที่จงรักภักดีต่อสโมสรมาตลอดซึ่งรวมทั้งผมด้วยครับ
แต่แท้จริงการบริหารสโมสร “ลิเวอร์พูล” ดูจะผิดพลาดหลายเรื่อง นับตั้งแต่พรีเมียร์ชิพเริ่มเปิดฉากเมื่อปี 1992

ความผิดพลาดดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การปล่อยให้ “ซูอี้” เข้ามาทำลายโครงสร้างทีมที่ดีที่สุดในยุคปลาย 80 ของลิเวอร์พูลที่”คิงเคนนี่” สร้างไว้ การผลักให้ “อีแวนส์” หนึ่งในสตาฟฟ์บูทรูมเข้ามารับผิดชอบภาระอันหนักหน่วงในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ทั้งๆที่เขาทำได้แค่เพียงสร้างทีมชุด “สไปซ์บอย” ขึ้นมา หรือ การปล่อยให้ “อุลลิเยร์” ใช้เงินซื้อนักเตะอย่างสุรุ่ยสุร่าย ประเภทชอบปั้นนักเตะ “นิว” ทั้งหลาย อย่าง บิสคาน (นิวโบบัน), เชรู (นิวซีดาน) หรือแม้แต่ ตราโอเล่ ยังเป็น (นิวตูราม) เลยครับ

ขณะที่การเข้ามาของ “ราฟาเอล เบนิเตซ” อดีตผู้จัดการทีมบาเลนเซีย ที่พกความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมด้วยระบบการเล่นที่เรียกว่า “โรเตชั่น” ได้ทำให้พลพรรค The Kop มีความหวัง โดยเฉพาะปีแรกของเขาที่ทำให้หงส์แดงตะแคงฟ้าด้วยการคว้าถ้วย “ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก” ไปครองชนิด “ปาฏิหาริย์”

“เอลราฟา”เป็นกุนซือที่เชื่อในระบบการเล่นมากกว่าตัวผู้เล่นครับ ด้วยเหตุนี้ “ระบบโรเตชั่น”จึงถูกนำมาใช้ทุกนัดราวกับต้องการพิสูจน์ให้เห็น “มันสมอง” ชั้นเลิศของผู้จัดการทีมคนนี้

การได้แชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2005 ยิ่งทำให้ราฟามั่นใจในระบบโรเตชั่นของตัวเอง บวกกับการได้อันดับสี่ไปเล่นฟุตบอลถ้วยใหญ่ของยุโรป ยิ่งทำให้เขาเชื่อใน “กึ๋น” ของตัวเองมากกว่าเชื่อในตัวผู้เล่น
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ลิเวอร์พูลของ “เอลราฟา” นั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วครับว่าไม่ดีพอกับการเป็นแชมป์ลีกสูงสุดภายในประเทศ

“โรเตชั่น” ถ้ามองในทัศนะทางเศรษฐศาสตร์แล้ว คือ การแก้ปัญหาผลิตภาพที่ลดลงของแรงงานโดยใช้ระบบคล้ายๆกับการ “เข้ากะ ออกกะ” ทั้งนี้เพราะเกมลูกหนังยุโรปในหนึ่งซีซั่นนั้นนักเตะต้องบรรเลงเพลงแข้งกันอย่างน้อยๆ 50 นัด ด้วยเหตุนี้เองการใช้ระบบ “เข้ากะ” หรือ “โรเตชั่น” ของเอลราฟา จึงช่วยให้ผลิตภาพของแรงงานฟุตบอลไม่ลดลงในนัดถัดๆไป

ผมว่า “เอลราฟา” มองโลกในแง่ดี เพราะสิ่งที่เขาทำคือการแก้ปัญหาผลิตภาพของนักบอลที่อาทิตย์หนึ่งอาจจะต้องเตะบอลอย่างน้อย 2-3 แมตช์ การแก้ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการจัดสรรทรัพยากรนักตะให้ลงตัวภายใต้จำนวนแมตช์ที่มากกว่า 50 นัด เพราะอย่าลืมว่านักบอลก็ “คน” ที่เหนื่อยเป็น เจ็บเป็นและ ที่สำคัญ คือ ฟอร์มตกเป็น

แต่ดูเหมือนว่า “โรเตชั่น” อาจจะไม่สำเร็จในฟุตบอลลีกอังกฤษ ด้วยเหตุที่พรีเมียร์ลีกต่างกับลาลีกา ทั้งจังหวะบอลที่ช้าเร็วต่างกันรวมไปถึงโปรแกรมการแข่งขันก็ต่างกันด้วย แต่อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าฉงนอยู่ว่าตลอด 4 ปีที่ ราฟา กุมบังเหียน “ลิเวอร์พูล” นั้น เขาไม่สามารถหาทีมที่ดีที่สุดของตัวเองทั้ง 11 คนได้เลยหรือ ?

ด้วยเหตุนี้เอง “ราฟาเอล เบนิเตซ” จีงเปรียบเสมือน “เหยื่อ”ในโลกทุนนิยมฟุตบอลสมัยใหม่ที่พยายาม “ทดลอง” การสร้างทีมด้วยจำนวนเงินมหาศาลพร้อมๆกับการแบกความหวังของเหล่าแฟนบอลรวมไปถึงการสร้างผลกำไรให้กับทีมผ่านผลงานที่ต้องประสบความสำเร็จอย่างน้อย 1 รายการ แต่น่าเสียดายที่ “เอลราฟา” ไม่สามารถเอาชนะระบบทุนนิยมฟุตบอลสมัยใหม่นี้ได้อีกทั้งยังปล่อยให้เหล่า The Kop ต้องฝันค้างไปกับ “ระบบเข้ากะ”ของ “เอลราฟา” อย่าง “โรเตชั่น”

Hesse004

Feb 6, 2008

ใครๆก็อยากเป็น “เสนาบดี” เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการซื้อขาย “สถานะ”





เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเรียนวิชา “เศรษฐศาสตร์” คือ การอธิบายเหตุผลบางเรื่องที่คนปกติธรรมดาเขาไม่ค่อยนึกถึงกันครับ และบางครั้งเจ้าคำอธิบายเหล่านี้มักมาพร้อมกับสมการคณิตศาสตร์ตลอดจนเส้นกราฟที่ยุ่งเหยิงดูอิรุงตุงนัง

อย่างไรก็ตาม “ตรรกะ” หรือ Logic ดูจะเป็นสิ่งที่อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์พร่ำย้ำให้เหล่านักเรียนเศรษฐศาสตร์นั้นพึงมีเสมอเวลาจะวิเคราะห์หรืออธิบายเหตุการณ์ต่างๆทางเศรษฐกิจครับ

แรกเริ่มเดิมที ผมเคยเข้าใจว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จะต้องกล่าวถึงอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ตลอดจนตลาดสินค้าและบริการ (Market) ซึ่งเนื้อหาที่กล่าวมานี้ปรากฏในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคหรือ Microeconomics นั่นเองครับ

นอกจากนี้ผมยังเคยเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์จะต้องพูดถึงเรื่องเงินๆทองๆ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล พูดถึง อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ การว่างงาน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็อยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคหรือ Macroeconomics

แต่แท้จริงแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์ดูจะมีมากกว่าที่ผมกล่าวถึงครับ สิ่งที่เรียนท่านผู้อ่านไปข้างต้นปรากฏอยู่ในตำราหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค แต่สำหรับชีวิตจริงแล้วดูเหมือนเราจะสัมพันธ์กับวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์อยู่ตลอดเวลา

หลายต่อหลายคนดูจะกระแนะกระแหนความเป็นวิชาการ (เสียเหลือเกิน)ของ นักเศรษฐศาสตร์จนหลายครั้งดูเหมือนจะพูดจากับชาวบ้านอย่างเราๆไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่รู้ว่านี่จะเป็นอีกเหตุหนึ่งของรัฐบาลใหม่หรือเปล่าที่ตัดสินใจเลือก “อดีตคุณหมอ” มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลือก“อดีตพยาบาล” มาเป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง คงเพราะเห็นนักเศรษฐศาสตร์พูดไม่รู้เรื่องหรืออาจจะมองว่าทำงานไม่เป็นก็เลยเอาหมอกับพยาบาลมาดูแลเศรษฐกิจเลยดีกว่า เห็นมั๊ยครับว่า ใครๆก็ทำงานด้านเศรษฐกิจได้แต่อาจจะยกเว้นตัวนักเศรษฐศาสตร์เอง

ผมนอกเรื่องนอกราวไปไกลเสียแล้ว จริงๆแล้วเอนทรี่นี้อยากเล่าเรื่องงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1984 ครับ งานชิ้นนี้เป็นผลผลิตของนักเศรษฐศาสตร์นามว่า “โรเบิร์ต แฟรงค์” (Robert H. Frank) ครับ

“แฟรงค์” เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) ชื่อชั้นของแฟรงค์จัดเป็น “ป๊อปอีโคโนมิสต์”คนหนึ่ง ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ New York Times โดยคอลัมน์ที่อาจารย์แฟรงค์เขียนนั้นใช้ชื่อว่า “Economic Scene” ครับ

แฟรงค์เองพยายามอธิบายเรื่องราวใกล้ตัวในมุมมองเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะการหยิบเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาย่อยสลายให้ผู้อ่านอย่างเราๆได้เข้าใจใน “ตรรกะ”และวิธีคิดของมนุษย์ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

ผลงานทางวิชาการของแฟรงค์ที่ดูจะโด่งดังในโลกวิชาการ คือ การจับคู่กับนายเบน เบอนานกี้ (Ben Bernanke) เจ้าของเก้าอี้ประธาน FED คนปัจจุบัน โดยทั้งคู่ร่วมกันแต่งตำรา Principles of Economics (2001) ซึ่งตำราเล่มนี้มีการแปลเป็นภาษาจีนด้วยเมื่อปี ค.ศ. 2005 ครับ

สำหรับเปเปอร์ของแฟรงค์ที่ผมอยากเล่าถึงนี้มีชื่อว่า “Are Workers Paid Their Marginal Products?” งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน American Economic Review วารสารวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าจริงหรือเปล่าที่คนงานได้รับค่าแรงตามผลิตภาพที่ตัวเองมี ไอ้คำว่า “ผลิตภาพ” เนี่ยอธิบายเป็ยภาษาเราๆยากเหมือนกันนะครับ เอาเป็นว่าหากนาย ก. เป็นคนงานในโรงงานรองเท้า เฉพาะ ก. คนเดียวสามารถผลิตรองเท้าได้ 50 คู่ ใน 1 วัน เทียบกับ ข. ผลิตได้ 100 คู่ นั่นก็แสดงว่า ข. ต้องเก่งกว่า ก. แน่ เพราะพี่แกผลิตได้เยอะกว่าภายใต้ข้อสมมติที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบใช้ว่ารองเท้าที่ผลิตเป็นรองเท้าชนิดเดียวกัน

ดังนั้นตามหลักแล้ว ข. ควรได้ค่าจ้างมากกว่า ก. ครับ การอธิบายแบบกำปั้นทุบดินเช่นนี้ทำให้ตลาดแรงงานเกิดขึ้น นายจ้างจะจ่ายค่าแรงให้ ข. มากกว่า ก. เพราะในสายตานายจ้าง ข. ทำงานได้ดีกว่า ก.

แต่อย่างไรก็ตาม “แฟรงค์” แกสังเกตว่าทำไมบางคนที่มีผลิตภาพสูงกว่าจึงทนยอมรับเงินค่าจ้างที่ต่ำกว่าผลิตภาพที่สะท้อนความสามารถของตัวเอง แฟรงก์แกอธิบายเรื่องนี้โดยใช้คำว่า Status หรือ “สถานะ” เป็นเครื่องอธิบายครับ

“แฟรงค์” บอกว่า สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่การงานของ ข. นั้น คือ เหตุผลที่ทำให้ ข. เลือกทนรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าผลิตภาพตัวเอง นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมยังมีคนยังอยากรับราชการอยู่ทั้งๆที่เงินเดือนก็ไม่มากมายนัก เท่านั้นยังไม่พอครับแฟรงค์ยังบอกว่าที่ ข. ทนอยู่ได้เพราะ ข. มีความต้องการที่จะซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สถานะ” จาก ก. โดย ก. เป็นผู้ผลิตสินค้าสถานะให้กับ ข. ในสถานะที่ ก. ยอมรับว่า ข. อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าสูงกว่า นั่นอาจหมายถึงนายจ้างอาจมอบหมายให้ ข. เป็นหัวหน้า ก. เพราะเห็นว่า ข. เก่งกว่า

แฟรงค์มองสถานะในลักษณะ “สินค้า” ประเภทหนึ่งที่มีดีมานด์และซัพพลายจนก่อให้เกิดตลาดในที่สุดครับ วิธีการอธิบายของแฟรงค์ทำให้เราสามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไม “ผู้ว่ากรุงเทพมหานาคร”จึงยอมมารับเงินเดือนหกเจ็ดหมื่นทั้งๆที่ถ้าอยู่ภาคเอกชนเขาอาจได้เงินเดือนตามผลิตภาพที่สูงของเขาหรือทั้งๆที่ก่อนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นอาจจะลงทุนหาเสียงไปเยอะแล้วทำไมจึงต้องมานั่งรับเงินไม่กี่หมื่น เหตุผลที่ว่าคือ เขายินดีที่จะบริโภคสินค้าสถานะในตำแหน่งผู้ว่า กทม.นั่นเอง

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่แฟรงค์อธิบายว่าทำไมปัจจุบันองค์กรธุรกิจจึงเต็มไปด้วยตำแหน่ง Vice President เยอะเหลือเกิน ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าคนเหล่านี้พึงพอใจที่จะบริโภคสินค้าสถานะ “Vice President” ที่ธุรกิจนั้นมอบให้

บางทีการซื้อตัวหรือชิงตัวคนเก่งๆนั้น อาจจะไม่ได้แค่เอาเงินเดือนสูงๆมาล่อหลอกกันอย่างเดียวแต่อาจมีการขายสินค้าสถานะเช่นให้ตำแหน่งที่สูงขึ้นกับองค์กรใหม่ที่จะไปสังกัด อย่างในอดีตที่ “สตีฟ แมคคลาเรน” ยอมจากเดอะโบโร่มาคุมทีมชาติอังกฤษก็เพราะสมาคมฟุตบอลอังกฤษขายสินค้าสถานะที่ชื่อว่า “ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ” ให้แมคคลาเรน

ด้วยเหตุนี้เองพลันที่ผมเห็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีเสนาบดีชุดใหม่ ผมจึงถึงบางอ้อว่าผู้จัดการรัฐบาลสยามได้ขายสินค้าสถานะ “ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง” ให้ท่านเหล่านั้นที่สู้อุตส่าห์เสียสละความสุขส่วนตัวมารับเงินเดือนแสนกว่าบาททั้งๆที่ท่านเหล่านั้นอาจจะหาเงินได้มากกว่าเงินเดือนตำแหน่งเสนาบดีเสียอีก

แต่ เอ! ผมไม่แน่ใจว่าผลิตภาพของท่านเสนาบดีชุดใหม่นี้จะสูงกว่าเงินเดือนที่ท่านจะมารับตำแหน่งหรือเปล่าครับ? สงสัยต้องถามท่านอาจารย์แฟรงค์เสียแล้ว

Hesse004

Feb 4, 2008

American Gangster หรือ “ตำรวจ” คือ หัวขบวนตัวจริง





ถ้าท่านผู้อ่านเป็นแฟนตัวยงของ The Godfather งานของ “ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า” (Francis Ford Coppola) แล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านคงไม่พลาดหนังอย่าง American Gangster (2007) ของ “ริดลีย์ สก๊อตต์” (Ridley Scott) ที่เพิ่งจะลงโรงฉายไปไม่กี่วันมานี้

เหตุที่ผมอ้างอิงถึงภาพยนตร์มาเฟียโรแมนติคอย่าง The Godfather นั้น ก็ด้วยเพราะมีอยู่ฉากหนึ่งของ The Godfather (1972) ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจใหม่ในวงการ “มาเฟีย”

ฉากที่ว่าเป็นฉากที่ “โซรอสโซ” เจ้าเติร์กเจ้าเล่ห์เข้ามาคุยเรื่องธุรกิจกับ “ดอนวีโต้ คอร์ลิโอเน่” ถึงธุรกิจใหม่ที่ชื่อว่า “ยาเสพติด” (Drug) ครับ อย่างไรก็ตามดูเหมือนดอนของเราจะไม่เล่นด้วยเพราะดอนแกมีจุดยืนและคุณธรรมในการทำ “ธุรกิจผิดกฎหมาย” ที่เลือกจะไม่ค้ายานรก ด้วยมูลเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของเรื่องราว “มาเฟียโรแมนติค”ของตระกูลคอร์ลิโอเน่และเป็นการย่างก้าวเข้ามาในวงการมาเฟียของดอนคนใหม่นามว่า “ไมเคิล คอร์ลิโอเน่” นั่นเองครับ

แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ “การค้าเหล้าเถื่อน” ทั้งนี้เพราะเหล้าเถื่อนในอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 20-30 กลายเป็นสินค้า Demerit goods หรือสินค้าอคุณธรรม ที่รัฐบาลคุณพ่อรู้ดีสมัยนั้นไม่อยากให้ประชาชนดื่มเหล้า (Prohibition of Alcohol)

นอกจากเหล้าแล้ว การ “แทงหวย” ประเภทหวยใต้ดินก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างมาเฟียขึ้นมา กล่าวกันว่าเผ่าพันธุ์อิตาเลียนโดยเฉพาะที่มาจากเกาะซิซิลี คือ “ตำนานมาเฟีย”ของจริง ในนิวยอร์ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียของ “ชาร์ล ลัคกี้ ลูเซียโน่” (Lucky Luciano) คือ โคตรมาเฟียที่มาได้ดิบได้ดีในเมืองนิวยอร์ค

“ลูเซียโน่” สร้างองค์กรอาชญากรรมที่ทรงอิทธิพลขึ้นในอเมริกาถึงกับทำให้นิตยสารอย่าง TIME ยกให้เป็นหนึ่งในยี่สิบบุคคลที่มีอิทธิพล (ด้านลบ) แห่งศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียวครับ

ชื่อของลูเซียโน่ดูเหมือนจะตีคู่มากับมาเฟียหนุ่มเลือดร้อนนามว่า “ดัตช์ ชูลซ์” (Dutch Schultz) ครับ ชูลซ์นับเป็นมาเฟียที่เติบใหญ่ในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังรุ่งเรืองในช่วงทศวรรษที่ 20 (หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลง) และมีชีวิตอยู่พอได้เห็น The Great Depression หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 30 อย่างไรก็ตาม “ชูลซ์” นับเป็นมาเฟียอายุสั้น ครับเนื่องจากพี่แกตายตั้งแต่อายุ 33 ปี

อย่างไรก็ตามว่ากันว่า “อเมริกันมาเฟีย” ตัวแสบที่สุด คือ “อัล คาโปน” (Al Capone) ครับ “อัล”หรือ “ไอ้หน้าบาก” (Scarface) กลายเป็นมาเฟียที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงระยะเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ถิ่นฐานทำมาหากินของอัล คาโปน อยู่ที่ “ชิคาโก้” ครับ ธุรกิจผิดกฎหมายตั้งแต่ค้าเหล้าเถื่อน ทำหวยใต้ดิน ไปจนกระทั่งเปิดซ่องนั้น พี่อัลของเราแกดูแลหมด อย่างไรก็ตามอัล คาโปนก็มาจนมุมติดคุกด้วยข้อหาง่ายๆอย่าง “หนีภาษี” ครับ

“อัล” ดูจะเป็นมาเฟียที่ได้รับความสนใจจากวงการบันเทิงเป็นพิเศษครับ ด้วยเหตุนี้เองเรื่องราวของพี่แกเลยปรากฏอยู่ทั้งในละครทีวี ภาพยนตร์ นิยายอาชญากรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งการ์ตูน อย่างไรก็ดีดูเหมือน The Untouchables (1987) ของ “ไบรอัน เดอ พัลมา” (Brian De Palma) น่าจะกล่าวถึงยุคสมัยของอัลคาโปนได้ดีที่สุดครับ และคนที่มารับบทเป็น “อัล” ก็คือ ป๋าโรเบิร์ต เดอไนโร (Robert De Niro) นั่นเอง

ตำนานมาเฟียคนสุดท้ายที่ผมอยากกล่าวถึง คือ Ellworth Bumpy Johnson ครับ “บัมปี้”เป็น “เจ้าพ่อมาเฟียผิวดำ”ที่กล่าวกันว่าทรงอิทธิพลที่สุดในย่านฮาร์เล็ม(Harlem)ช่วงทศวรรษที่ 30จนถึงปลายทศวรรษที่ 60 และ “บัมปี้” ยังเป็นนายใหญ่ของ “แฟรงก์ ลูคัส” ถึง 15 ปี

ชีวิตของ “บัมปี้ จอหน์สัน” นั้นได้ถูกถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มในเรื่อง Hoodlum (1997) ผลงานการกำกับของบิล ดุค (Bill Duke) โดยได้ “ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น” (Laurence Fishburne) มารับบทเป็น “บัมปี้” ครับ

ท่านผู้อ่านสังเกตมั๊ยครับว่า “ยุคสมัย”ของมาเฟียมักอยู่ในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้น มาเฟียรุ่นเก๋าๆที่กล่าวมานั้นล้วนเป็น “กลุ่มอาชญากร”ที่เติบโตมาพร้อมๆกับความรุ่งเรืองของเมืองอย่างนิวยอร์คและชิคาโก้ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในช่วง The Great Depression หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในสหรัฐช่วงทศวรรษที่ 30

นอกจากนี้เหล่าร้ายทั้งหลายนี้หากินอยู่กับ “ข้อห้ามของกฎหมาย” โดยเฉพาะการค้าของผิดกฎหมาย (Smuggling or Trafficking)ซึ่งในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้วการค้าของผิดกฎหมายมี “แรงจูงใจ” ในเรื่อง “กำไร” มากกว่าการค้าของถูกกฎหมาย เข้าตามกฎที่ว่า High risk High Return นั่นเองครับ

ด้วยเหตุนี้เองการลักลอบนำเข้าเหล้าเถื่อน เดินโพยหวยใต้ดินแม้แต่ธุรกิจค้าน้ำกามนั้นจึงกลายเป็นแหล่งหาเงินสำคัญของเหล่ามาเฟียในสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งเพราะไม่มีสุจริตชนคนไหนอยากทำ

ดังนั้นการเติบใหญ่ขององค์กรอาชญากรรมส่วนหนึ่งจึงมาจากแรงผลักของ “กฎหมายรัฐ” ที่ผลักให้ธุรกิจที่ขาย“สินค้าอคุณธรรม”(Demerit goods) เหล่านี้ถูกนิยามว่าเป็น “ธุรกิจผิดกฎหมาย” และเป็นภัยต่อสังคม

สำหรับ American Gangster (2007) ของริดลีย์ สก๊อตต์ นั้น ได้เล่าถึง “มาเฟียผิวดำ” อย่าง “แฟรงก์ ลูคัส” (Frank Lucas)อดีตคนสนิทของ “บัมปี้ จอห์นสัน” ตำนานมาเฟียผิวดำในย่านฮาร์เล็ม

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วครับว่า “ธุรกิจค้ายาเสพติด” ได้กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่เหล่าทุรชนนั้นเริ่มสนใจไม่ว่าจะเป็นแก๊งค์ไอริช แก๊งค์ตุรกี หรือ แม้กระทั่งแก๊งค์อิตาเลียนเอง

โดยส่วนตัวผมแล้วผมคิดว่างานชิ้นนี้ของ “ริดลีย์ สก๊อตต์” นับว่า “ลงตัว” อยู่ไม่น้อยครับทั้งพล็อตเรื่องที่ได้มือเขียนบทอย่างSteve Zaillian (จาก All the King’s Men ฉบับล่าสุด) มาช่วยจัดการให้ นอกจากนี้ยังได้ดาราเจ้าบทบาทอย่าง “แดนเซล วอชิงตัน” (Danzel WAshigton) และ “รัสเซล โครว์” (Russel Crowe) มารับบทนำ

“ริดลีย์ สก๊อตต์” จงใจจะฉายภาพของมาเฟียผิวสีในย่าน “ฮาร์เล็ม” อย่าง แฟรงก์ ลูคัส ที่ใหญ่ขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่โหดเหี้ยมเพียงอย่างเดียวหากแต่เป็นโจรที่มีคุณธรรมสูงคนหนึ่ง โดยเฉพาะความชื่อสัตย์แล้ว ลูคัสไม่ได้เป็นรองใคร

“ลูคัส” ยังเป็นตัวแทนของ “นักเลง” จริงที่ทำการค้าด้วยความจริงใจแม้ว่าสินค้าที่เขาจะขายนั้นมันจะเป็น “เฮโรอีนบริสุทธิ์” (Blue Magic) ก็ตาม ความเป็นนักเลงของลูคัสสะท้อนออกมาจากความเป็นสุภาพบุรุษที่รักครอบครัวและพี่น้อง จนกล่าวกันว่าเขาเป็นพ่อค้ายาเสพติดที่ต่างจากคนอื่นๆ จะเห็นได้ว่าในหนังเรื่องนี้ไม่มีฉากไหนเลยที่ฉายให้เห็นภาพพี้ยาของลูคัสทั้งที่เขาเป็นเจ้าของธุรกิจค้ายารายใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลูคัสได้เรียนรู้มาจาก “บัมปี้” นายเก่าของเขาซึ่งก็เป็น “นักเลงจริง” อีกคนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน American Gangster ก็ดูเหมือนจงใจจะตบหน้าเหล่าโจรที่มักแฝงตัวมา “ตบทรัพย์” มิจฉาชีพอีกต่อในรูปของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” โดยเฉพาะ “ตำรวจ”

น่าสนใจนะครับว่าทำไมอาชีพ “ตำรวจ” จึงกลายเป็นอาชีพที่ชาวบ้านร้อง “ยี้” อาชีพหนึ่งไม่แพ้อาชีพ “นักการเมือง” หนังหลายต่อหลายเรื่องอย่าง L.A. Confidential (1997) ของ “เคอร์ติส แฮนสัน” (Curtis Hanson) ก็ปอกเปลือก “ตำรวจแอลเอ”เสียไม่มีชิ้นดี ประมาณว่าถ้าริจะเป็นตำรวจได้ก็ต้องหัด “ยิงคนทางข้างหลัง” เป็น

เช่นเดียวกับ American Gangster ครับที่เราได้เห็นการจับกุมราชายาเสพติดอย่าง “ลูคัส” พร้อมๆกับการลากเอาเหล่าพลพรรคตำรวจนอกรีตแตกแถวทั้งหลายออกมาในตอนท้ายของเรื่อง

ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจนักที่หลายวันมานี้ข่าวเรื่อง “แกงค์ ต.ช.ด.ตบทรัพย์” จะโด่งดังบนหน้าหนังสือพิมพ์เพราะดูเหมือนว่า American Gangster จะบอกเราเป็นนัยๆแล้วว่าไอ้หัวขบวนตัวจริงก็คือ “ไอ้คนที่รักษากฎหมาย” เนี่ยแหละครับ

Hesse004