Jan 31, 2008

“All the King’s Men” อำนาจทำให้คนเปลี่ยน





กระบวนหนังการเมืองที่ผมดูแล้วรู้สึกประทับใจมีอย่างน้อย 3 เรื่อง ครับ เรื่องแรก คือ Wag the Dog (1997) ผลงานการกำกับของ แบรี่ เลวินสัน (Barry Levinson) หนังเล่าถึงการทำการตลาดทางการเมืองโดยอาศัยโปรดิวเซอร์กำกับหนังจาก Hollywood มาช่วยทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้มีมลทินเรื่องเพศสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัยหนึ่ง

หนังของนายเลวินสันนับเป็นหนังเสียดล้อนักการเมืองอเมริกันที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้

สำหรับเรื่องที่สองนั้น Man of the Year (2006) ของนายเลวินสันคนเดิมครับ หนังเรื่องนี้สื่อให้เห็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ในการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

จะเห็นได้ว่างานของเลวินสันทั้งสองชิ้นล้วนสะท้อนให้เห็นทัศนวิจารณ์ทางการเมืองของเขาได้อย่างดี

และดูเหมือนเลวินสันจะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้งเท่าไรนักดูจาก Wag the Dog ที่เขาพยายามชี้ให้เห็นการสร้างภาพของเหล่านักการเมืองทั้งหลายที่พยายาม “หลอกแดก” ผู้ลงคะแนนเสียงด้วยผลงานในช่วงสองอาทิตย์สุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน

ขณะที่ Man of the Year ที่เลวินสันให้นายทอม ดอบบ์ (Tom Dobbs) เป็นตัวแทนของความเบื่อหน่ายต่อระบบการเมืองแบบเก่าๆประเภท “นักการเมืองโดยอาชีพ” ที่พยายามสร้างภาพพจน์ให้ดูดีในสายตาประชาชน โดยเลวินสันจงใจให้ดอบบ์ที่นำแสดงโดย “โรบิน วิลเลียม” นักแสดงตลกปัญญาชนอเมริกัน คือ ตัวแทนเสียดสีรูปแบบการเล่นการเมืองแบบ Democrat หรือ Republican

ทัศนวิจารณ์ของเลวินสันทั้งสองเรื่องนั้นยิ่งตอกย้ำถึง “การเมือง”กับ “ทุน”ในระบอบประชาธิปไตยว่ามีความซับซ้อนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง Political Marketing หรือ “การตลาดการเมือง” จึงมีความสำคัญอย่างมากในระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยกระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกในการตัดสินใจเลือกผู้แทนและรัฐบาล

ผมไม่แน่ใจว่าเลวินสันได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเหล่านักคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ Public Choice หรือไม่ แต่ที่แน่ๆหนังของเขาได้สะท้อนให้เห็นความเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ”ของเหล่านักการเมืองในแง่ที่ต้องพยายามแสวงหาความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ตนเองและประสานประโยชน์ให้กับพวกพ้องสูงสุด (Utility Maximiztion for me and Profit Maximization for party)

เจ้าสำนัก Public Choice อย่างเจมส์ บูคาแนน (James Buchanan) คนละคนกับอดีตประธานาธิบดีอเมริกานะครับ และ กอร์ดอน ทอลลอค (Gordon Tullock) ได้ช่วยกันพัฒนาแนวคิดของ Public Chioce จนกลายเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่านักการเมืองก็จัดอยู่ในจำพวก “สัตว์เศรษฐกิจ” จำพวกหนึ่งที่มุ่งแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองและกลุ่มผลประโยชน์หรือ Interested Group

นอกจากนี้งานของทอลลอคยังเป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายเรื่องของ Economic Rent Seeking หรือ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ นั่นเองครับ

งานของทอลลอคได้รับการต่อยอดจากนักเศรษฐศาสตร์หญิงชื่อดังนามว่า “แอน ครูเกอร์” (Ann O. Kruger) ครูเกอร์อธิบายการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจโดยยกตัวอย่างการจำกัดโควต้าสินค้านำเข้าในตุรกีเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว โดยเปเปอร์ของครูเกอร์นั้นได้ขยายพรมแดนความรู้เรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของนักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้มีส่วนในอำนาจรัฐ จนองค์ความรู้ดังกล่าวพัฒนามาสู่เรื่องของ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) ในที่สุด

จะเห็นได้ว่าทัศนวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์สาย Public Choice ที่มีต่อ “นักการเมือง” และรัฐนั้นดูจะไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจสักเท่าไรนะครับ ซึ่งก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกับคำพูดของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เคยสรุปไว้ว่า

“สังคมไทยมีความคาดหวังจากอาชีพนักการเมืองสูงเกินกว่าระดับปุถุชน คนเป็นอันมากคาดหวังว่านักการเมืองจักต้องเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ความคาดหวังในลักษณะดังกล่าวนี้บางครั้งมีมากจนถึงขั้นที่มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเป็นนักการเมืองได้” (อ้างจากนพฤทธิ์ อนันอภิบุตร ,เจ้าบอมบ์เพื่อนผม, ใน การวิเคราะห์กระบวนการงบประมาณแผ่นดินในสภาผู้แทนราษฎรของไทย )

โอ้...ผมเตลิดไปไกลเชียว สำหรับหนังการเมืองเรื่องสุดท้ายที่ประทับใจนั้นเป็น หนังที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์เมื่อปี ค.ศ.1949 ครับ หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “All the King’s Men” ผลงานการกำกับของนายโรเบิร์ต รอสเซ่น (Robert Rossen)

All the King’s Men เล่าเรื่องราวของชายผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองคนหนึ่งนามว่า “นายวิลลี่ สตาร์ก” (Willie Stark) แม้ว่า “วิล” จะเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำแต่สิ่งที่ดีแต่เขาก็ยังไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนในเมืองชนบทเล็กๆได้

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้บทบรรยายของ “แจ๊ค เบอร์เดน” (Jack Burden) นักข่าวหนุ่มที่เข้ามาทำข่าวเรื่อง “วิล” ตั้งแต่เป็นนักการเมืองกระจอกที่ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่งเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ “วิล” เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในฐานะ “ผู้ว่าการรัฐ”

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายชิ้นเยี่ยมที่การันตีด้วยรางวัลพูลิตเซอร์ของ นายโรเบิร์ต เพนน์ วอร์เรน (Robert Penn Warren) ครับ

สารที่ทั้งผู้เขียนและผู้กำกับต้องการจะสื่ออยู่ที่ “อำนาจทำให้คนเปลี่ยน” ใช่แล้วครับ อำนาจก็เหมือนแหวนในเรื่อง Lord of the Ring ซึ่งมนุษย์อย่างเราๆยังคงเฝ้าแสวงหาและอยากครอบครองมันให้นานที่สุด

ผมเชื่อว่านักการเมืองหลายคนเริ่มต้นเข้าสู่การเมืองแบบ “วิลลี่ สตาร์ก” ด้วยความตั้งใจดี ปรารถนาอันแรงกล้าด้วยอุดมคติ ด้วยอุดมการณ์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีอำนาจ เราก็พูดได้ครับว่าเราอยากจะทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ แต่พอมีอำนาจแล้วดูเหมือนมันจะมีทั้ง “มือและตีนที่มองไม่ค่อยเห็น” คอยมาดึงให้เราไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจ แต่ไอ้มือหรือตีนที่ว่ามันอาจจะไม่สำคัญเท่ากับ “ใจ” ที่เปลี่ยนไปของเราหรือเปล่า?

ผมเชื่อว่าคนบางคนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตได้แต่อย่าเปลี่ยนแปลง “สาระ” ของชีวิตที่ตัวเองเป็นเลยครับ เพราะสาระของชีวิตมันย่อมสะท้อนให้เห็นถึง “จุดยืน”ที่เราเคยคิดเคยเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมันคือสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้วและที่สำคัญคือไม่เบียดเบียนส่วนรวม

All the King’s Men ยังสะท้อนให้เห็น “ราคาที่นักการเมือง” ต้องจ่ายหากคิดจะขึ้นเป็นใหญ่และราคาที่ว่านั้นดูเหมือนจะแพงเสียด้วยเพราะมันแลกมาด้วยการแตกสลายของครอบครัว

บางทีนักการเมืองอาจทำให้คนพันคน หมื่นคน หรือแม้แต่คนสิบล้านคนรักตัวเองได้แต่อาจจะไม่สามารถทำให้ภรรยาและลูกที่รักหันกลับมารักเราได้

บทสุดท้ายของ All the King’s Men ทำให้ผมคิดถึงฉากตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี พ.ศ.2544 ท่านผู้อ่านอยากรู้มั๊ยครับว่าฉากตอนนั้นคืออะไร? ลองกลับไปหาดูหนังเรื่องนี้สิครับ.... All the King’s Men

Hesse004

Jan 27, 2008

“ละครการเมืองไทยกับประชาธิปไตยของหัวคะแนน”




หลังวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว ผมเริ่มกลับมาติดตามซีรีส์ละครไทยเรื่องหนึ่งที่ว่ากันว่าสนุกไม่แพ้ซีรีส์ละครหนังเกาหลีเลยทีเดียวครับ

หลังจากที่ซีรีส์ละครเรื่องนี้ถูกเซนเซอร์มาปีกว่าๆ ด้วยทางกองเซนเซอร์หรือ “กองแบน”มองว่าละครเรื่องนี้กำลังจะนำเสนอภาพการฉ้อฉลของเหล่าตัวละครดารานำทั้งหลายและอาจทำให้ตีม (Theme) ของเรื่องผิดเพี้ยนไป

“กองแบน”ของเราจึงต้องออกมาเซนเซอร์ละครเรื่องนี้พร้อมทั้งเรียกหลายฝ่ายมาช่วยกันปรับปรุงบทละครกันใหม่แถมยังโละดาราหน้าเก่าๆออกจากเวทีแห่งนี้ไปสักพักหนึ่ง

อย่างไรก็ตามพอละครเรื่องนี้เริ่มออกอากาศใหม่อีกครั้ง ผมกลับพบว่าซีรีส์ชุดนี้ยังคงความ “น้ำเน่า” อยู่เช่นเดิมครับ แม้ดาราเจ้าบทบาทหลายคนจะหายหน้าหายตาไปแล้วก็ตามแต่ก็มีบางคนแอบบอกบทให้ดาราใหม่ๆอยู่ ซึ่งคนชอบดูหนังดูละครอย่างผมก็จับได้ว่าดาราหน้าใหม่เหล่านั้นยังทำได้ไม่ “เนียน” พอ

ละครเรื่องที่ผมกล่าวมาข้างต้นนั้น น่าจะเป็นละครซีรีส์ที่มีอายุยาวนานมากที่สุดก็ว่าได้นะครับ ยาวกว่า “สามหนุ่มสามมุม” ของคณะละครเอ็กแซกท์ เสียอีก

อย่างไรก็ตามบทที่วางไว้นั้นถูกปรับปรุงหรือถูก “ฉีก” อยู่นับสิบครั้งและล่าสุด “กองแบน”ก็ได้ให้มือเขียนบทละครเรื่องนี้ปรับปรุงบทกันใหม่แถมยังใจดีเอาบทมาให้คนดูช่วยกัน “โหวต” ว่าชอบหรือไม่ชอบอีกด้วย

ซีรีส์ที่ผมกล่าวถึงนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ครับ นานโขเลยทีเดียว คณะละครชุดแรกที่ได้ริเริ่มสร้างและเขียนบทละครเรื่องนี้ขึ้นมามีชื่อว่า “คณะราษฎร” ครับ

จุดมุ่งหมายของผู้สร้างละครชุดนี้ คือ ต้องการเห็นชนชาวสยามของเรามีประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง แต่ไอ้คำว่า “เดโมเครซี่” (Democracy) ที่คณะละครชุดนี้ต้องการเผยแพร่นั้นมีความซับซ้อนมากกว่า “การหย่อนบัตรลงคะแนน”

ถ้าผมจำไม่ผิดซีรีส์ละครตอนแรกนี่น่าจะมีชื่อว่า “กำเนิดประชาธิปไตยในสยาม” ฟังดูเข้าท่าดีนะครับ แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนตีมของละครที่ต้องการสื่อนั้นดูจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงเอาเสียเลย เพราะผู้ชมชาวสยามสมัยนั้นไม่สนใจละครเรื่องนี้ ก็เลยเป็นเหล่านักแสดงละครเล่นกันเองดูกันเอง บ่อยครั้งที่พบว่าแย่งบทบาทกันเองเสียด้วย

ท้ายที่สุดละครตอนที่หนึ่งจบลงอย่างไม่เป็นท่าครับ เพราะมีการฉีกบทและเริ่มเล่นกันใหม่โดยตอนที่สองที่นั้นมีชื่อเก๋ๆว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ละครตอนนี้ออกอากาศอยู่นานหลายปีครับจนในที่สุดคนดูก็พบว่า “เชื่อผู้นำ เรามีภัย” ก็เพราะภัยจากสงครามโลกครั้งที่สองไงครับที่ทำให้ผู้ชมบางกลุ่มชักเริ่มสงสัยในตีมของซีรีส์เรื่องนี้เสียแล้ว

หลังจาก ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าดาราเจ้าบทบาทจะไปตกอยู่กับบุคคลในเครื่องแบบ การแย่งชิงบทดารานำของเหล่า “ขุนทหาร” ทำให้ตีมของซีรีส์ละครชุดนี้ดูผิดเพี้ยนไปทุกวันครับ

คนดูเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับละครชุดนี้เพราะถูก “บังคับ” ให้ดูแถมถูก “บังคับ”ให้ต้องสนุกด้วย ว่ากันว่าบทที่ขุนทหารเขียนขึ้นนั้นจืดชืดไร้รสชาติสิ้นดี จนคนดูรุ่นคุณปู่ของผมท่านเรียกซีรีส์ละครตอนนี้ว่า “เผด็จการ” ครับ

แต่ในที่สุดเมื่อเหล่าคนดูกลุ่มหนึ่งเริ่มทนไม่ไหวกับทละครที่จืดชืดอืดอาด เหล่าคนดูเลยลุกขึ้นมาปฏิวัติบทละครกันเสียใหม่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ครับ

กล่าวกันว่าในวันนั้นผู้ชมละครเรือนแสนได้ออกมาต่อต้านคณะผู้จัดละคร ผู้กำกับ เหล่าดารานักแสดง จนทำให้คนเหล่านี้ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านบางคนต้องหลีกลี้หนีหน้าไปต่างประเทศเลยทีเดียว

ดูเหมือนผู้ชมที่คิดก่อการในช่วงนั้นจะเรียกตัวเองว่า “คณะละครเดือนตุลา” นะครับ เพราะทุกวันนี้คณะละครชุดนี้ยังมีบทบาทอยู่ในฐานะมือเขียนบท มือกำกับหรือแม้แต่ดาราเจ้าบทบาท

แม้ว่าซีรีส์ตอนใหม่ที่ชื่อ “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยความหวังอันเรืองรองของคณะละครเดือนตุลา แต่แล้วในที่สุดละครชุดนี้ก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปครับ ด้วยเหตุผลมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันในโรงละครเวทีแถวๆท่าพระจันทร์ สนามหลวงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หลังจากนั้นผู้จัดละครได้ปล่อยซีรีส์ละครตอนที่ห้าซึ่งเริ่มต้นออกอากาศหลังเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น และว่ากันว่าเป็นซีรีส์ที่สุดแสนจะน่าเบื่อเพราะตัวละครส่วนใหญ่มีทักษะการแสดงที่ค่อนข้างแข็งทื่อแถมยังไม่จัดเจนในการแสดงละครชุดนี้ นักวิชาการการละครเรียกซีรีส์ชุดนี้ว่า “อำมาตยาธิปไตย”ครับ

อย่างไรก็ตามซีรีส์ละครที่ผมดูอยู่นั้นมักถูกเซนเซอร์บ่อยครั้งโดยเฉพาะนักเซนเซอร์บทละครประชาธิปไตยชั้นดีที่มีรถถังอยู่ในมือ จะด้วยเจตนาอะไรก็แล้วแต่นักเซนเซอร์เหล่านี้มักถูกตราหน้าว่ามีความคิดล้าหลัง คับแคบ และไม่เป็นมืออาชีพ

หลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ผมเริ่มรู้สึกถึงความสนุกของซีรีส์ละครชุดนี้อย่างไรก็ตามซีรีส์ตอน “บุฟเฟต์คาบิเนต” ทำให้ผมรู้ซึ้งถึง “สันดาน” นักแสดงละครที่มักตะกละตะกราม ฉ้อฉลและลุแก่อำนาจ จนเป็นข้ออ้างให้นักเซนเซอร์เข้ามาเซนเซอร์บทละครอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

แต่แล้วนักเซนเซอร์กลับอยากจะลองมาเป็นดาราเสียเองจนทำให้เหล่าคนดูโห่ไล่โดยเฉพาะคนดูที่ชอบเรียกตัวเองว่า “ชนชั้นกลาง” ท้ายที่สุดละครตอนนี้ก็จบด้วยการนองเลือด (อีกแล้ว) เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2535

เหล่าผู้สร้าง นักจัดละคร ผู้กำกับและนักแสดงเริ่มเข้าใจในตีมของเรื่องที่คณะราษฎรต้องการสื่อมากขึ้น พวกเขาเริ่มมาวางรากฐานเขียนบทกันใหม่และประกาศก้องกับชนชาวสยามหัวดำๆว่าซีรีส์ตอนใหม่ที่จะสร้างต่อไปนี้จะมอบสาระประโยชน์ต่อชาวสยามทุกคน

เหล่าคนดูเบิกบานแต่ท้ายที่สุดการณ์กลับเป็นว่าตัวละครกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า “นักธุรกิจการเมือง” และ “นักการเมืองโดยอาชีพ” ได้ทำให้บทละครบทนี้ดู “น้ำเน่า” ไปในที่สุดครับ

หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2540 คณะละครกลุ่มใหม่นามว่า “คณะไทยฮักไทย” (ออกเสียงแบบจาวเหนือครับ) ได้ทำให้ซีรีส์ละครเรื่องนี้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง การผสมพันธุ์ระหว่างนักธุรกิจการเมืองและนักการเมืองโดยอาชีพทำให้คณะละครชุดนี้สามารถครองใจผู้ชมได้มากมายถล่มทลายหลังเปิดการแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2544

อย่างไรก็ตามมีคนแอบกระซิบข้างหูผมว่าละครตอนนี้มีชื่อสั้นๆว่า “ประชาธิปไตยของนายทุน” ดูเหมือนชื่อไม่ค่อยน่ายินดีเท่าไรเพราะตีมของละครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 นั้นจงใจจะให้ชื่อละครชุดนี้ว่า “ประชาธิปไตยของปวงชนชาวสยาม”

ในละครตอนนี้มีองก์หรือตอนย่อยๆของละครอยู่หลายตอน อาทิ องก์ “ประชานิยม” ที่เล่าเรื่องคณะละครไทยฮักไทยสามารถครองใจผู้ชมกลุ่มใหญ่ได้จากการเอาทรัพยากรรัฐมากระจายให้เหล่าคนดูอย่างทั่วถึง เหมือนเข้าโรงละครแล้วแจกน้ำอัดลม ยาดม ยาหม่อง “ฟรี”

จริงๆแล้วซีรีส์ตอน “ประชาธิปไตยของนายทุน” นั้นดูจะคล้ายคลึงกันกับละครฝรั่ง ละครญี่ปุ่น ละครเกาหลี เพราะ “นายทุน” คือ ผู้ที่พยายามเข้าไปเกาะกุมอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านอำนาจทางการเมืองโดยใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกการแสวงหาอำนาจ

ขึ้นชื่อว่า “นายทุน”หรือ “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneur) แล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงผู้ที่รวบรวมปัจจัยการผลิตอย่างที่ดิน แรงงาน เครื่องจักร ตลอดจนทุนทางการเงินเพื่อผลิตสินค้าและบริการให้เกิดผลกำไรก่อนนำกำไรที่ได้มาลงทุนต่อ

แต่สำหรับ “นายทุนหรือผู้ประกอบการทางการเมือง” คือ กลุ่มทุนที่แสวงหาอำนาจรัฐผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยใช้ทักษะพิเศษรวบรวมเสียงหรือมุ้งต่างๆของเหล่านักเลือกตั้ง เพื่อสถาปนาอำนาจให้กับตนเองโดยมุ่งแสวงหากำไรให้พรรคและพวกพ้อง

อย่างไรก็ตามดูเหมือนคณะละครไทยฮักไทยจะไปไม่ได้ไกลนัก เพราะถูกนักเซนเซอร์เข้ามาตัดบทอีกรอบโทษฐานกำลังสร้างตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็กและเยาวชนชาวสยามโดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของเหล่าดารานักแสดงนำ

คณะละครไทยฮักไทยปิดตัวลงอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก เหล่าดาราเจ้าบทบาทต่างระหกระเหินกระจัดกระจาย อย่างไรก็ตามอิทธิฤทธิ์ของเงินตราย่อมทำให้คณะละครชุดนี้กลับเข้ามาใหม่ในนาม “คณะละครพลังของประชาชน”

หลังวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว ผมเริ่มกลับมาติดตามละครชุดนี้อีกครั้งด้วยใจหวังอยากเห็นบทบาทใหม่ที่สร้างสรรค์และพัฒนาไปกว่าเดิม

แต่แล้วความหวังและความสนุกของผมก็ต้องมลายหายมอดไป เพราะ ดูเหมือนผู้ชมส่วนใหญ่ยังอยากเห็น “น้ำเน่า” ของซีรีส์ชุดนี้อยู่ น้ำเน่าที่ว่านั้นเต็มไปด้วยการปลิ้นปล้อน มดเท็จตอแหลของตัวละครตั้งแต่ระดับผู้เฒ่าลงไปกระทั่งตัวละครหน้าใหม่

หลังวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว เพื่อนผมบางคนแอบมากระซิบข้างหูว่าซีรีส์ละครที่มึงกับกูดูชุดนี้ดูเหมือนจะเป็นตอน “ประชาธิปไตยของหัวคะแนน”ว่ะ

ผมสวนกลับไปว่าหรือจะเป็น “ประชาธิปไตยของนอมินี” วะ

แต่ถึงที่สุดแล้วเราต่างต้องดูซีรีส์ละครเรื่องนี้ไปอย่างจำใจ แถมจะย้ายช่องเปลี่ยนไปดูเรื่องใหม่ก็ไม่ได้เพราะดูเหมือนทุกช่องจะพร้อมใจกันฉายละครเรื่องนี้ให้เราได้ชมอยู่ทุกวันใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Jan 10, 2008

"The Golden Door" เปิดประตูดูโลกใบใหม่




ผมเชื่อว่าการตัดสินใจที่จะ “อพยพ” (Immigration) น่าจะเป็นหนทางสุดท้ายที่มนุษย์เราจะเลือก ทั้งนี้คงเนื่องมาจากมนุษย์เราส่วนใหญ่นั้นคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จนไม่อยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร แม้จะเบื่อหน่ายบ้างเป็นบางทีแต่ความรักที่มีต่อถิ่นฐานบ้านเกิดนั้นน่าจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่มนุษย์เรายังผูกพันกับถิ่นกำเนิด

The Golden Door (2006) เป็นหนังอิตาลีครับ หนังเรื่องนี้มีชื่ออิตาเลียนว่า Nuovomondo บนหน้าปกดีวีดีนั้นเขียนไว้ว่า “Martin Scorsese Presents” ครับ ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะที่ชื่อของยอดผู้กำกับอย่างสกอร์เซซี่เพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้กำกับโดย “เอ็มมานูเอล เครียเรซี่” (Emmanuele Crialese) ผู้กำกับหนุ่มชาวอิตาเลียน

กล่าวกันว่าหนังเรื่องนี้ได้รับการการันตีจากสกอร์เซซี่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก The Italian Connection หรือสายสัมพันธ์ของชาวเมืองมักกะโรนี นั่นเอง

สกอร์เซซี่นั้นชอบอยู่แล้วกับการทำหนังพันธุ์อิตาเลียนโดยเฉพาะหนังอย่าง Mean Street (1973) Italianamerican (1974) Good Fellas (1990) และ Casino (1995) ทั้งนี้เนื้อหาส่วนใหญ่อิงอยู่กับชุมชนอิตาเลียนบนแผ่นดินอเมริกา ด้วยเหตุนี้เอง The Golden Door น่าจะโดนใจคุณป๋ามาร์ตี้เราอยู่ไม่น้อย

The Golden Door เล่าเรื่องการอพยพของครอบครัว “แมนคูโซ” (Mancuso)ซึ่งเป็นครอบครัวชาวนาจนๆบนเกาะซิซิลี่ ครับ ว่ากันว่าเกาะๆนี้คือแหล่งกำเนิดของเหล่ามาเฟียตัวเอ้ของอเมริกาเลยก็ว่าได้

หนังเรื่องนี้มีตัวละครนำเรื่องอย่าง “ซัลวาทอเร่ แมนคูโซ่” (Sanvatore Mancuso) ซึ่งเป็นชาวนาจนๆแถมยังเป็นพ่อหม้ายเรือพ่วงมีลูกติดอีก 2 คน ซัลวาทอเร่ตัดสินใจที่จะอพยพไปสู่ “โลกใหม่” ที่อเมริกา หลังจากที่เกิดความอัตคัดขัดสนบนแผ่นดินซิซิลี่ ดังนั้นภาพถ่ายหัวหอมอันใหญ่มหึมา ภาพแม่ไก่ตัวโต หรือ ภาพต้นไม้ที่เต็มไปด้วยเงินทองจึงเป็นแรงปรารถนาให้เขาตัดสินใจที่จะอพยพไปยัง “โลกใหม่” ที่มีอนาคตมากกว่า

อย่างที่ผมเรียนไปตอนต้นแล้วครับว่า “การอพยพ”ย้ายถิ่นฐานน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของมนุษย์ ซึ่งในหนังก็ได้สื่อให้เห็นความอาวรณ์ที่มีต่อแผ่นดินเกิดทั้งตัวลูกชายคนเล็กของซัลวาทอเร่เองหรือแม้กระทั่ง “แม่เฒ่า” ของเขา

วิชาเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึงการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานไว้อย่างนี้ครับว่า การที่แรงงานจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน เช่นจากพม่ามายังประเทศไทยนั้น ตัวแรงงานเองจะต้องคำนึงถึงค่าจ้างที่ตัวเองจะได้รับจากที่ทำกินใหม่ว่าอย่างน้อยมันจะต้องมากกว่าค่าจ้างเดิมรวมกับค่าอพยพเคลื่อนย้าย

จริงๆแล้วตรรกะนี้ดูจะเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์เลยก็ว่าได้นะครับ เพราะหากที่เดิมอยู่แล้วอดอยากปากแห้ง สู้ไปหาที่ใหม่ที่มีอนาคตรออยู่ดีกว่า

แต่การอพยพนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำกันได้ง่ายๆ เพราะประเทศเจ้าของบ้าน (Host Country) มักตั้งข้อรังเกียจผู้อพยพเนื่องจากแรงงานต่างด้าวชอบเข้ามาแย่งงานแรงงานท้องถิ่น

แต่ในทางเศรษฐศาสตร์กลับมองว่าเป็นผลดีสำหรับผู้ประกอบการในประเทศนั้นครับเนื่องจากมีอุปทานแรงงานเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ต้องรอการเพิ่มประชากร ผลก็คือทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการจ้างแรงงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตามมันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างที่ทฤษฎีพูดไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้วการเข้าสู่ตลาดแรงงานของแรงงานต่างชาตินั้นค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะหากประเทศเจ้าบ้านเขาสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้กับคนท้องถิ่นแล้ว

กลับมาที่หนังต่อดีกว่าครับ , เครียเรซี่ ได้ทำให้เราเห็นบรรยากาศการนั่งเรืออพยพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค จากแผ่นดินยุโรปสู่แผ่นดินอเมริกา

“อเมริกา” ได้กลายเป็นโลกใบใหม่ของใครหลายคน เป็นดินแดนแห่งโอกาสอย่างแท้จริง หนังอย่าง Far and Away(1992) ของ รอน โฮเวิร์ด (Ron Howard) แสดงภาพชาวไอริชที่อพยพไปยังอเมริกาเพื่อแสวงหาที่ดินทำกินในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

สำหรับ The Golden Door นั้น หนังดำเนินเรื่องอยู่บนเรือลำใหญ่ที่บรรทุกชาวยุโรปพลัดถิ่นทั้งผู้ดีไปจนกระทั่งคนยากไร้ที่กำลังเดินทางไปยังโลกใบใหม่ อย่างไรก็ตามการเดินทางใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไปเพราะต้องเผชิญกับสภาพฟ้าฝนกลางทะเลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แต่ท้ายที่สุดครอบครัวแมนคูโซ่ ก็มาเหยียบแผ่นดินใหม่จนได้

การอพยพไปอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 นั้น ผู้อพยพต้องเดินทางไปพักที่เกาะเอลลิส ( Ellis island) เป็นด่านแรกก่อนครับ ตามภูมิศาสตร์นั้นเกาะๆนี้อยู่บริเวณปากทางของ New York Harbor

เกาะๆนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นที่ผู้อพยพจะต้องมาทำการตรวจตราเอกสาร ตรวจร่างกาย ไปจนกระทั่งวัดเชาว์ปัญญาก่อนเข้าเมืองอเมริกา ผมเองก็เพิ่งทราบจากในหนังเหมือนกันครับว่า มีการวัดเชาว์ปัญญาของผู้อพยพด้วย

กล่าวกันว่าในช่วงต้นศตวรรษ 20 นั้นมีชาวยุโรปอพยพหลายคนที่เข้ามาได้ดิบได้ดีในอเมริกา หนึ่งในนั้นก็คือ "ชาลี แชปลิน" (Charles Chaplin) ถ้าผมจำไม่ผิดรู้สึกจะมีหนังของแชปลินที่เกี่ยวกับการอพยพด้วยรู้สึกจะเป็นเรื่อง The Immigrant (1917) นะครับ

หนังเรื่องนี้ เครียเรซี่ ได้แฝงความเป็นแฟนตาซีเข้าไปบ้างคล้ายๆกับ The Big Lebowski (1998) ของพี่น้องโคเอน (Brothers Coen ) อย่างไรก็ดีเสน่ห์ของ The Golden Door น่าจะอยู่ที่บรรยากาศการอพยพทั้งที่ปรากฏบนเรือและบนเกาะเอลลิส ครับ

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ, ผมนึกถึงบรรพบุรุษของตัวเองที่โล้สำเภามาจากเมืองจีน อาม่าผมท่านเคยบอกว่าครอบครัวของเรามาจากเมือง “เหนกโอ๋ยเซี๊ย” ผมไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือเปล่าแต่ที่แน่ๆคือพวกเราเป็น “แต้จิ๋วชน” แน่นอนครับ

การอพยพครั้งใหญ่ของคนจีนโพ้นทะเล (Oversea Chinese) เกิดขึ้นราวๆปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงที่ราชวงศ์ชิงใกล้ล่มสลาย สำหรับเมืองไทยนั้นคนจีนเริ่มหลั่งไหลเข้ามามากในสมัยรัชกาลที่ 3 และมาลงหลักปักฐานกันในกรุงเทพแถบสำเพ็ง และ เยาวราช

นอกจากนี้กลุ่มชาว “จีนแคะ”ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกลุ่ม “กบฏไต้เผง” ที่ถูกปราบปรามก็ถอยร่นอพยพหนีลงมายังบริเวณแถบอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

ท้ายที่สุดผมคิดว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรานั้นส่วนหนึ่งมาจากการทำสงครามแก่งแย่งดินแดนกัน ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาแสวงหาสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าและอีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการอพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งดูเหมือนมันจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนเราจะตัดสินใจ...ใช่หรือเปล่าครับ?

Hesse004

Jan 6, 2008

“เขื่อนปากมูล” บางเรื่องที่ชนชั้นกลางไทยไม่เคยได้รู้




นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนมกราคม ปี 2551 ได้ตีพิมพ์คำปาฐกถาพิเศษของท่านอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองไทย”โดยมุ่งประเด็นไปที่ “คนชั้นกลางกับวัฒนธรรมการเมืองไทย” หลังจากที่ผมอ่านบทความชิ้นนี้จบทำให้ผมนึกไปถึงเรื่อง “เขื่อนปากมูล” ที่เมื่อปีกลายมีโอกาสได้ค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียมเขียนโครงร่างงานวิจัยครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่างานในระยะหลังๆของท่านอาจารย์นิธิ มักเน้นไปที่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรภายในชุมชนมากขึ้น บางทีเมื่อท้องถิ่นสามารถจัดการดูแลทรัพยากรของพวกเขาได้ดีพอแล้วอำนาจรัฐที่ต้องมาจากเหล่านักเลือกตั้งหรือรัฐราชการอาจจะด้อยความสำคัญลงไป

“เขื่อนปากมูล” นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในหลายประเด็นครับ ประเด็นแรกนั้นเขื่อนปากมูลสะท้อนให้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่มีการพัฒนาแบบ “ทวิลักษณ์”หรือ Dualism

ก่อนจะกล่าวถึงคำว่า Dualism นั้น ท่านผู้อ่านเคยสงสัยมั๊ยครับว่าทำไมช่วงหยุดปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดยาวๆ จึงเกิด “ปรากฏการณ์รถโล่งในเมืองกรุง” นอกเหนือจากเหตุผลที่คนกรุงออกไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง คือ คนชนบทกลุ่มใหญ่เดินทางกลับบ้านด้วยครับ

ดังนั้นภาพชินตาพวกเราทุกๆปีในทุกๆเทศกาล คือ ภาพคนแย่งกันขึ้นรถทัวร์ รถไฟ เครื่องบินรวมไปถึงท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถราในช่วงเวลาใกล้สิ้นปี ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีสาเหตุจากการพัฒนาแบบ “ทวิลักษณ์” ครับ

การพัฒนาแบบ “ทวิลักษณ์” มีฉันทคติอยู่ตรงที่ภาคเศรษฐกิจหนึ่งจำที่จะต้องเป็น “เบี้ยล่าง” ให้กับอีกภาคเศรษฐกิจหนึ่ง อย่าง “ภาคเกษตร”จำเป็นต้องเป็นเบี้ยล่างของ “ภาคอุตสาหกรรม” หรือ “ภาคชนบท” จำต้องเป็นเบี้ยล่างให้กับ “ภาคเมือง”

ความหมายของเบี้ยล่างนั้นกินความตั้งแต่เป็นแหล่งแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกที่พร้อมจะถูกป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของ ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเมือง และท้ายที่สุดเบี้ยล่างอีกนัยยะหนึ่งก็กลายเป็นแหล่งระบายสินค้าออกของภาคเมืองอีกทีหนึ่ง

ฉันทคติดังกล่าวเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ (อีกแล้วครับท่าน) โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งกรณีของบ้านเรานั้น “พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแบบทวิลักษณ์ระหว่างภาคเมืองกับภาคชนบท ภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม

ผลพวงของการพัฒนาแบบทวิลักษณ์นั้นแม้จะทำให้อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจดูสูงจนน่าปลื้มใจแต่กลับกลายเป็นว่าการกระจายรายได้หรือความเท่าเทียมกันของคนในสังคมกลับแย่ลง ตรงนี้มันก็มาจากฉันทคติของนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกอีกเหมือนกันครับที่มองว่าหากผลผลิตมวลรวมมันเพิ่มขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็จะกระจายไปยังผู้คนต่างๆในประเทศนั้นเองเหมือนเวลาเราใช้สปริงเกิ้ลรดน้ำต้นไม้ น้ำจะกระจายไปยังต้นไม้ต่างๆ แนวคิดเช่นนี้เรียกว่า Trickle down effect ครับ

อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวดูจะใช้การไม่ได้กับ"ประเทศกำลังพัฒนา"ที่ธนาคารโลกเป็นคนแบ่งอีกเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยเชิงสถาบันบางอย่างที่ทำให้แนวคิดดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล ปัจจัยเชิงสถาบันที่ว่านี้มีตั้งแต่โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนวัฒนธรรมชุมชนของท้องถิ่นนั้นๆ

กรณีของเขื่อนปากมูลก็เป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเข้าใจผิดของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ไร้เดียงสาที่ “ลืม” นึกไปถึงต้นทุนที่สูญเสียนอกเหนือจาก ค่าก่อสร้างเขื่อน หรือต้นทุนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ต้นทุนที่ว่าเป็นต้นทุนของชุมชนที่ต้องพลัดพรากแตกแยกเมื่อมีเขื่อนมาลง ต้นทุนทางวัฒนธรรมอย่างชุมชนหาปลาริมแม่น้ำมูนที่โดนผลกระทบกันเต็มๆ ต้นทุนที่ว่ายังรวมไปถึงความสูญเสียความสมดุลของทรัพยากรประมงน้ำจืดบริเวณแม่น้ำมูน

เมื่อ 8 ปี ที่แล้วมีงานวิจัยของ World Commission on Dams ที่ออกมาตบหน้าผู้เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลทั้ง EGAT และ World Bank โดยงานดังกล่าวตั้งข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าของโครงการเขื่อนปากมูนซึ่งดูเหมือนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ดูจะไม่คุ้มกับต้นทุนหลายต่อหลายอย่างที่เสียไปท้ายที่สุดดูเหมือนว่า “เขื่อน” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่เข้ามาปล้นชิงทรัพยากรท้องถิ่นไปแล้ว ไม่เฉพาะเมืองไทยประเทศเดียว เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาอย่าง บราซิลกรณีเขื่อน Sobradinho

ในฐานะที่เป็นคนเมือง, ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าการเปิดปิดประตูเขื่อนนั้นมีความสำคัญมากเพราะส่งผลต่อวิถีการทำประมงของชาวบ้านริมมูนเนื่องจากเกี่ยวกับการเข้ามาหากินของปลาจากลุ่มน้ำโขง

แม้ว่าเมื่อปี 2545 จะมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เสนอให้ EGAT ควรเปิดประตูเขื่อนตลอดทั้งปีเป็นเวลา 5 ปีนั้น แต่รัฐบาลยุคนั้นเลือกที่จะให้เปิดเพียงแค่ 4 เดือนปิด 8 เดือน และล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีมติให้ปิดประตูเขื่อนถาวรตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

พลันที่รัฐบาลมีมติออกมาเช่นนี้ทัพของชาวบ้านแม่มูนก็เคลื่อนมายังเมืองกรุงเพื่อเรียกร้องให้รัฐทบทวนมติดังกล่าว
ในฐานะคนเมือง (อีกครั้ง), ผมก็เพิ่งรู้อีกเช่นกันว่า “สมัชชาคนจน” ก็มีจุดเริ่มต้นจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูนยังเป็นกรณีศึกษาการต่อสู้ของชาวบ้านกับอำนาจรัฐ ถ้าเป็นสมัยโบราณคนที่ขัดขืนอำนาจรัฐมักจะถูกตราหน้าว่าเป็น “กบฏ” และการปราบปรามผู้ขัดขืนในอดีตมีตั้งแต่”ถีบลงเขาเผาถังแดง” มาจนกระทั่งอุ้มฆ่า

แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้บนท้องถนนหน้าทำเนียบเพื่อร้องคืน “ทรัพยากรท้องถิ่น”ที่พวกเขาเคยมีแต่กลับถูก “อำนาจรัฐ” ปล้นชิงไป โดยอาจจะต้องเผชิญกับการปราบปรามรูปแบบใหม่ อาทิ ใช้เทศกิจเมืองกรุงเข้าขับไล่ หรือแม้กระทั่งปล่อยหมาตำรวจไปกัดชาวบ้าน โทษฐานที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชาวเมืองหลวง

ท้ายที่สุดผมขอทิ้งคำถามให้ท่านผู้อ่านลองกลับไปคิดเล่นๆดูครับว่า“การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีนั้นมันควรจะเป็นอย่างไร?” มันใช่เรื่องของการปั่นอัตราการจำเริญเติบโตให้สูงๆไว้เพื่ออวดชาวบ้านหรือเปล่า? หรือ มันคือการส่งเสริมให้ตลาดหุ้นไทยมีโวลุ่มซื้อขายในแต่ละวันสูงๆ หรือ มันคือการพูดถึงค่าเงินบาทที่ต้องอ่อนแข็งให้ได้ตามระดับที่ผู้ส่งออกไทยพึงพอใจ หรือ มันจะเป็นแค่ให้คนไทยทั้งในเมืองและนอกเมืองหลวงมีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ก็อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นแหละครับว่ารัฐไทยเรามีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ทวิลักษณ์” มาเกือบ 50 ปีแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าไอ้การพัฒนาที่เรานิยามกันตามคุณค่าของฝรั่งนั้นมันจะใช้ได้จริงหรือเปล่าโดยเฉพาะกับชาวบ้านแถวๆเขื่อนปากมูล...สวัสดีปีใหม่ครับ

Hesse004

ปล.ผมขอไว้อาลัยให้กับการจากไปของ “คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” ผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตต่อสู้ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก “เขื่อนปากมูล” ครับ