Dec 24, 2007

“Warlords”เบื้องหลังชัยชนะมักมีซากศพกองทับถมอยู่




นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมากระแส “จีนนิยม” ได้ทำให้ภาพยนตร์จีนตื่นตัวอีกครั้งหนึ่ง การไปปรากฏโฉมของ Crouching Tiger , Hidden Dragon (2000) ของ อั้ง ลี่ (Ang Lee) ในเวทีออสการ์นั้น ได้กรุยทางให้หนังจีนกำลังภายในเรื่องต่อๆมาอย่าง Hero (2002)และCurse of the Golden flower (2006) ซึ่งเป็นผลผลิตของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่นั้นสามารถออกไปโกยเงินต่างประเทศตลอดจนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหนังดังจากแดนมังกรผ่านผลงานการกำกับของนักทำหนังชาวจีนอย่าง อั้ง ลี่ และจางอี้โหม่ว (Yimou Zhang)เป็นต้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่าหนังจีนที่ส่งออกขายต่างประเทศส่วนใหญ่นั้นมีเนื้อเรื่องหนักไปทางหนังย้อนยุค (Period film) ครับ ตัวอย่างเช่น Hero (2002) ของจางอี้โหม่ว ที่เล่าเรื่องการลอบสังหารจักรพรรดิจิ๋นซี ขณะที่ Curse of the Golden flower (2006)ของจางอี้โหม่วอีกเช่นกัน พี่ท่านก็ย้อนอดีตไปในสมัยราชวงศ์ถังที่ว่าด้วยเรื่องราวของการฆ่าฟันกันในราชสำนัก

อย่างไรก็ดีมิใช่ อั้งลี่ หรือจางอี้โหมว่ เท่านั้นที่จะเหมาสัมปทานทำหนังจีนย้อนยุคนะครับ เพราะช่วงปีนี้มีภาพยนตร์จีนพีเรียดอย่างน้อย 3 เรื่องที่กำกับโดยฝีมือผู้กำกับชาวจีน เริ่มจากงานของ แดเนียล ลี (Daniel Lee) กับ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon (2008) หนังว่าด้วยเรื่องราวของ “จูล่ง”ขุนพลเอกแห่งแคว้น “จ๊กก๊ก” ในยุคตอนปลายของสามก๊ก ขณะที่ จอหน์ วู (John Woo) ก็หยิบ “ยุทธการผาแดง” (The battle of red cliff) ในสามก๊กอีกเช่นกันมาสร้างใหม่ให้อลังการเพื่ออวดโฉมหน้าของหนังจีนในปี ค.ศ.2008 ที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน

สำหรับเรื่องที่สามซึ่งเป็นเรื่องที่ผมอยากหยิบมาเล่านั้น คือ เรื่อง Warlords (2007) ของ ปีเตอร์ ชาน (Peter Chan) ครับ ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้มีพลังดึงดูดอย่างน้อย 2 อย่าง คือ เนื้อหาอันเข้มข้นที่กล่าวถึงการเข่นฆ่ากันของสามพี่น้องร่วมสาบาน นอกจากนี้พลังดึงดูดจากดาราใหญ่ของเอเชียอย่าง เจ๊ท ลี หรือ หลี่ เหลียน เจี๋ย(Li Lian Jie) , หลิว เต๋อ หัว (Andy Lau) และ ทาเคชิ คาเนชิโร่ (Takeshi Kaneshiro)เพียงเท่านี้ Warlords ก็กลายเป็นหนังที่น่าดูไปในทันใดครับ

ตามธรรมเนียมครับ, ผมขออนุญาตไม่เล่าเรื่องเหมือนเดิมเพราะเกรงจะเสียอรรถรสในการชม โดยส่วนตัวแล้วผมชอบหนังเรื่องนี้มากครับและตั้งใจจะกลับไปดูซ้ำอีกรอบ

Warlords ของ ชาน นั้น กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนช่วงราชวงศ์ชิง (แมนจู) ขณะที่พระนางซูสีไทเฮากำลังเรืองอำนาจอยู่ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์นี้ใกล้สิ้นบุญแล้ว ทั้งนี้ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินทำให้ราษฎรจีนเดือดร้อนกันทุกข์หย่อมหญ้าจนเป็นที่มาของ “กบฎไต้ผิง” (Taiping Rebellion) นั่นเองครับ

กบฎไต้ผิง กินระยะเวลานานถึง 21 ปี (1850 - 1871) กล่าวคือ กลุ่มผู้ก่อกบฏเริ่มขัดขืนอำนาจของราชสำนักตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 กบฎได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นการต่อสู้ของมวลชนชาวจีนที่ต้องอดอยากปากแห้งจนทำให้เกิดการปล้นสะดมไปทุกหย่อมหญ้า มีการตั้งชุมนุม “โจร” เพื่อปล้นสะดมอาหารจากคนรวยหรือแม้กระทั่งจากกองทัพรัฐบาลเอง

กลุ่มกบฏสามารถยึดดินแดนทางตอนใต้ของจีนได้จนสามารถใช้เมือง “นานกิง” ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าเป็นฐานบัญชาการ ด้วยเหตุนี้เองกองทัพรัฐบาลต้องหาทางปราบกลุ่มกบฏเหล่านี้ให้ได้เพราะมิเช่นนั้นแล้วแผ่นดินจีนอาจถูกแบ่งด้วยน้ำมือของกบฏ

หนังเปิดมาด้วยภาพคนตายเป็น “เบือ” ครับ คำว่า “เบือ” เนี่ยน่าจะเห็นภาพว่าตายกันมากขนาดไหน ปีเตอร์ ชาน พยายามสื่อให้เห็นความรุนแรงและความไร้สาระของสงคราม การที่เราต้องเห็นภาพสยดสยองในฉากหนังนั้นทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าสงครามเป็นประดิษฐ์กรรมที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

ประเด็นหลักที่ดูจะขับเน้นในหนังเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มิตรภาพของคนแปลกหน้าอย่าง “ผางชิงหยุน”ที่แสดงโดย หลี่ เหลียน เจี๋ย และชาวโจรคุณธรรมอย่าง “เฉาอี้หู” ซึ่งแสดงโดยพี่หลิวนั่นเองและ “จางเหวินเฉียง” ที่รับบทโดยทาเคชิ คาเนชิโร่ แม้ว่ามิตรภาพดังกล่าวได้พัฒนาจนถึงขั้นสาบานเป็นพี่น้องกันที่พร้อมจะตายและล้างแค้นให้กันแต่เรื่องราวทั้งหมดกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทั้งสามคาดคิดไว้ครับ

“ผาง ชิง หยุน” เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่ทะเยอทะยานและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้นได้โดยไม่สนใจวิธีการว่ามันจะถูกหรือผิด ตัวละครอย่างนายพลหม่านั้นเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอุดมคติกับการกระทำซึ่ง หลี่ เหลียน เจี๋ย เล่นบทนี้ได้สุดยอดครับ ทั้งสีหน้าแววตาและอารมณ์ที่แสดงออกมา

“เฉา อี้ หู” คือ ตัวแทนของชาวบ้านซื่อๆธรรมดาที่ต้องการรบเพื่อความอยู่รอดเท่านั้นเพราะเขาโดนอำนาจรัฐรังแกมาโดยตลอดจนต้องแปลงสภาพไปเป็นขุนโจร แม้ว่าการเข้าสู่กองทัพปราบกบฏไต้ผิงของอาเฉานั้นจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์อะไรมากมายแต่กลับกลายเป็นเรื่องของปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีตัวละครตัวนี้กลับมีพัฒนาการในเรื่องอุดมคติและมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นหลังจากที่เขาต้องตรากตรำในสมรภูมิรบเป็นเวลานาน

“จางเหวินเฉียง” แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคำสาบานของ “พี่น้อง”แม้ว่าท้ายที่สุดเขาจะได้เรียนรู้ “ราคาของความไร้เดียงสา”จากผลพวงของคำว่า “อำนาจ” และสัจธรรมที่ว่า “เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน”

เหตุการณ์ใน Warlords เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วครับ การแก้ปัญหาของมนุษย์ยังคงเน้นไปที่สงครามการและการต่อสู้อยู่ ผู้แข็งแรงกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า มีกลยุทธ์มากกว่า คนเหล่านี้มักได้รับชัยชนะครับ อย่างไรก็ตามชัยชนะแต่ละครั้งนั้นมักมีกองซากศพของเพื่อนฝูงเรา พี่น้องเราแม้กระทั่งคนที่เรารักนั้นกองทับถมอยู่ ขณะที่ “ตีน”ของเรากำลังเหยียบคนเหล่านั้นขึ้นไปเสวยสุขจากลาภยศ สรรเสริญหรือแม้แต่มีชื่อแปะไว้ในบรรทัดประวัติศาสตร์

มาถึงวันนี้สงครามการแย่งชิงอำนาจได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วครับจาก “สนามรบ”สู่ “สนามเลือกตั้ง” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆจะเป็นเพียง “เบี้ยหมาก”ตัวหนึ่งในกระดานของขุนศึกนักเลือกตั้งทั้งหลายที่พอสงครามเลือกตั้งจบลงไปเมื่อไหร่ ประชาชนเช่นเราๆก็ไม่ต่างอะไรกับกองศพที่นักเลือกตั้งเหล่านั้นเหยียบขึ้นไปเถลิงอำนาจได้ในที่สุดและก็ดูเหมือนว่าเราเองก็ไม่ได้อะไรเลยกับชัยชนะเหล่านั้น...ใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Dec 17, 2007

The Good Shepherd “เด็กเลี้ยงแกะของเจ้าโลก”




ความหมายของคำว่า “เด็กเลี้ยงแกะ”นั้นดูจะมีความหมายไปในทางลบมากกว่าทางบวกนะครับ ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับนิทานโบราณเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ”ซึ่งให้คติสอนใจในเรื่องการพูดโกหกหรือพูดให้เป็นธรรมะหน่อยก็คือศีลข้อ “มุสา” นั่นเอง

สำหรับหัวเรื่องที่จั่วไว้นี้, เป็นชื่อหนังครับ “The Good Shepherd” โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดีเรื่องหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ดูในปีนี้ครับ

หนังเรื่องนี้กำกับโดยยอดนักแสดงขวัญใจใครหลายคนอย่าง “โรเบิร์ต เดอ ไนโร” (Robert De Niro) แถมด้วยพลังดาราฮอลลีวู้ดอย่าง “แมตต์ เดมอน” (Matt Damon) แองเจลีน่า โจลี่ (Angelina Jolie) รวมถึงเดอไนโรเอง ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยแรงดึงดูดอยู่ไม่น้อยครับ

อย่างไรก็ตามผมคิดว่า “เนื้อหา”ที่สื่อสารผ่านหนังเรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้เราได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างกับสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์สากลร่วมสมัย”

ผมไม่แน่ใจนะครับว่า “ประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย”นั้นเริ่มต้นจากช่วงเวลาใด แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าน่าจะเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเมื่อปี ค.ศ.1945

อย่างที่รู้กันอยู่นะครับว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง “สหรัฐอเมริกา” ได้กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ 20 ผมตั้งข้อสังเกตว่าการธำรงอยู่ได้ของมหาอำนาจชาตินี้ขึ้นอยู่กับคาถาสามคำ คือ ประชาธิปไตย ทุนนิยม และ สงคราม ครับ

The Good Shepherd (2006) ของป๋าเดอไนโรนั้นได้พาให้เราไปรู้จักต้นกำเนิดขององค์กรหนึ่งที่โด่งดังที่สุดในโลกนั่นคือ CIA (The Central Intelligence Agency) ครับ ว่ากันว่าองค์นี้คือองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสอดแนมและเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งรู้จักกันในนามงานการข่าวหรือข่าวกรอง

เดอไนโร ได้สะท้อนให้เห็นภาพของความไม่มีเสถียรภาพในระดับการเมืองระหว่างประเทศนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กล่าวกันว่าสงครามที่สหรัฐอเมริกาพยายามสร้างขึ้นมานั้นเป็นสงครามอุดมการณ์ทางการเมือง หรือ “สงครามเย็น” กับค่ายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามทางฝั่งโซเวียตก็ไม่น้อยหน้าเพราะพวกเขาก็มีองค์กรลับอย่าง “เคจีบี”ที่เป็นคอยหาข่าวกรองของโลกสังคมนิยมเช่นกัน

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบในแง่ของการแสวงหางานข่าวกรองและยังทำให้เราได้รู้จักหลักและทริคในการเป็น “เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง” ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับงาน “สายลับ” จะว่าไปแล้วงานข่าวกรองสมัยใหม่นั้นน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากฝั่งยุโรปก่อนนะครับ อาทิในเยอรมันนั้นมีหน่วยงานตำรวจลับอย่าง “เก็ตตาโป” ส่วนพวกบริติชเนี่ยนับว่าเก่งกาจในเรื่อง “สายลับ” เลยทีเดียวสังเกตจากวรรณกรรมนักสืบอย่าง เชอร์ล๊อคโฮล์ม หรือ ตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ด

สงครามโลกครั้งที่สองนับเป็นตัวอย่างอันดีที่เราได้เรียนรู้การ “จารกรรม” ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ บางครั้งเหล่าจารชนสตรีอย่าง “มาตาฮารี” (Mata Hari) ก็สามารถทำงานข่าวกรองได้ดีไม่แพ้บุรุษเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งข้อมูลและความลับนั้นมันมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ครับรวมไปถึงมีต้นทุนที่ต้องเสียซึ่งบางทีถึงกับต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลย

โลกร่วมสมัยหลังสงครามนั้น “สหรัฐอเมริกา” พยายามสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและ ใส่ความคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพร้อมกับขยายแนวรบสงครามไปในดินแดนต่างๆ

หากมองในมิติเศรษฐศาสตร์นั้นสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาตนเองเป็นผู้ผลิต “บริการการพิทักษ์โลก”หรือ Save the world service จากภัยคุกคามต่างๆนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง อาทิ ภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 50 ถึง 90 หรือ ภัยก่อการร้ายในศตวรรษที่ 21

“บริการการพิทักษ์โลก”ของสหรัฐนั้นเปรียบประดุจดั่งสินค้าสาธารณะของโลกหรือ Global public goods ทั้งนี้คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของสินค้าสาธารณะที่ทำให้ไม่มีใครอยากผลิต คือ คุณสมบัติเรื่อง Free riders หรือ พวกชอบตีตั๋วฟรีแต่ไม่ชอบออกสตางค์

คุณสมบัติดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลทำเนียบขาวนับตั้งแต่ยุคของ “แฮรี่ เอส ทรูแมน , ดไวท์ ไอเซนฮาว์, จอห์น เอฟ เคเนดี้ , ลินดอน บี จอหน์สัน, ริชาร์ด นิกสัน ,เจอร์รัลด์ ฟอร์ด , จิมมี่ คาร์เตอร์ , โรนัลด์ เรแกน ,จอร์จ บุชผู้พ่อ , บิล คลินตัน และจอร์จ บุชผู้ลูก” นั้นนิยมส่งกองทัพไปก่อสงครามยังดินแดนต่างๆพร้อมกับส่งจารชนการข่าวกรองไปประจำยังประเทศต่างๆที่อเมริกาเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

รัฐบาลทำเนียบขาวที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมองว่าประเทศต่างๆในโลกนี้ (ยกเว้นอเมริกาประเทศเดียว) ต้องการความสงบแต่ไม่มีใครคิดจะจ่ายเงินเพื่อพิทักษ์โลกกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าสินค้าสาธารณะชนิดนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกทางบวก (Positive Externality) ที่เรียกว่า “ความปลอดภัย” นั้นแต่ในมุมกลับกันมันได้สะท้อนให้เห็นภาพการ “ครอบงำ” ของรัฐบาลทำเนียบขาวที่เที่ยวเข้าไปจุ้นจ้าน ณ ดินแดนต่างๆโดยอาศัยพลังอำนาจทางการทหารและการเงิน

องค์กรอย่าง CIA จึงได้ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อสืบสอดการข่าวจากประเทศต่างๆทั่วโลก ทุกวันนี้ข่าวกรองและความลับจึงกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูงลิ่วและยังเป็นเครื่องมือเอาไว้ต่อรองทางการเมืองอีกด้วย

The Good Shepherd ได้ทำให้เราเห็นถึงความแห้งแล้งของโลกร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกันของผู้คนดั่งคำพูดหนึ่งของฟิลิป อัลเลน ผู้อำนวยการซีไอเอคนแรก (ในเรื่อง)ที่บอกว่า “Friends can be enemies and enemies, friends” หรือ “จากมิตรกลายเป็นศัตรูและจากศัตรูกลับกลายเป็นมิตร”

The Good Shepherd ยังทำให้เราได้เห็น “ราคา”ของคนที่รักจะทำงานนี้ที่ต้องจ่ายทั้งในแง่ความรักที่ไม่สมหวัง มิตรภาพที่ต้องสูญหายและครอบครัวที่ล้มเหลว สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ "โลกของสายลับ" (ที่ยังไม่ไปจับบ้านเล็ก)ครับ

ผมชอบประโยคที่อดีตสายลับเคจีบีนามว่า “วาเลนติน มิโรนอฟ” (Valentin Mironov) พูดกับพวกซีไอเอในระหว่างโดนสอบสวนว่า
“Soviet power is a myth. Great show. There are no spare parts. Nothing is working, nothing, it's nothing but painted rust. But you, you need to keep the Russian myth alive to maintain your military industrial complex. Your system depends on Russian being perceived as a mortal threat. It's not a threat. It was never a threat. It will never be a threat. It's a rotted, bloated cow.”

ขออนุญาตแปลเป็นไทยแบบใส่อารมณ์นิดนึงนะครับว่า “โซเวียตของกูมันก็เป็นแค่ตำนาน เป็นแค่ปาหี่เท่านั้นเอง มันไม่มีห่าอะไรหรอก แต่พวกมึงก็พยายามเก็บไอ้ตำนานนี้ไว้เพื่อให้กองทัพของพวกมึงจะได้มีเหตุผลเอาไว้รบไงล่ะ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาวุธของพวกมึงจะได้ขายด้วยใช่มั๊ยล่ะ มึงสร้างภาพว่าพวกกูจะคุกคามมึง มันไม่ใช่อย่างที่มึงคิดหรอก เพราะโซเวียตมันก็แค่โครงผุๆเน่าๆโครงหนึ่งเท่านั้นเอง”

ท้ายที่สุดผมชักไม่แน่ใจแล้วว่าที่ผ่านมารัฐบาลทำเนียบขาวผู้ผลิตบริการการพิทักษ์โลกนั้นได้ถูกเด็กเลี้ยงแกะที่ชื่อ CIA หลอกไปแล้วกี่ครั้ง หรือ ยินยอมพร้อมใจที่จะเป็นหัวหน้าเด็กเลี้ยงแกะเสียเอง เพราะดูเหมือนทั้งอิรักและอัฟกานิสถานน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเรื่องนี้ใช่มั๊ยครับ?

Hesse004

Dec 14, 2007

Mr.Bean ’s Holiday “สุขกันเถอะเรา!”




นับตั้งแต่ซีรีส์ตลกชุด “มิสเตอร์บีน” (Mr. Bean) เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกนั้น ชื่อ “บีน”ได้กลายเป็นชื่อเรียกของ “นายโรแวน แอตกินสัน” (Rowan Atkinson) ยอดดาวตลกแห่งเกาะอังกฤษไปโดยปริยาย

ปัจจุบันนี้มิสเตอร์บีนของเรามีอายุ 52 ปีแล้ว ทั้งนี้พื้นเพของแกนั้นเป็นชาวเมืองนิวคาสเซิลครับ สำหรับประวัติการศึกษานั้นมิสเตอร์บีนเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University )และจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford University) นับว่าประวัติการศึกษาของพี่ท่านไม่ธรรมดาเลยนะครับ

“บีน” ก้าวเข้าสู่วงการแสดงโดยเริ่มต้นจากละครเวทีสมัยที่เรียนอ๊อกฟอร์ดและพัฒนาตัวเองกลายเป็นมือเขียนบทละครตลก

ที่อ๊อกฟอร์ดเขาได้พบกับคู่หูคอเดียวกันอย่าง “ริชาร์ด เคอร์ติส”(Richard Curtis)เจ้าพ่อมือเขียนบทหนังรักโรแมนติคคอมมาดี้ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันซึ่งทั้งบีนและเคอร์ติส ต่างเคยร่วมงานกันในภาพยนตร์จอใหญ่อย่างเรื่อง Four Weddings and a Funeral (1994) และ Love Actually (2003)

สำหรับ “บีน” แล้ว เขามีพรสวรรค์ทางการแสดงตลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับยอดดาวตลกแห่งเกาะอังกฤษในอดีตอย่าง “เซอร์ชาร์ล แชปลิน” (Sir Chalres Chaplin)

ผมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “หนังตลก” จากเมืองผู้ดีหลายเรื่องว่างานส่วนใหญ่นั้นดูจะมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เรื่องราวมักเล่าถึงวิถีชีวิตทั่วไปของอิงลิชชน อย่าง The Full Monty (1997) ที่มีฉากพ่อพาลูกไปดูฟุตบอลในวันหยุดสุดสัปดาห์

กลับมาที่ “บีน” กันต่อครับ , ซีรีส์ชุด Mr. Bean นั้นเริ่มออกอากาศครั้งแรกทางโทรทัศน์ไอทีวีของอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี1990 โดยซีรีส์ชุดดังกล่าวออกอากาศติดต่อกันจนกระทั่งสิ้นเดือนตุลาคม ปี1995 โดยจำนวนองก์ (Episode) ที่ออกอากาศนั้นมีทั้งสิ้น 14 องก์ ดูเหมือนลักษณะการนับนั้นจะคล้ายกับละครเวทีเลยนะครับ

ในซีรีส์ชุดบีนนั้นมีมือเขียนบท 3 คน ครับ คือ โรแวน แอตกินสัน , ริชาร์ด เคอร์ติส และ เบน เอลตัน ซึ่งแอตกินสันรับบทเป็น “มิสเตอร์บีน” เอง

มิสเตอร์บีนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของซีรีส์คอมเมดี้ในยุค 90 และส่งผลให้ชื่อของ “โรแวน แอตกินสัน” โดดเด่นขึ้นมาในฐานะยอดดาวตลกของโลกปัจจุบัน แอตกินสันนั้นจัดเป็นนักแสดงคุณภาพที่เล่นได้หลายบทบาทจริงๆ แต่ด้วยหน้าตาท่าทางของพี่แกแล้วดูยังไงก็ “ขำ” ครับ พูดง่ายๆ คือแกเป็น “ตลกโดยธรรมชาติ”

“บีน” ขยับขึ้นมาเป็นหนังใหญ่ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ครับโดยใช้ชื่อตรงตัวว่า Bean ซึ่งภาพของแอตกินสันก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวละคร “มิสเตอร์บีน” สมัยที่อยู่ในจอโทรทัศน์

ต่อมาเมื่อแอตกินสันมารับเล่นเป็น Johny English ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันเมื่อปี 2003 พี่แกได้สลัดภาพ “นายบีน” ให้หลุดไปจากภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะบทพูดหรือการแสดงที่ดูจะยียวนน่าหมั่นไส้แต่ก็ให้อารมณ์ขันไม่แพ้นายบีนเลยทีเดียว

และเมื่อแอตกินสันมารับบทเป็นพระนักเทศน์ใน Keeping Mom (2005) แกก็เล่นได้ดีตีบทแตกเสียกระจายซึ่งจะว่าไปแล้วมันน่าจะมาจากพื้นฐานการแสดงละครเวทีของเขาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาด้วย

สำหรับ Mr. Bean Holiday (2007) นั้นเป็นผลงานกำกับของนายสตีฟ เบนเดแลค ครับ (Steve Bendelack) หนังว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของนายบีนในดินแดนฝรั่งเศส ซึ่งเกี่ยวพันกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วย

ดูเหมือนหนังเรื่องนี้ผู้กำกับเองเหมือนจะแฝงฉากประชดประชันถึงรสนิยมการดูหนังอาร์ตของเหล่าชาวคานส์อยู่เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้หนังที่ฉายเทศกาลนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังอาร์ตที่ดูยากจนแทบจะต้องปีนกระไดดูกัน

ทุกวันนี้ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่า “ความสุข”เป็นอารมณ์ที่เราควรพึงสงวนไว้ให้ดีที่สุดครับ ท่านพุทธทาสเคยเขียนไว้ว่า “ความสุขกับความเพลิน” มันเป็นอารมณ์ที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละคนก็ดูเหมือนจะมีระดับของความสุขที่แตกต่างกันไปและตรงนี้เองที่วิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคขอมีเอี่ยวอธิบายเรื่องนี้กับเขาด้วยในเรื่อง “อรรถประโยชน์” หรือ Utility

หลายปีมาแล้วที่ผมรู้สึกเครียดจนอยากหาหนังตลกของโจว ชิง สือ หรือเช่าวีดีโอตลกมาดูแต่อารมณ์ที่ได้รับกลับไม่มีความสุขอย่างที่คิดครับ ซึ่งมันเหมือนเราตั้งใจเกินไปหรือเปล่าที่อยากจะให้มีความสุขหรือสนุก และเมื่อไอ้ความตั้งใจนั้นมันไม่บรรลุผล อรรถประโยชน์จากการดูหนังตลกของผมก็เลยไม่ได้รับความพึงพอใจสูงสุด

ในทางกลับกันมีบางสถานการณ์ที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีความสุขอะไรเอาซะเลยแต่ก็กลับเกิดอารมณ์สุขสนุกขึ้นมากะทันหันได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่งผมใส่เสื้อเชิ้ตสีฟ้าขึ้นรถเมล์ ทันใดนั้นก็มีคนยื่นเงินค่าโดยสารให้ผมกันยกใหญ่เลย เพราะคิดว่าผมเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมเองอดอมยิ้มกับอารมณ์“เหวอ”ครั้งนั้นไม่ได้

หนังเรื่อง Mr. Bean Holiday หรือหนังสกุล “บีน” หลายๆเรื่องนั้นดูแล้วอาจไม่มีปรัชญาสาระอะไรมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เสมอ คือ “รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ” ครับ ท้ายที่สุดผมเชื่อว่าความสุขนอกจากจะอยู่ที่การมองเห็นแล้วยังอยู่ที่ใจคิดด้วยใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Dec 2, 2007

“โรบินสัน ครูโซ” คำสารภาพของจักรวรรดินิยม





“โรบินสัน ครูโซ” (Robinson Crusoe)เป็นบทประพันธ์ชิ้นเอกของ “ดาเนียล เดโฟ” (Daniel Defoe) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ครับ กล่าวกันว่าหนังสือเล่มนี้ถูกตีความได้หลายมิติทั้งในแง่ของความบันเทิง จิตวิทยา ตลอดจนปรัชญาการเมือง

ดาเนียล เดโฟ นั้นเป็นนักเขียนที่อยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ซึ่งอังกฤษกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ด้วยแรงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นอกจากนี้ลัทธิการล่าอาณานิคมได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลแลนด์ ที่ล้วนมุ่งขยายดินแดนโดยเที่ยวไปยึดแผ่นดินชาวบ้านเขา ซึ่งว่าไปแล้วนี่ก็คือคลื่น “โลกาภิวัตน์” ลูกแรกที่เชื่อมโลกหลายดินแดนเข้าด้วยกันผ่านการล่าอาณานิคม

ผมตั้งข้อสังเกตต่องานเขียนของนักประพันธ์สายสกุลบริติช ไว้ว่านักเขียนชื่อดังส่วนใหญ่พยายามสะท้อนสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลพวงสืบเนื่องมาจากลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) และการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเองครับ

งานอย่าง “กัลลิเวอร์ ทราเวล” (Gulliver’s Travels) ของโจนาธาน สวีฟ (Jonathan Swift) ก็เป็นนิยายอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมในอีกรูปแบบหนึ่งหรือแม้แต่ “โอลิเวอร์ ทวิสต์” (Oliver Twist) ของคุณปู่ชาร์ล ดิคเก้น (Charles Dicken) ที่นำเสนอสภาพถูกเอารัดเอาเปรียบของ “เด็ก” ในโลกของทุนนิยมเมืองอย่างลอนดอน

งานเขียนเหล่านี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นในดินแดนต่างๆซึ่งท้ายที่สุดดูเหมือนว่าตัวเอกของเรื่องไม่ว่าจะเป็น “โรบินสัน ครูโซ” คุณหมอกัลลิเวอร์ หรือหนูน้อยโอลิเวอร์ ต่างต้องพยายามเอาตัวให้รอดในสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่นั้น
สำหรับ Robinson Crusoe (1954)ในภาคของภาพยนตร์นั้น “หลุยส์ บูเยล” Luis Buñuel) ผู้กำกับชั้นครูชาวสเปนได้ทำให้นิยาย โรบินสัน ครูโซ ดูมีเสน่ห์ไม่น้อยเลยครับไม่ว่าจะเป็นฉากหรือ เนื้อหาที่นำเสนอ และด้วยความที่บูเยลนั้นเป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในเรื่องของ “Surrealism” หรือแนวเหนือจริงอยู่แล้ว ทำให้สารที่ถ่ายทอดออกมานั้นมี “มิติ” ที่มากกว่าภาพยนตร์ผจญภัยทั่วๆไป

อย่างที่ผมกล่าวไปตอนต้นแล้วว่า โรบินสัน ครูโซ นั้นสามารถตีความได้หลายเชิงซึ่งในแง่ของความบันเทิงนั้นแน่นอนว่าเราได้เห็นสภาพของนายโรบินสันต้องอยู่คนเดียวโดยไม่ได้พูดจากับใครกว่า 20 ปี สภาพติดเกาะคนเดียวและต้องเอาตัวรอดด้วยหนึ่งสมองสองมือจึงเป็นความทุกข์ทรมานอยู่ไม่น้อย เหมือนที่แกพูดกับตัวเองว่าเกาะๆนี้มันก็ “คุก” ดีๆนี่เอง

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว โรบินสัน ครูโซ ได้ทำให้เราเห็นการปรับตัวของมนุษย์เมื่ออยู่คนเดียวในโลกของเขา

วันที่โรบินสันไม่มีโทรศัพท์มือถือสัญญาณแรง เขาไม่สามารถติดต่อกับใครได้นอกจากติดต่อกับจิตวิญญาณภายในของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าใจความหมายของมิตรภาพระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมา แมว ที่รอดจากเรือล่มด้วยกัน รวมไปถึงความเข้าใจต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างมดแมลง เพราะทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่พอจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาได้บ้าง

ประเด็นนี้ดูจะต่างกับ Cast Away (2000) ของโรเบิร์ต เซเมคคิส (Robert Zemeckis) ที่ได้ดาราเจ้าบทบาทอย่าง ทอม แฮงก์ (Tom Hank) มาเล่นเป็นคนติดเกาะ ตัวละครอย่างChuck Noland นั้นต้องไปติดเกาะที่ไม่มีแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตจะพูดคุยด้วย นอกจากลูกวอลเลย์ที่ตะแกสมมติให้ชื่อวิลสัน (Wilson)

แม้ว่า Cast Away จะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับ Robinson Crusoe แต่ประเด็นที่สื่อสารนั้นกลับแตกต่างกัน Cast Away ดูเหมือนจะนำเสนอภาพความเป็น “ปัจเจก”ของมนุษย์มากกว่า Robinson Crusoe อย่างไรก็ดีทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกัน คือ ความเงียบเหงาในโลกที่ไม่สามารถหลุดรอดออกไปได้ และสิ่งที่น่าแปลก คือ ทั้ง Noland และ Crusoe ไม่เคยคิดที่จะฆ่าตัวตายเลยครับ

ประเด็นของ Robinson Crusoe มาถูกขยายไปในบริบททางการเมืองมากขึ้นเมื่อเดโฟเพิ่มตัวละครอย่าง “ฟรายเดย์” (Friday) ซึ่งเป็นคนป่าที่โรบินสันช่วยชีวิตไว้จากการถูกคนป่าอีกเผ่าหนึ่งตามฆ่า

ด้วยเหตุนี้เองฟรายเดย์จึงเปรียบเสมือน “ทาส” ของโรบินสัน ครูโซ ไปกลายๆ เพราะบนเกาะแห่งนี้นอกจากเขาแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” เพิ่มขึ้นมาอีก โชคดีที่ฟรายเดย์มิใช่ผู้หญิง มิฉะนั้นผมว่าเรื่องของเดโฟ คงมีลักษณะคล้ายกับ “บลู ลากูน” (Blue Lagoon) ไป

เมื่อครูโซได้ฟรายเดย์มาเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมเกาะ เขาได้สอนให้ฟรายเดย์พูดภาษาอังกฤษ สอนให้ฟรายเดย์ยิงปืน สอนให้ฟรายเดย์ได้คิดจนกระทั่งมานั่งถกเถียงปรัชญากัน พูดง่ายๆคือ ครูโซทำตัวเป็นครูหรือ Master ของฟรายเดย์

การที่ทั้งเดโฟและบูเยลได้เสนอภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนบนเกาะร้างแห่งหนึ่งในฐานะศิษย์กับอาจารย์นั้น เมื่อเรามองกว้างออกไปเราจะเห็นความสัมพันธ์ในรูปแบบตัวแทนของ “ประเทศจักรวรรดินิยม”ที่สื่อผ่านทางโรบินสัน ครูโซ ซึ่งเป็นชาวตะวันตก กับ “ประเทศอาณานิคม” ซึ่งแสดงโดยชาวป่าอย่าง “ฟรายเดย์”

ยิ่งไปกว่านั้นเจตนาที่ผู้ประพันธ์ต้องการถ่ายทอดยังชี้ให้เห็น “การครอบงำ”ของโลกจักรวรรดินิยมในด้านต่างๆตั้งแต่ สอนให้พูด สอนให้ทำ สอนให้คิด เหมือนกับที่ครูโซสอนฟรายเดย์ให้เป็นอย่างที่ชาวตะวันตกเป็น

ในสายตาของชาวตะวันตกแล้วพวกเขามองว่าตัวเองนั้นศิวิไลซ์กว่าผู้อื่นเสมอ ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ดูเหมือนจะฉีกแนวความคิดนี้ออกไป เช่น Dances with Wolves (1990) , Instinct (1999)และ The last samurai (2003) ที่แสดงภาพของคนตะวันตกที่หลุดเข้าไปอยู่ในดินแดนที่ดูจะด้อยศิวิไลซ์กว่าไม่ว่าจะเป็นเผ่าอินเดียแดง ญี่ปุ่นสมัยเมจิ หรือแม้กระทั่งในฝูงลิง ตัวละครเหล่านั้นกลับเลือกที่จะปรับตัวและเรียนรู้อารยธรรมใหม่มากกว่าที่จะไปครอบกลืนสังคมดั้งเดิมนั้น

ผมขอยกตัวอย่างโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่โมเดลหนึ่งที่ได้กล่าวถึง “ความด้อยพัฒนา” ไว้ว่า สาเหตุสำคัญของการไม่พัฒนานั้นมาจากการพึ่งพาโลกที่ศิวิไลซ์กว่าตัวเองโดยเฉพาะพึ่งพาทางการค้าการลงทุน จนถูกประเทศเหล่านี้ “กระทำชำเรา” ด้วยการขูดรีดทรัพยากรไปใช้ในราคาถูกๆและกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าออกราคาแพง เปรียบเสมือนเป็นเมืองขี้ข้าบริวารของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย

โมเดลนี้รู้จักกันในชื่อ The Neocolonial Dependence Model ครับ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เด่นๆของสำนักนี้ คือ “ธีโอโทนิโอ ดอส ซานโตส” (Theotonio Dos Santos) นักเศรษฐศาสตร์ชาวบราซิล สาย Neo-Marxist สำนัก International Dependence

ดอส ซานโตส แกเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนานี้ไปได้ คือ ตัดความสัมพันธ์กับไอ้ประเทศที่ศิวิไลซ์เหล่านี้ซะ มันจะได้ไม่มาเอาเปรียบเราอีกต่อไป

ดูเหมือนแนวคิดนี้จะขัดกับน้ำมนต์ของ “เดวิด ริคาร์โด้” (David Ricardo) ที่อ้างเรื่อง “การค้าเสรี”เลยนะครับ เพราะริคาร์โด้แกเชื่อว่าการค้าเสรีทำให้โลกได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์

แม้ว่าโรบินสัน ครูโซ จะมีมุมมองในหลากหลายมิติโดยเฉพาะมิติการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ก็ดูเหมือนว่าภาพยนตร์ของบูเยลจะปิดท้ายเรื่องได้ดีว่าโรบิสัน ครูโซมอง “ฟรายเดย์” เป็นเหมือนเพื่อนเหมือนมิตรมากกว่าทาสรับใช้คนหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะเป็นเพียงคำสารภาพหรือข้ออ้างของลัทธิจักรวรรดินิยมที่มีต่อโลกอาณานิคมกันแน่ครับ

Hesse004