Nov 28, 2007

“Political Economy”การเมืองเรื่องของเศรษฐศาสตร์




ช่วงเวลาสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมนั่งอ่านบทความวิชาการเกี่ยวกับ Political Economy หลายเรื่องครับ โดยทั่วไปแล้วสำนึกของนักเรียนเศรษฐศาสตร์มองเรื่อง Political Economy เป็นเรื่องไกลตัว เพราะไม่ค่อยมีโมเดลประหลาดหรือกราฟพิสดารสักเท่าไร

อย่างไรก็ตามวิชาเศรษฐศาสตร์ในช่วงที่ภูมิปัญญายุโรปเบ่งบานนั้นก็ถือกำเนิดมาจาก Political Economy เนี่ยล่ะครับ ด้วยความที่เศรษฐกิจกับการเมืองมันมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก จะเห็นได้จากหนังสือคลาสสิคทางเศรษฐศาสตร์อย่าง The Wealth of Nation (1776) ที่เนื้อหาส่วนหนึ่งได้พูดถึงเรื่องบทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจด้วย

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้น Political Economy นั้นถูกบดบังด้วยอิทธิพลของเหล่านักเศรษฐศาสตร์สาย Neoclassical หรือ สำนัก Cambridge school ภายใต้การนำของซือแป๋ อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall) ที่เริ่มนำเอากราฟและสมการคณิตศาสตร์มาใช้อธิบายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ จนทำให้ภาพของ Political Economy นั้นดูจางหายไป

อย่างไรก็ดีการศึกษา Political Economy ก็ยังคงมีอยู่ครับแม้ว่านักเรียนเศรษฐศาสตร์ด้านนี้จะถูกมองเป็นพวก “กระแสรอง” หรือ “นอกคอก”ก็ตามที

ผมเองมิได้สันทัดเรื่อง Political Economy เท่าใดนัก แต่สิ่งที่พอจะจับประเด็นได้ คือ Political Economy ได้กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลที่ควรจะเป็น (The proper role of government ) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหล่านักคิดล้วนถกเถียงกันตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว

อย่างไรก็ตามดูเหมือนเราเองคงจะไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ของรัฐและรัฐบาลได้ เพียงแต่ว่าเราจะให้คนที่มาเป็นตัวแทนเรานั้นใช้อำนาจอย่างไรให้ถูกที่ถูกทาง อย่างที่ผมเคยเล่าไปในเรื่อง “บัญญัติสิบประการ”ของ “ซีซิล บี เดอมิล” ( Cecil B. Demille)แล้วว่า มนุษย์เราเป็นเพียงสมบัติของรัฐ (Property of state) หรือ เป็นมนุษย์ที่ได้รับเสรีภาพจากพระเจ้า

ผมว่าแค่เรื่องถกกันถึงบทบาทของรัฐที่ควรจะเป็นนั้นก็เรียกว่าเขียนตำราออกมาชนกันได้หลายเล่มเลย สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ในคอกแล้วมองว่ารัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจเนื่องจากกลไกตลาดมันล้มเหลว (Market Failure) ซึ่งสะท้อนให้เห็น “มือที่มองไม่เห็น”ของอดัมส์ สมิธ (Adam Smith) นั้นไม่สามารถช่วยจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพเหมือนที่เคย

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์นอกคอกหลายสำนักกลับไม่เชื่อมั่นในการแทรกแซงของรัฐครับ พวกนอกคอกเหล่านั้นนำโดย สำนัก Public Choice ของ James M. Buchanan ซึ่งมองว่ารัฐบาล นักการเมืองก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เองการผลิตนโยบายอะไรขึ้นมาแต่ละอย่างมักถูกกำหนดโดยกลุ่มผลประโยชน์ (Interest group)

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์สาย Neoclassical Poitical Economy ซึ่งหยิบเอาบทบาทของรัฐมาเป็นตัวแปรภายในร่วมวิเคราะห์ในระบบเศรษฐกิจ จนเป็นที่มาของคำว่า “Invisible foot” หรือ “เท้าที่มองไม่เห็น” คำๆนี้เป็นประดิษฐกรรมทางภาษาของ นายสตีเฟน มากี (Stephen Magee) ที่เชื่อว่าแทนที่รัฐจะเข้ามาช่วยให้สวัสดิการสังคมดีขึ้นกลับกลายเป็นว่าเข้ามาสร้างปัญหาและแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่เชื่อใน “ความล้มเหลวของรัฐ”หรือ Government failure ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ค่อยชอบเห็นรัฐเข้ามายุ่มย่ามกับเศรษฐกิจมากนัก

ผมคิดว่าข้อเขียนของอาจารย์ป๋วยเรื่อง “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”(2516) นั้นนับเป็นบทสรุปที่กระชับและชัดเจนอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์ป๋วยต้องการจะสื่อสารว่า “รัฐบาลนั้นควรจะมีบทบาทเช่นไรในการพัฒนาประเทศ” ซึ่งดูเหมือนเรียบง่ายไม่มีอะไรมากนัก แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยนั้นไม่มีใครสามารถทำได้

ผมไม่แน่ใจว่าความเรียบง่ายมันเป็นเรื่องที่ยากเกินไปหรือเปล่าสำหรับนักการเมืองไทย เพราะทุกวันนี้ผมนั่งฟังนักการเมืองต่างเร่ขายฝันกันเต็มไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยพบในฝันเหล่านั้น คือ “ความเรียบง่าย”อย่างที่ปรากฏในข้อเขียนของอาจารย์ป๋วยเลย

ท้ายที่สุดผมมีงานวิจัยที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ งานวิจัยชิ้นนี้ทำโดย “สมตุ้ย” เด็กนวดบ่าในห้องน้ำชายของร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ด้วยความที่แกสนใจพฤติกรรมการฉี่กับบุคลิกภาพลูกค้า แกเลยแอบสังเกตลูกค้าชาย 100 คนที่เข้ามายืนฉี่ที่โถ ผลการศึกษาบอกอย่างนี้ครับว่า

1.หนุ่มชอบสังคม เข้าห้องสุขาพร้อมกันหลายคน คนที่ไม่ปวดก็เข้าช่องยืนฉี่เป็นเพื่อนกันด้วย มักส่งเสียงคุยกันเสียงดังเหมือนตลาดสด ไม่ค่อยปกปิดสิ่งสงวน
2.หนุ่มขี้อาย ถ้ามีใครเดินเข้ามาฉี่ข้าง ๆ จะกดน้ำและเก็บช้างน้อยทันที เดินออกจากห้องสุขา แล้วค่อยกลับเข้าไปใหม่เมื่อปลอดคน
3.หนุ่มขี้ตกใจ ฉี่เป็นจังหวะสั้น ๆ พร้อมกลั้นหายใจ เหลียวมองคนรอบข้าง
4.หนุ่มสอดรู้สอดเห็น มองช้างน้อยของคนข้าง ๆ เปรียบเทียบกับตัวเอง ทำหน้าเศร้า
5.หนุ่มเปิดเผย ยืนห่างจากโถฉี่สองศอก ไม่ใช้มือบังช้างน้อย คุยเสียงดัง
6.หนุ่มซื่อตรง ไม่ใช้มือประคองช้างน้อย ฉี่ประทบจุดศูนย์กลางของโถอย่างต่อเนื่อง ความคลาดเคลื่อนต่ำกว่า ร้อยละ 0.5
7.หนุ่มมักง่าย หากโถฉี่ไม่ว่าง จะฉี่ใส่อ่างล้างหน้าแทน
8.หนุ่มขี้เล่น ฉี่โค้ง ฉี่สูงต่ำ ทดลองฉี่ข้ามไปโถข้าง ๆ
9.หนุ่มไม่รู้จักโต ฉี่แรง ๆ ไปที่ตะแกรงก้นโถพยายามทำให้เกิดฟองมาก ๆ
10.หนุ่มใจลอย ยืนชิดโถ ปลดเข็มขัด รูดซิปแล้วฉี่ราดชั้นใน
11.ทหารม้า ฟาดงวง ฟาดงา ใส่โถฉี่ หลังฉี่เสร็จ
12.หนุ่มประณีต ใช้กระดาษทิชชูซับเมื่อฉี่เสร็จ หรือเดินไปล้างที่อ้างหน้ามือ
13.คนไข้ ยืนฉี่นานกว่าปกติ เพราะรอให้แผ่นวัดน้ำตาลในเลือดแห้ง ยกเทียบกับชาร์ตสีข้างขวด
14.คนเมา ใช้มือขวาจับนิ้วโป้งด้านซ้าย เล็งตรงไปที่โถแล้วฉี่ราดกางเกง
15.คนขี้แพ้ ยืนนิ่งพักหนึ่ง รูดซิบลง ยืนนิ่งพักหนึ่งรูดซิปขึ้น สะอื้นไห้ แล้วเดินจากไปโดยไม่ได้ฉี่
16.คนเจ้าเล่ห์ ผายลมเงียบเชียบขณะฉี่ ทำหน้าไร้เดียงสา
17.แพทย์ ล้างมือ 1 ครั้ง เดินไปที่โถกดน้ำ 1 ครั้งฉี่กดน้ำ 2 ครั้ง ล้างมือด้วยสบู่ถึงข้อศอกนาน 2 นาที เช็ดช้างน้อยด้วยแอลกอฮอล์
18.จิตรกร จิตรกรรมฝาผนัง
19.สถาปนิก ฉี่สะพานโค้งกลมก้นหอยเกลียว
20.กวี เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวจนเยี่ยวหด บรรจงตดเบา ๆ อย่างเศร้าหมอง
21.ชายรักสนุก ทุกข์ถนัด ยืนถ่างขา หน้าผากชนฝาผนัง ฉี่แรกสะดุ้งโหยง น้ำตาร่วงหลังพวงมาลัย
22.นักการเมือง ประชาธิปไตยอยู่ในมือท่านแล้ว ลองก้มดูสิ

ปล. งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงมาจากForward mail ครับ อ้อ! แล้วก็อย่าลืมนะครับว่าวันที่ 23 ธ.ค. นี้ “ประชาธิปไตยอยู่ในมือท่าน” แล้วครับ

Hesse004

Nov 22, 2007

“ราโชมอน” เรื่องลวงๆในโลกกลมๆ





ผมมีโอกาสได้อ่าน “ราโชมอน” ฉบับละครเวทีที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ท่านได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี 2508 โดย “ราโชมอน” เป็นนิยายเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ ริวโนสุเกะ อากิตางาวะ นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ราโชมอนจัดเป็นวรรณกรรมคลาสสิคเรื่องหนึ่งของโลกตะวันออกเลยก็ว่าได้ครับ

สำหรับ “Rashomon” (1950)ในภาคภาพยนตร์นั้นก็ขึ้นชั้นเป็นหนังคลาสสิคเช่นเดียวกัน ด้วยฝีมือการกำกับของจักรพรรดิแห่งโลกภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่าง “อากิระ คูโรซาว่า” (Akira Kurosawa) คูโรซาว่าทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความลุ่มลึกมากขึ้นเพราะแม้เรื่องราวจะเรียบง่ายแต่กลับเต็มไปด้วยมิติด้านมืดของมนุษย์

ราโชมอนของคูโรซวานั้นมี Tagline เป็นภาษาอังกฤษที่กระชับว่า The husband, the wife...or the bandit? ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านที่เคยอ่านหนังสือหรือเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วย่อมเข้าใจความหมายคำโปรยของหนังเรื่องนี้ดีครับ

หนังเรื่องนี้มีท้องเรื่องอยู่ที่ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 12 โดยคูโรซาวาเลือกที่จะเปิดบทหนังด้วยบทสนทนาระหว่างพระกับคนตัดฟืน ซึ่งทั้งคู่กำลังติดฝนอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง ใกล้ประตูราโชมอนหรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ประตูผี” นั่นเอง

จากนั้นก็มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งในหนังสือของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ใช้ว่า “คนทำช้อง” เข้ามาร่วมแจมด้วย โดยระหว่างรอฝนหยุดตกนั้นทั้งสามได้พูดถึงเรื่อง การตายของซามูไรคนหนึ่ง และการจับมหาโจรอย่าง “โทโจมารุ”ได้ รวมไปถึงเรื่องของเมียซามูไรผู้ตายนั้น

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ใช้ตัวละครไม่มากเลยครับ แต่จุดเด่นกลับอยู่ที่บทสนทนาของตัวละครซึ่งจะว่าไปแล้วมันสะท้อนให้เห็นความคิดของมนุษย์เราได้ดี

ตามธรรมเนียมเดิมครับ, ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้เนื่องจากเกรงจะเสียอรรถรสในการชมหรือการอ่าน อย่างไรก็ตามผมว่าประเด็นที่น่าสนใจใน “ราโชมอน” นั้นอยู่ที่ความอ่อนแอของมนุษย์เราที่จะพูด “ความจริง” หากความจริงนั้นไม่เป็นประโยชน์กับเรา หากความจริงนั้นอาจทำให้เราต้องเดือดร้อน หรือ หากความจริงนั้นจะกลับมาทำร้ายเราภายหลัง ด้วยเหตุนี้เองที่คูโรซาว่าได้ชำแหละถึงด้านมืดของความเป็นมนุษย์ออกมาให้เห็นผ่านบทสนทนาของตัวละครทั้งหมด

คูโรซาวาใช้เทคนิคที่ชาญฉลาดในการถ่ายทำโดยให้ตัวละครแต่ละคนเล่าเรื่องของตัวเองเหมือนกำลังจะสารภาพอะไรบางอย่างกับคนดูตัดสิน โดยใช้กล้องจับไปที่ใบหน้าของตัวละคร ทำให้รู้สึกได้ว่าเขากำลังพูดอยู่กับเราสองต่อสอง

ผมเชื่อว่าตัวละครทุกคนในเรื่องมีเหตุผลของการเล่าเรื่องลวงซึ่งแตกต่างกันไป หรือ บางทีเรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ซึ่งคูโรซาวาแกก็ไม่ได้เฉลยหมดว่าความจริงมันคืออะไร

มหาโจรอย่างโทโจมารุก็ย่อมมีเหตุผลในการเล่าเรื่องของตัวเองให้ดูยิ่งใหญ่ เก่งกาจ น่าเกรงขาม ซามูไรผู้ตายก็ยังอุตส่าห์เข้าร่างทรงมาเล่าเรื่องของการตายของตัวเองให้ดูมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เมียซามูไรก็ต้องพยายามชี้ให้เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมตนเองถึงตกอยู่ในสภาพ “หนึ่งหญิงสองชาย” ขณะที่คนนอกอย่างคนตัดฟืนซึ่งคูโรซาว่าต้องการจะให้เป็นคนเฉลยเรื่องนี้นั้นก็ยังเล่าความจริงที่ตนเองเห็นแบบกั๊กๆ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ดูเหมือนพี่แกจะพูดความจริงออกมาไม่หมดโดยเล่าแต่เรื่องที่จะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลัง

จะว่าไปแล้วการไม่พูดความจริงเนี่ยมันมีหลายระดับดีนะครับตั้งแต่ “อำ” “โกหก” “ขี้ตู่” ขี้ตั๊ว” “ขี้ฮก” “โป้ปดมดเท็จ” ไปจนกระทั่ง ตอ...อะไรทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นด้านมืดของมนุษย์เราทุกคนเลยก็ว่าได้ซึ่งไม่จำกัดเพศ ชนชั้น หรือ ชาติพันธุ์

เพียงแต่เราจะกล่าวสิ่งเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนหรือถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “อำ” กับ “โป้ปดมดเท็จ” นั้น ถูกนำมาใช้คนละบริบทกันเลย อำนั้นให้อารมณ์ขำๆสนุกๆ แต่โป้ปดมดเท็จนั้นแสดงให้เห็นถึงความชั่วช้าสามานย์ทั้งที่มันก็อยู่ในตระกูล “โกหก”เหมือนกัน

ในทฤษฎีเกม (Game theory)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้น มีเกมหนึ่งที่ชื่อว่า Prisoner Dilemma หรือเกมที่คิดขึ้นเพื่อป้องกันการฮั้วของคนสองคน ซึ่งเกมนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของตำรวจในการแยกสอบปากคำคนร้ายเพื่อเค้นความจริงออกมาโดยใช้ “ขนาดของการลงโทษและความไม่เชื่อใจกันของคนร้ายเวลาแยกสอบปากคำ”เป็นกลไกในการสอบสวน

คนบางคนโกหกจนลืมไปแล้วว่าตัวเองเคยโกหกอะไรไว้บ้าง คนบางคนพยายามปกปิดเรื่องที่ตัวเองโกหกคนอื่นและพยายามหาเหตุผลมากลบเกลื่อนหักล้างแต่จนแล้วจนรอด “ความจริงก็คือความจริง” ความจริงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นความเท็จได้

พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นการโกหกได้ดีมากๆ นั่นคือ Infernal Affairs (2002) ของ แอนดรูว์ เลา (Andrew Lau ) และ อลัน มัก (Alan Mak) ครับ หนังกล่าวถึง โจรปลอมตัวมาเป็นตำรวจ และ ตำรวจก็ปลอมตัวไปเป็นโจร ผมชอบหนังเรื่องนี้ครับเนื่องจากเป็นหนังมาเฟียที่ว่ากันว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งไม่แพ้ The God Father เลยทีเดียว

ยิ่งดูหนังเรื่องนี้มากครั้งเท่าไร ผมยิ่งเห็นใจ “อาหมิง”ที่แสดงโดยพี่หลิวเต๋อหัว ซึ่งโกหกทุกคนมาตลอดตั้งแต่ภาคแรกยันภาคสุดท้าย พูดง่ายๆ คือ “โกหกมาทั้งชีวิต” จนท้ายที่สุดแล้วแกก็ไม่สามารถโกหกตัวเองได้อีกต่อไป ดูเหมือนว่ายิ่งโกหกมากขึ้นเท่าไร ยิ่งกลายเป็นนิสัยและสันดานไปในที่สุด และวันหนึ่งเราอาจจะมองเห็นตนเองในสายตาที่แปลกไปเพราะเราจะไม่มีวันรู้ว่าตัวตนที่แท้ของเรานั้นเป็นใครกันแน่

กลับมาที่ “ราโชมอน” ต่อครับ, ทุกวันนี้เหตุการณ์แบบราโชมอนมีอยู่ให้เห็นเต็มไปหมดตั้งแต่บนโรงพัก ในชั้นศาล งานการเมือง แม้กระทั่งวงการบันเทิงก็ยังเล่นราโชมอนกันเลย

อย่างที่ผมเรียนไปตอนต้นแล้วว่าจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่บทพูด ด้วยเหตุนี้เองบทพูดหลายตอนนั้นมีความน่าประทับใจมาก แม้จะเป็นบทง่ายๆแต่มันกลับมีความลึกซึ้งอยู่ภายในตัวเองอย่างที่คนทำช้องพูดไว้ว่า “มนุษย์ชอบโกหก ผู้คนเขาไม่พูดความจริงกันหรอก” ซึ่งบทภาษาอังกฤษบอกไว้อย่างนี้ครับว่า “No one tells a lie after he's said he's going to tell one”หรือลองอีกประโยคมั๊ยครับ “It's human to lie. Most of the time we can't even be honest with ourselves.” จะเห็นได้ว่าทัศนะการมองโลกของตาคนทำช้องนั้นดูจะขวางกับความคิดเชิงอุดมคติซึ่งต่างจากตัวละครอย่างพระโดยสิ้นเชิง แต่ก็ดูเหมือนสิ่งที่ตาคนนี้พูดมันก็มีส่วนถูกบ้างไม่ใช่หรือครับ เพราะไม่งั้นแกจะไม่พูดประโยคอย่าง “Maybe goodness is just make-believe.” ท่านผู้อ่านเห็นว่ายังไงครับที่ “บางทีความดีก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างกันขึ้นมาเองทั้งนั้น”

Hesse004

Nov 14, 2007

ความตายที่อยู่รอบตัวเรา(Death is all around)




ผมขึ้นหัวเรื่องได้น่า “หดหู่” ดีมั๊ยครับ เหตุผลหนึ่งที่อยากเขียนวันนี้ คือ การไว้อาลัยให้กับรุ่นพี่ที่สนิทกันท่านหนึ่งที่เพิ่งด่วนจากไปอย่างกะทันหันด้วย “อุบัติเหตุ”

พลันที่ผมทราบข่าวร้าย ความรู้สึกแรกคือ ตกใจและเสียใจครับ การจากไปของคนวัยสามสิบกว่าๆนั้นนับเป็นการจากไปก่อนวัยอันควร ผมเชื่อว่าถ้าพี่คนนี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อเขาจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมได้

ในช่วงวันสองวันมานี้ผมนั่งใคร่ครวญ ไตร่ตรองอะไรมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ความตาย” ใจหนึ่งอยากจะหาหนังที่เกี่ยวกับห้วงสุดท้ายของชีวิตคนมาดูแล้วก็เขียนแต่ ก็นึกขึ้นได้ว่าเคยเขียนเรื่องของ Babarian Invasion และ Christmas in august ไปแล้ว ท้ายที่สุดผมจึงอยากเขียนถึง “ความตายที่อยู่รอบตัวเรา”

“ความตาย” เป็นธรรมชาติของทุกชีวิตครับ ด้วยเหตุนี้เองการ “ดับสูญ” จึงเป็นกลไกหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่ให้เกิดภาวะสิ่งมีชีวิตล้นโลก ซึ่งความตายก็มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ตายดี ตายสงบ ตายทรมาน หรือแม้แต่ตายกะทันหันโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้เอง “ความตาย” จึงเสมือนจุดสิ้นสุดของชีวิต ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์ความตายคือภาวะสถิตย์หยุดนิ่งที่ไม่มีการพลวัตรเคลื่อนไหวอีกต่อไปแล้ว

จะว่าไปแล้วความตายของคนหลายคนกลับเป็นการสร้างอะไรบางอย่างที่มันยังคงจีรังยั่งยืนหรือที่เราเรียกว่า ความเป็น “อมตะ” อย่างเช่น ความตายของพระพุทธองค์ที่เรียกว่าเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ความตายของเจซัส (พระเยซู) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการไถ่บาปให้มวลมนุษย์ หรือแม้แต่ความตายของเชกูวาร่า นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนละตินช่วงทศวรรษที่ 60 นั้นก็เป็นความตายที่มีอิทธิพลต่อการปลดแอกประเทศต่างๆในอเมริกาใต้หลายประเทศ

หากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านหนังสือชุดพระไตรปิฎกศึกษาชุดที่ 2 ซึ่งท่านราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้เรียบเรียงเรื่อง “วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์” ขึ้นมานั้น ผมคิดว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เราชาวพุทธควรนำมาศึกษากันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจฉิมโอวาทของพุทธองค์ที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

เวลาไป “งานศพ” ผมอดนึกไม่ได้ว่าวันหนึ่งก็ต้องมีคนมามัดตราสังเรา รดน้ำศพเรา แบกเราใส่โลง มีพิธีสวดศพ เอาเราขึ้น “เชิงตะกอน” แล้วก็เผาร่างของเราในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นแน่กับชีวิตเราไม่ช้าก็เร็ว

ความตายทำให้เราพลัดพรากจากคนที่เรารัก จากของที่เราหวง จากสมบัติที่เราสะสม แม้กระทั่งตัวตนที่เราเคยมีซึ่งทั้งหมดดูเหมือน “ไม่มีอะไรเลย “ว่างเปล่า” “อนัตตา” แต่สิ่งที่เหลือไว้ คือ ชื่อ (เสียง) หรือ ชื่อ (เสีย) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนคนรุ่นหลังจะเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้แทนเรา พูดถึงเรื่องนี้ทีไรผมอดนึกถึงอมตะวาจาของท่านเซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (Sir John Maynard Keynes) คำพูดหนึ่งที่ว่า “In the long run we are dead” คำพูดของเคนส์คำนี้ได้กลายเป็นเหตุผลและข้ออ้างที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังต้องมานั่งถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ แม้ว่าเคนส์อาจจะต้องการสื่อเพียงว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า” ก็ตามที

“ความตายที่อยู่รอบตัวเรา”นั้น มีตั้งแต่ตายเองตามธรรมชาติ ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ตายโดยประสบอุบัติเหตุ หรือแม้แต่ตายโดยถูกฆาตกรรมและสงคราม แต่ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ความตายล้วนเป็นเรื่องของ “ภาวะดับสูญ” ซึ่งเราจะเข้าใจมันได้มากน้อยได้แค่ไหน

ผมเคยอ่านเรื่องราวของคุณหมอ “ประสาน ต่างใจ” ที่ท่านได้สร้าง “ศุขเวชเนอสซิ่งโฮม” ไว้สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และนอนรอความตายเพียงอย่างเดียว สถานที่แห่งนี้คุณหมอต้องการให้ความรู้กับคนใกล้ตายว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตซึ่งเราควรรู้จักที่จะรับมือกับมันอย่างสงบ ด้วยเหตุนี้เองการตายอย่างสงบนับเป็นบุญอันประเสริฐอย่างหนึ่งของชีวิต

ผมขออนุญาตหยิบตอนหนึ่งในหนังสือของคุณหมอประสานเรื่อง “ชีวิตหลังความตาย วิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” มาถ่ายทอดดังนี้ครับ

“พื้นฐานทางจิตวิทยาถือว่าความตายเป็นการจำพรากอย่างถาวรนิรันดร คือ ความไม่รู้ และความสงสัยอยากรู้ เมื่อไม่สามารถรู้จริงโดยตรรกะและเหตุผล เรื่องความตายจึงจัดไว้ด้วยกันกับเรื่องลี้ลับ ความไม่รู้และความลึกลับก็เลยกลายเป็น ความกลัว ความคิด ความเชื่อ ความหวังจึงเป็นหนทางเดียวของมนุษย์ที่จะพยายามหาทางออก เพื่อทำความเข้าใจความตาย และทฤษฎีทางจิตวิทยาหรือทางศาสนาก็เป็นหนทางที่จะช่วยแบ่งเบาความกลัวตายลงมาบ้าง ทฤษฎีต่างๆสรุปแล้วก็มีอยู่เพียง 2 แนวทาง คือ ตายแล้วก็หมดเรื่องหมดราว กับ ตายแล้วไปเกิดใหม่อีก หรือตายแต่ตัว แต่ร่างกายโดยจิตและวิญญาณยังไม่ตาย”

ผมสารภาพท่านผู้อ่านเลยครับว่า “ผมยังกลัวตายอยู่” ไอ้ความกลัวที่ว่ามันบวกไปด้วยความไม่รู้เหมือนที่คุณหมอประสานท่านบอก ไอ้ความกลัวที่ว่ามันยังปะปนไปถึงอารมณ์ที่เกิดจากความเจ็บปวดทรมานของร่างกาย

ผมไม่แน่ใจว่าลมหายใจสุดท้ายของตัวเองจะเป็นอย่างไร มันคงมีค่ามากพอที่จะทำให้ความคิดคำนึงของผม ณ ช่วงเวลานั้น ได้นึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต มันคงเป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่อาจจะเป็น “แก่นสารสุดท้าย”ของชีวิตซึ่งทำให้เราเข้าใจและ “ปลดปลง” ไปกับมัน รวมไปถึงการอโหสิกรรมและขออโหสิกรรมกับบาปเวรที่เคยก่อไว้ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ มันจะเป็นช่วงสุดท้ายที่ความทรงจำจากผู้คนทั้งหลายตั้งแต่คนในครอบครัวที่รักและมิตรสหายที่ผูกพันได้พรั่งพรูไหลผ่านเหมือนม้วนฟิล์มที่ถูกกรอกลับอย่างรวดเร็ว แต่ห้วงเวลานั้นมันจะเพียงพอหรือเปล่าที่จะอนุญาตให้เราได้รื่นรมย์และอิ่มเอมกับลมหายใจสุดท้ายนั้น

Hesse004

Nov 8, 2007

“เตะแหลกแล้วแหกค่าย” สงครามในเกมลูกหนัง




ผมชอบการตั้งชื่อแบบไทยๆครับ โดยเฉพาะหนังฝรั่งที่แปลเป็นชื่อภาษาไทย ยกตัวอย่างเช่น อภิมหาอมตะซีรีส์ภาพยนตร์อย่าง เจมส์ บอนด์ (James Bond) คุณปู่เสาว์ บุญเสนอ ท่านก็ตั้งชื่อหนังเรื่องนี้จนเป็นตำนานว่า “พยัคฆ์ร้าย007” หรือถ้าเป็นหนังเกรดบี อย่าง Nighteyes หลายท่านคงเกาหัวแกรกๆ แต่ถ้าบอกชื่อเป็นไทยว่า “แอบ” ที่นำแสดงโดย ทันย่า โรเบิร์ต (Tanya Robert) ดาราสาวทรงโตยุคต้น 90 ผมว่าหลายท่านคงร้อง อ๋อ! เป็นแน่แท้ โดยเฉพาะท่านชายทั้งหลาย (ภายหลังมีออกมาอีกหลาย “แอบ” จนผมจำไม่หวาดไม่ไหวเลยครับ)

การตั้งชื่อหนังต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้ง่ายในบริบทของคนท้องถิ่นนั้นนับได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งก็ว่าได้นะครับ ซึ่งเรื่องที่ผมอยากเขียนถึงในวันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการตั้งชื่อหนังแบบไทยๆได้มีเสน่ห์เรื่องหนึ่ง ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึง “เตะแหลกแล้วแหกค่าย”

ผมแปลกใจอยู่เหมือนกันว่ามีอะไรดลใจให้นักตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ตั้งชื่อหนังแบบนี้เพราะชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้คือ Victory ซึ่งหมายถึง “ชัยชนะ” นั่นเอง

Victory (1981) เป็นผลงานการกำกับของ จอห์น ฮูสตัน (John Huston) ผู้กำกับชั้นครูท่านหนึ่งแห่งวงการหนังอเมริกา Victory นับเป็นผลงานช่วงท้ายๆของผู้กำกับท่านนี้

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ผมสันนิษฐานว่าหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “ฟุตบอล” คงมีน้อยมากซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่มีหนังอย่าง Goal (ที่คาดว่าจะทำออกมาเป็นไตรภาคด้วย) หรือ Mean Machine (2001) หนังที่นำแสดงโดยอดีตนักบอลชื่อดังอย่าง วินนี่ โจนส์ (Vinnie Jones)

อย่างไรก็ดีการทำหนังฟุตบอลของชาวฮอลลีวู้ดนั้นอาจจะดูขัดเขินไปเสียหน่อยนะครับ สาเหตุหนึ่งคงเพราะชนชาติอเมริกาไม่ได้มีรากรักกีฬาประเภทนี้สักเท่าไร ฟุตบอลหรือ Soccer ในอเมริกาจึงเป็นแค่กีฬาของสุภาพสตรี ว่ากันว่าทีมบอลหญิงอเมริกานั้นประสบความสำเร็จมากกว่าทีมบอลชายเสียอีกครับ

ดังนั้นการสร้างหนังเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยนักฟุตบอลระดับ “ราชาลูกหนัง”อย่าง เปเล่ (Pele) มาเล่นด้วย นอกจากนี้ Victory ยังเต็มไปด้วยนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ในทศวรรษที่ 70 -80 อย่าง บ๊อบบี้ มัวร์ (Bobby Moore) อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษผู้ชูถ้วยบอลโลกเมื่อปี 1966 , ออสวัลโด้ อาดิเลส (Osvaldo Ardiles) อดีตขุนพลลูกหนังทีมชาติอาร์เจนติน่าและทีมไก่เดือยทอง เป็นต้น

หนังเรื่องนี้มีสูตรสำเร็จคล้ายกับหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วๆไปครับ กล่าวคือ มีชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษ อเมริกา เป็นพระเอกและมีเยอรมันเป็นวายร้าย ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ก็เหมือนกันที่แม้แต่ในเกมฟุตบอลเองทีมเยอรมันยังถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายอีกเหมือนเดิม

ผมว่ามิตินี้น่าสนใจยิ่ง เพราะหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเกินกว่า 40 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนยังมีการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” กันอยู่แม้ว่าจะเบี่ยงโยงไปที่เกมลูกหนังก็ตามแต่

Victory มีพล็อตเรื่องคล้ายๆกับ The great escape (1963) หรือ “แหกค่ายมฤตยู” ในชื่อไทย งานของผู้กำกับชั้นครูอีกท่านอย่าง จอห์น สเตอ์จ (John Sturges) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลิกที่คล้ายกันของ Hatch ที่นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ใน Victory กับ Hilt ที่แสดงโดย สตีฟ แมคควีน (Steve Mcqueen) ใน The great escape นั้น ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นความเหมือนโดยบังเอิญหรือเหมือนโดยจงใจเพราะตัวละครทั้ง Hatch กับ Hilt มีความคล้ายคลึงกันในฐานะเป็นเชลยศึกคนเดียวในค่ายกักกันที่มาจากทวีปอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้นการแสดงออกของทั้งสองคนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะมุมมองในความเป็นปัจเจกที่คิดจะแหกค่ายหนีไปคนเดียว ซึ่งต่างจากมุมมองของเชลยศึกจากพันธมิตรสายยุโรปที่คิดจะแหกค่ายออกไปเป็นกลุ่มหรือเป็นร้อยคนอย่างใน The great escape

นอกจากนี้ดูเหมือน “ฮุสตัน” จะจงใจบอกอะไรบางอย่างผ่านในหนังเรื่องนี้ว่าอเมริกันชนนั้นเล่นกีฬาด้วยเท้าไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ถ้ากีฬาที่เล่นด้วยมือแล้วพวกเขาก็ไม่เป็นรองใคร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นพี่แรมโบ้ของเราไปยืนเป็นผู้รักษาประตูในเรื่องนี้ครับ

หนังเรื่องนี้ถูกออกฉายก่อนฟุตบอลโลกปี 1982 ที่สเปน จะระเบิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เองหนังจึงพยายามใช้อดีตซูเปอร์สตาร์จากนานาชาติ (ยกเว้นเอเชียและแอฟริกา) มาเป็นตัวชูโรง ผมว่าการได้ เปเล่และบ๊อบบี้ มัวร์ มาเป็นดารานำนั้นก็เรียกว่าคุ้มแล้วล่ะครับที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะทั้งสองดูจะเป็นดาราที่ดีทั้งในสนามและบนแผ่นฟิล์มโดยเฉพาะคุณลุง “เปเล่” เนี่ยสุดยอดเลยครับ

ปัจจุบันเกมฟุตบอลก็ไม่ต่างอะไรกับสงครามชนิดหนึ่งที่มีการ “ยิง” เหมือนกันแต่เป็นการยิงประตูครับ... หุหุ ...ทั้งนี้กีฬาฟุตบอลได้กลายเป็นมาตรวัดศักยภาพของคนในชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้แฝงคำพูดบางคำไว้น่าสนใจตอนที่นายพลเยอรมันบอกกับลูกน้องว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่เยอรมันจะเอาชนะพวกอังกฤษในเกมลูกหนังได้เสียที

ฟุตบอลจึงกลายเป็นทั้งเรื่องของการเมืองและ การทำสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านจำได้ เหตุการณ์ฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม๊กซิโก รอบแปดทีมสุดท้ายอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับอาร์เจนติน่าของ “มาราโดน่า” ประเด็นเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ก็ถูกนำมาหยิบยกในเกมสงครามลูกหนังครั้งนั้นด้วย

นอกจากนี้ถอยไปเมื่อปี 1998 ฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส เกมระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านก็ถูกมีการหยิบประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองของสองประเทศนี้เมื่อครั้งสมัยต้นทศวรรษ 80 มาพูดกันอีก

มิพักต้องเอ่ยถึงตัวอย่างอันใกล้เมื่อต้นปีนี้ที่ทีมฟุตบอลไทยลงเผชิญหน้ากับทีมชาติสิงค์โปร์ กระแสแอนตี้“เทมาเสก”ก็ทำให้เกมไทเกอร์ คัพ นัดชิงเหมือนสงครามย่อยๆดีนี่เอง

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกถึงคุณค่าของชาติพันธุ์ พวกพ้อง หมู่เหล่า ซึ่งจะว่าไปแล้วการแสดงออกผ่านทางเกมลูกหนังได้ช่วยปลดปล่อยความคั่งแค้นเก็บกดบางอย่างของมนุษย์เราออกมา

Victory คือ ตัวอย่างอันดีที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์อันแยกออกจากกันได้ยากระหว่าง “กีฬา การเมือง และสงคราม” แม้ว่าเกมกีฬาสอนให้คนรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย แต่สงครามกลับไม่ได้สอนเช่นนั้นใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Nov 6, 2007

จาก Pyramid system ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 3)





ตอนที่แล้ว ผมเล่าถึง Danubian school และ Metodo style ซึ่งทำให้ทีมในแถบยุโรปตอนกลางอย่าง ฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นประสบความสำเร็จ ส่วนฟุตบอลแบบ Metodo ก็ทำให้ อิตาลีครองแชมป์โลกติดต่อกันสองสมัย และยังเป็นต้นกำเนิดของเกม Counterattack อีกด้วย

ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศในยุโรปต่างได้รับความบอบช้ำจากสงครามไปตามๆกัน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกเลยต้องย้ายวิกไปเตะในอเมริกาใต้ และในทศวรรษที่ 50 นี้เองครับที่ผมเกริ่นไปแล้วว่าเทพเจ้าลูกหนังได้ลงมาจุติแล้ว เทพเจ้าองค์นั้นก็คือ “บราซิล” ซึ่งมาพร้อมกับร่างทรงนามว่า “เปเล่” นั่นเองครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลนั้นน่าจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อ 50 กว่าปีมานี้ ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากสนามไปยังครัวเรือนได้ นอกจากนี้ผมเชื่อว่ามนุษย์เริ่มเบื่อสงครามกันแล้ว ดังนั้นการหันมาพัฒนาเกมลูกหนังก็เป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของคนในชาตินั้นๆได้อีกทางหนึ่ง

ฟุตบอลโลกครั้งที่ 4 (1950) ที่จัดขึ้นบนแผ่นดิน “บราซิล” นั้น นับเป็นครั้งแรกที่ต้นตำรับลูกหนังอย่าง “อังกฤษ”ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันหลังจากเล่นตัวอยู่นาน ว่ากันว่าฟุตบอลโลกในครั้งนั้นทำให้โลกได้เห็น “ลีลาแซมบ้า” ขนานแท้ด้วยรูปแบบการเล่นฟุตบอลบนพื้นที่สวยงามประกอบกับทักษะเฉพาะตัวที่สุดยอดของนักเตะบราซิล

บราซิลชุดปี 1950 สามารถทะลุเข้าไปชิงชนะเลิศกับทีมจอมเก๋าอย่าง “อุรุกกวัย” มหาอำนาจลูกหนังแห่งทศวรรษที่ 30 อย่างไรก็ตามบราซิลทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์โลกครับ สกอร์ 2 – 1 ทำให้อุรุกกวัยผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่สองเทียบเคียงอิตาลี

ผลพวงจากความพ่ายแพ้ทีมจอมโหดต่อหน้าแฟนบอลตัวเองในสนามชามยักษ์ Maracana Stadium ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของมหาอำนาจลูกหนังทีมใหม่อย่าง “บราซิล” ทีมที่เล่นฟุตบอลได้ตื่นตาตื่นใจและสร้างสีสันในฟุตบอลโลกมากที่สุด

ขณะที่บราซิลกำลังก่อร่างสร้างทีมในดินแดนลาตินนั้น ทางฟากฝั่งยุโรปเราต้องยอมรับว่าไม่มีใครสุดยอดเกินทีมชาติ “ฮังการี” แล้วครับ โดยเฉพาะฮังการีชุดปี 1954 นั้นได้สร้างตำนานลูกหนังบทใหม่ขึ้นพร้อมๆกับรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า MW ซึ่งสลับกับ WM ของ Herbert Chapman

ฟุตบอลโลกครั้งที่ 5 เมื่อปี 1954 บนแผ่นดินสวิตเซอร์แลนด์ “ฮังการี” คือ ทีมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดแม้ว่าจะได้รองแชมป์เพราะพ่ายเยอรมันตะวันตกไป แต่สำหรับในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วฮังการีภายใต้การกุมบังเหียนของ Gustav Sebes ได้ทำให้ขุนพลแมกยาร์แห่งลุ่มน้ำดานูบทีมนี้เกรียงไกรในยุโรปด้วยการเล่นเกมรุกที่ดุดัน โดยเฉพาะการมีผู้เล่นอย่าง ปุสกัส (Puskas) , ค๊อคซิส (Kocsis) , บ๊อซซิค (Bozzik) และ ไฮเด็กกุค (Hidegkuit)

ก่อนหน้าที่บอลโลกจะเริ่มขึ้น “ฮังการี ไดนาไมต์” ชุดนี้ได้สั่งสอนทีมสิงโตคำรามอังกฤษคาเวมบลีย์ด้วยสกอร์ 6-3 ก่อนจะมายำสิงโตกรอบอีก 7-1 ที่บูดาเปสต์ นับเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดีเลยทีเดียว

ว่ากันว่าช่วงทศวรรษที่ 50 นี้ คือ ช่วงเวลาของ “ฮังการี” และสโมสร “รีล มาดริด” อย่างแท้จริงเพราะทั้งสองครองความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินยุโรป นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ลูกหนังยังได้จารึกชื่อของ “เฟเรนซ์ ปุสกัส” ว่าเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งทศวรรษ 50 เคียงข้าง “อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่” คู่หูพระกาฬแห่งทีมราชันชุดขาว รีล มาดริด

“ปุสกัส” เจ้าของฉายา “นายพันแห่งลุ่มน้ำดานูบนั้นมีปมด้อยตรงขาโก่ง ตัวป้อมๆตันๆดูแล้วไม่น่าจะมีพิษสงอะไร แต่พงศาวดารลูกหนังโลกบันทึกไว้ว่าชั้นบอลของท่านนายพันนั้นเข้าขั้นโคตรบอลเลยทีเดียวครับ ขอแถมนิดหนึ่งครับปุสกัสเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นักฟุตบอลที่อายุยืนคนหนึ่งเลยทีเดียว

กลับมาที่เทพเจ้าลูกหนังอย่าง “บราซิล” กันต่อครับ, บราซิลมาประสบความสำเร็จกับสูตรการเล่น 4-2-4 ซึ่งทำให้บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรกเมื่อปี 1958 ที่สวีเดน สูตร 4-2-4 นี้ได้พลังขับเคลื่อนอย่าง วาว่า และ เปเล่ บราซิลไล่ถล่มเจ้าภาพในชิงชนะเลิศไป 5-2 พร้อมกับการแจ้งเกิดของไอ้หนูวัย 17 นามว่า “เปเล่” สำหรับ “สวีเดน” ในยุคนั้นก็จัดเป็น “เต้ย” ลูกหนังยุโรปทีมหนึ่งไม่แพ้ทีมฮังการี สวีเดนชุดนั้นมีจอมทัพอย่าง “นีลส์ ลีดโฮล์ม” อีกหนึ่งซูปเปอร์สตาร์ยุค 50 จากทีมเอซีมิลาน

สูตร 4-2-4 ถูกคิดค้นโดยสโมสรฟลามิงโก้ ตักกศิลาลูกหนังแห่งดินแดนแซมบ้า รูปแบบการเล่นดังกล่าวนับเป็นการปฏิวัติวงการฟุตบอลสมัยใหม่เลยทีเดียว การหันมาใช้กองหลัง 4 ตัวทำให้เกมรับมั่นคงมากขึ้น ขณะที่กองกลาง 2 ตัว จะคอยยืนบัญชาเกมและแจกบอลให้ปีกซ้ายขวารวมถึงแทงบอลทะลุให้กองหน้าเข้าไปพังประตู (Killing pass through) ระบบ 4-2-4 นี้เวลาเล่นเกมรุกแบ๊คสองข้างจะมาช่วยเติมเกมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพของเกมรุกนั้นลื่นไหลยิ่งขึ้นเพราะจะมีผู้เล่นขึงอยู่ในแดนฝ่ายตรงข้ามถึง 8 คน

ขณะที่ บราซิลและฮังการี ทำให้เกมฟุตบอลนั้นมีความสนุกโดยเน้นไปที่การเล่นเกมรุกนั้น อิตาลี ต้นตำรับ Metodo football กลับไม่คิดเช่นนั้นครับ เพราะฟุตบอลจากแดนมักกะโรนีมักนิยมเน้นเกมตั้งรับโดยเฉพาะทีมในลีกกัลโช่แล้ว “อินเตอร์ มิลาน” ได้สร้างสไตล์ฟุตบอลที่ชื่อว่า “คาตาเนคโช่” (Catenaccio) ขึ้นมา

“คาตาเนคโช่” เป็นรูปแบบการเล่นที่มาจากมันสมองของ Helenio Herrera เทรนเนอร์ของอินเตอร์มิลาน ยุคต้นทศวรรษที่ 60 “คาตาเนคโช่” หมายถึง โซ่ขนาดใหญ่ (ไม่ใช่โซ่ข้อกลางนะครับ) ที่คอยขึงเกมรับไม่ให้หลุดรั่ว รูปแบบการเล่น “คาตาเนคโช่”นั้นได้พัฒนาตำแหน่งผู้เล่นขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “ลิเบอโร่” (Libero) ซึ่งหมายถึงตัวฟรีในสนาม

ปกติแล้ว “ลิเบอโร่”จะคอยปักหลักอยู่หน้าประตูตัวเอง ยืนเป็นกองหลังตัวสุดท้าย รอเพื่อนที่เป็นเซนเตอร์หรือ Stopper คอยชนให้แล้วเก็บกวาดบอลให้พ้นอันตราย ผู้เล่นที่เป็นลิเบอโร่ได้ดีนั้นต้องมีเซนส์บอลชั้นเทพเลยทีเดียวครับ อีกอย่างผมว่าคุณสมบัติของผู้เล่นลิเบอโร่นั้นต้องมีบารมีด้วยครับ เพราะตำแหน่งดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว ยังเป็นตัวที่คอยบงการเกม เปิดเกมได้ และที่สำคัญต้องสั่งเพื่อนได้ด้วยครับ

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมานั้นมีเพียงทีมจากแผ่นดินยุโรปและภาคพื้นลาตินเท่านั้นที่ช่วงชิงความเป็นเจ้าลูกหนังขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ฟุตบอลดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย สำหรับตอนหน้าเราจะมาว่ากันถึงมหัศจรรย์บราซิลภายใต้บารมีของเปเล่และการกลับมาผงาดของทีมชาติอังกฤษกับระบบการเล่นที่เรียกว่า 4-4-2 ครับ

Hesse004

Nov 4, 2007

Christmas in August ข้างหลังภาพของ “เฮฮ จิน โฮ”




“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก” ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนหนังสือของบรมครู “ศรีบูรพา” ย่อมต้องซาบซึ้งตรึงใจกับประโยคสุดท้ายใน “ข้างหลังภาพ” (2480) อมตะนิยายรักของศรีบูรพาที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด

จะว่าไปแล้ว “ความรัก” คือ เรื่องที่มนุษย์เราดูจะให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยเจริญพันธุ์เนี่ย ความรักดูจะกลายเป็นแรงขับไปพร้อมๆกับความใคร่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว “ความรัก คือ อะไรกันแน่ล่ะครับ ?”

ผมตั้งคำถามได้โคตรเชยเลย

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ผมริอ่านเขียนเรื่อง “อันเนื่องมาจากความรัก” ลงในหนังสือรุ่น ซึ่งเพื่อนหลายคนต่างลงความเห็นว่า “เสี่ยวสนิท มิตรส่ายหัว” ครับ

และเมื่อยิ่งเติบโตขึ้นผมยิ่งเข้าใจแล้วว่า “ความรักมักกินไม่ค่อยได้” ด้วยเหตุนี้ความรักจึงเป็นอารมณ์หนึ่งของคนเราที่มาเติมความรู้สึกซึ่งครั้งหนึ่งดูเหมือนจะพร่องไปให้เต็มตื่นอีกครั้ง แต่ความรักจะสร้างสรรค์อะไรที่ดีได้หากเรารู้จัก “รักเป็น”

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมสัมผัสเรื่องราวของความรักมากมาย บางครั้งก็เป็นเรื่องรักของตัวเอง บางคราวก็เป็นของเพื่อนฝูง ซึ่งหลายต่อหลายเรื่องก็ไม่พ้นอกหัก รักคุด ส่วนเรื่องดีๆก็มีอย่างเรื่องรักที่ลงเอยถึงขั้นแต่งงานแต่งการกัน

แต่หลังจากพ้นเรื่องแต่งงานมาแล้ว หลายหนผมยังต้องมาสัมผัสเรื่องรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ตั้งแต่เรื่องรักครอบครัว รักลูก รักภรรยา รักสามี ไปจนกระทั่งตัดสินใจที่จะรักตัวเองในวันที่คิดจะหย่าร้าง

กลับมาเรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ดีกว่าครับ , ท่ามกลางความโรแมนติคที่ปรากฏในหนังรักเกาหลีนั้น Christmas in August (1998) ของนายเฮอ จินโฮ คือหนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ ด้วยเหตุผลคือความเรียบง่ายที่ลงตัวที่คนทำหนังต้องการจะสื่อ นอกจากนี้การนั่งดูหนังเรื่องนี้เหมือนนั่งดูเรื่องราวชีวิตจริงของคนๆหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องไปนั่งดู “ปาหี่ Reality Show”

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรที่คล้ายคลึงกับนวนิยายรักอย่าง “ข้างหลังภาพ”โดยบังเอิญ แม้ว่าหนังสือของศรีบูรพาจะมีอายุล่วงผ่านมา 70 ปีแล้ว แต่ตัวละครอย่างคุณหญิง “กีรติ” ก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่ในโลกแห่งความจริง เช่นเดียวกันกับที่ เฮอ จินโฮ พยายามสื่อให้เห็นภาพของ “จุงวอน” ที่เผชิญอารมณ์รักในห้วงวาระสุดท้ายของชีวิต

ว่ากันว่า “ความรัก” คือ ของขวัญจากพระเจ้าที่มอบให้มนุษย์แต่ละคนได้รื่นรมย์ในชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต แม้ของขวัญชิ้นนี้จะมาในช่วงเวลาที่ทั้งคุณหญิงกีรติและจุงวอนกำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ทั้งสองได้อิ่มเอมกับความทรงจำที่ดี

ผมเชื่อว่า “จุง วอน” คงรู้สึกคล้ายๆกับคุณหญิง “กีรติ” ที่ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับทั้งสองคน คือ ของขวัญชิ้นสุดท้ายจากพระเจ้านั่นเอง แม้จะส่งมาผิดเวลาไปสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเลยใช่มั๊ยครับ

ถ้ามองความรักในมิติของเศรษฐศาสตร์ บางทีมันอาจเป็นกลไกหนึ่งคล้ายกับกลไกราคาที่เป็นตัวจัดสรรทรัพยากรแห่งความสุขของคนสองคนที่มาพบกัน นั่นหมายถึงการเกิด “ดุลยภาพแห่งรัก”

และหากผมมองความรักเป็นสินค้าชนิดหนึ่งแล้ว ผมจะใช้ความยืดหยุ่นต่อความรัก (Love elasticity) มาเป็นตัวอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น คนประเภทรักเดียวใจเดียว คนจำพวกนี้เป็นพวกมีความยืดหยุ่นต่อความรักต่ำครับ (Inelasticity) กล่าวคือ ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหน คนประเภทนี้ก็ยังยึดมั่นรักคนๆนั้นอยู่วันยังค่ำ แต่ในทางกลับกัน คนเจ้าชู้มักมีความยืดหยุ่นต่อความรักสูง (Elasticity) เพราะพอเวลาผ่านไปแป๊ปเดียว เขาก็จะหันไปหารักจากคนอื่นเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองผมจึงสรุปความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรักว่ามันควรจะแปรผันตรงกัน กล่าวคือ ยิ่งเวลาผ่านไปเนิ่นนาน เราควรจะบริโภคความรักมากขึ้น แต่ขอเป็นการบริโภคในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณแล้วกันครับ ว่าแล้วก็ลองตั้งฟังก์ชั่นและสมการชวนหัวให้ดูขลังเสียหน่อย

Love = f (Time)
L = aT+b
L แสดง คุณภาพของรัก
a แสดง สัมประสิทธิ์ของความรัก ยิ่งมากยิ่งดี
T แสดง ระยะเวลาที่รักกัน
b เป็น Error term ซึ่งอาจทำให้คุณภาพของรักมากขึ้นหรือลดลง ก็ต้องแล้วแต่ชนิดของ Error term นั้น

เอ! ว่าแต่ว่า รักตามสมการนี้มีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น (Linear)จริงหรือเปล่าครับ


หลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้นและสมการเพ้อเจ้อที่มาอธิบายความรักนั้นดูจะขำๆเหมือนกันนะครับ แต่ดูเหมือนว่ามันก็พอกล้อมแกล้มอธิบายพฤติกรรมมนุษย์กับความรักได้บ้าง

แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจจะเขียนเรื่องหนังของเฮอจินโฮ กับหนังสือของศรีบูรพา แต่ไปๆมาๆกลับมาลงเอยด้วยเศรษฐศาสตร์ ผมว่ามันก็สมแล้วล่ะครับที่เพื่อนๆผมมันลงความเห็นว่าผมเขียนเรื่องรักได้ “เสี่ยวสนิท มิตรส่ายหัว” จริงๆ

Hesse004

Nov 2, 2007

จาก Pyramid System ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 2)




เมื่อไม่กี่วันมานี้องค์กรโลกบาลทางฟุตบอลอย่าง Fifa ได้ประกาศยกเลิกกฎการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่กำหนดให้เวียนตามทวีปละ 1 ครั้ง การยกเลิกดังกล่าวทำให้อังกฤษซึ่งอกหักจากเจ้าภาพบอลโลกครั้งล่าสุด (2006) กระดี๊กระด๊าอีกครั้ง เพราะปี 2018 อังกฤษได้กลายเป็นเต็งหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพบอลโลกครั้งที่ 21

สำหรับประเด็นการยกเลิกกฎนี้นั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์ล้วนๆครับ ทั้งนี้ฟุตบอลโลกกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่รองจาก Olympic game ด้วยเหตุนี้เองผลประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นเจ้าภาพ (Host) สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย ว่ากันว่าฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ในปี 2014 ที่ “บราซิล” รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพนั้น บราซิลจะได้รับอานิสงค์จากเม็ดเงินมหาศาลมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นมาหลายสิบปี

กลับมาที่เรื่องฟุตบอลดีกว่าครับ , เมื่อตอนที่แล้วผมเล่าค้างถึงความผยองของสิงโตคำรามแห่งเกาะบริเตนใหญ่ว่าไม่ยอมไปร่วมสังฆกรรมบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกกวัย (1930) อย่างไรก็ดีชาติอนุรักษ์นิยมอย่างอังกฤษหารู้ไม่ว่า เกมลูกหนังจากดินแดนต่างถิ่นนั้นเขาก็พัฒนาไปไม่น้อยหน้าเหมือนกัน

“อุรุกกวัย” คือ เจ้าลูกหนังโลกในช่วงทศวรรษที่ 30 ครับ เจ้าของฉายา “จอมโหด” ใช้สูตร Pyramid system หรือ สูตร 2-3-5 จนประสบความสำเร็จ นอกจากอุรุกกวัยจะใช้ได้ดีแล้ว รองแชมป์อย่าง “อาร์เจนติน่า” ก็ยึดระบบนี้เหมือนกัน

คราวนี้ลองข้ามกลับไปฝั่งยุโรปบ้างนะครับ ท่านผู้อ่านเชื่อมั๊ยครับว่าทีมเจ้ายุโรปในสมัยนั้นมาจากตอนกลางทวีป อย่าง ฮังการี , ออสเตรีย รวมไปถึง เชค ด้วย นักประวัติศาสตร์ลูกหนังอย่างนาย John Bleum แกเรียกสไตล์ฟุตบอลของทีมแถบนี้ว่า The Danubian school หรือโรงเรียนลูกหนังแห่งลุ่มน้ำดานูป

Danubian school เป็นฟุตบอลที่เน้นความแม่นยำในการผ่านบอลสั้นบนพื้น ราวกับการจ่ายบอลไปบนผืนพรม (Keep it on the carpet) ปรัชญาฟุตบอลง่ายๆนี้มาจากมันสมองของโค้ชสก๊อตแลนด์อย่างนาย Jimmy Hogan ครับ

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่าโค้ชดีๆมีมันสมองเป็นเลิศในโลกลูกหนังนั้น เราคงต้องรวมโค้ชชาวสก๊อตเข้าไปด้วย ที่เห็นได้ชัด คือ ท่านเซอร์อล็กซ์ เฟอร์กูสัน แห่งแมนยู และ คิงเคนนี ดัลกลิช อดีตผู้เล่น ผู้จัดการทีมยุคหงส์แดงตะแคงฟ้า

สไตล์การเล่นของทีมยุโรปตอนกลางหรือ Danubian school นอกจากเน้นการผ่านบอลสั้นๆบนพื้นแล้วรูปแบบการเล่นยังคงยึดโยงกับระบบ 2-3-5 อยู่ จนอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลา 80 กว่าปีที่แล้วนั้น สูตรการเล่นฟุตบอล 2-3-5 และ WM ของ Herbert Chapman คือสูตรที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Danubian school จะทำให้ทีมชาติฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นเป็น “เต้ย” ลูกหนังในดินแดนยุโรป แต่แชมป์ฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ในปี 1934 กลับตกเป็นของทีมชาติ “อิตาลี” ครับ

นอกจากความได้เปรียบในการเป็นเจ้าภาพแล้ว “อิตาลี” ยังได้นำสไตล์การเล่นแบบใหม่ที่เรียกว่า “Metodo” มาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วย ชื่อ Metodo น่าจะบอก “เลา”ๆ ได้นะครับว่าเน้นเกมรับที่เหนียวไว้ก่อน

Metodo เป็นรูปแบบการทำทีมของ Vittorio Pozzo ปรมาจารย์ลูกหนังแห่งเมืองมักกะโรนี กล่าวกันว่า Metodo ของ Pozzo นั้น คือ ต้นกำเนิดของเกมที่เรียกว่า Counterattack ครับ เหมือนที่ผมเกริ่นไปข้างต้นแล้วว่าสไตล์การทำทีมช่วงทศวรรษที่ 20-30 ต่างยึดระบบ Pyramid ซึ่งทีมของ Pozzo ก็ยังเล่น 2-3-5 เช่นเดียวกับทีมอื่น แต่พยายามเน้นเกมรับและให้ความสำคัญกับผู้เล่นตำแหน่งปีก 2 ข้างในการทำเกมรุกโต้กลับ

เรียนตามตรงครับว่า ผมเองสนุกกับตัวหนังสือของนาย John Bleum มาก ส่วนหนึ่งพยายามใช้จินตนาการและเชื่อมโยงบริบทบางอย่างในยุคนั้นมาสร้างเป็นภาพเกมลูกหนัง ฟุตบอลโบราณมีฐานะเป็น “กีฬา” ที่ใช้มันสมองของโค้ช สองขาของนักเตะ และหัวใจของคนดู ต่างจากสมัยนี้ที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับธุรกิจ การลงทุน และผลกำไร

ปัจจุบันความสุขจาการบริโภค “ฟุตบอลบันเทิง” ในคืนวันเสาร์เต็มไปด้วยโฆษณาขายของ SMS ทายผล มิพักต้องเอ่ยถึงหนังสือพิมพ์กีฬาที่แปะอัตราต่อรองเต็มไปหมด ใช่แล้วครับนี่คือ “ฟุตบอลในศตวรรษที่ 21”

ผมบ่นมาพอแล้ว กลับสู่โลกลูกหนังต่อดีกว่า ในปี 1938 ฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ที่ฝรั่งเศสนั้น อิตาลี คือ ชาติแรกที่ป้องกันแชมป์รักษาถ้วย “จูริเมต์” (Jules Rimet) ไว้ได้อีกสมัย

การรักษาแชมป์ของอิตาลีสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบ Metodo ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นในปรัชญาการทำทีมฟุตบอล เพราะแต่เดิมฟุตบอล คือ “การทำประตู” สังเกตได้จาการยัดกองหน้าเข้าไปถึง 5 คนในระบบ Pyramid แต่สำหรับอิตาลีแล้ว ฟุตบอล คือ การป้องกันการเสียประตูและใช้จังหวะฉกฉวยโจมตีคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้ยินคำพูดเหน็บทีมจากแดนมักกะโรนีว่า “ตีหัวแล้วเข้าบ้าน”ไงครับ

ช่วงทศวรรษที่ 40 เกมลูกหนังต้องหยุดไป เพราะ นักบอลติดภารกิจไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุนี้เอง การชะงักงันในช่วงนั้นทำให้รูปแบบการเล่นไม่ได้รับการพัฒนาเท่าไรนัก

สำหรับตอนหน้าผมจะเล่าถึงฟุตบอลโลกตั้งตั้งทศวรรษที่ 50 ซึ่งว่ากันว่า “เทพเจ้าแห่งลูกหนังตัวจริง” ได้ลงมาจุติแล้วครับ

Hesse004