Aug 27, 2007

กบนอกตำรากับเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยป่าชายเลน





รายการ “กบนอกกะลา” ของค่ายทีวีบูรพา นับว่าเป็นรายการที่สร้างสรรค์รายการหนึ่งในยามที่บ้านเราขาดแคลน “สาระ”บนหน้าจอทีวี

ผมเชื่อว่าเราทุกคนก็เหมือน “กบ” ตัวหนึ่งแหละครับที่ส่วนใหญ่ยังหมกอยู่ในโลกของเราเองทั้งงานที่ทำหรือวิชาที่เรียน แม้ว่าบ่อยครั้งเราอยากจะออกจากกะลาใบนี้เสียเหลือเกินแต่ด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่ทำให้เราไม่สามารถหนีจากโลกใบเดิมไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลเรื่อง “เวลา”

นับแต่สิงหาคมปีที่แล้ว จวบจนวันนี้ ผมเองก็ไม่ต่างอะไรจาก “กบ”(อาจเข้าขั้นอึ่งอ่างด้วยซ้ำ) ตัวหนึ่งที่กระโดดโหยงเหยงไปมาในโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรทางเศรษฐศาสตร์ จนแทบจะเรียกได้ว่าผมเหมือนกบตัวหนึ่งที่อยู่ในตำรา (เศรษฐศาสตร์) อย่างไรก็ตามผมยังมีความสุขดีกับกะลาอันนี้อยู่ครับ

กลับมาเรื่องที่จั่วหัวไว้ครับ , เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยือนเมืองสมุทรสงครามด้วยวัตถุประสงค์ไปดูพื้นที่ป่าชายเลน 5,000 กว่าไร่ที่ ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง ผมขอสารภาพอย่างหนึ่งครับว่า ผมไม่ได้มีความสนใจในเรื่องป่าชายเลน(Mangrove forest) สักเท่าไรนัก เหตุผลก็คือมันเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกินสำหรับนักเรียนเศรษฐศาสตร์เช่นผมครับ อย่างไรก็ตามประสบการณ์เมื่อวานนี้ทำให้ “กบในตำรา” อย่างผมเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างระหว่างธรรมชาติและมนุษย์

กล่าวกันว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการเลือกตัดสินใจที่จะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากพูดกันตามนิยามก็ดูเหมือนง่ายดีนะครับ แต่พอลงมือปฏิบัติจริงกลับกลายเป็นว่า มนุษย์เนี่ยแหละครับที่ถลุงใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไม่บันยะบันยัง ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องกับเผชิญปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) ทั้งๆที่เคยมีคนพูดถึงเรื่องปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) มาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่มนุษย์อย่างเราๆก็ยังหูทวนลมกันอยู่ครับ

ผมนึกถึงหนังการ์ตูนAnimation ญี่ปุ่นของสตูดิโอGhibli เรื่อง Princess of Mononoke ผลงานของ Hayao Miyazaki การ์ตูนเรื่องนี้กล่าวถึงป่าที่กำลังจะสูญหายไปด้วยน้ำมือของมนุษย์โดยสื่อผ่าน“วิญญาณแห่งป่า” (Spirit of forest) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากครับ ผมว่าวิธีการถ่ายทอดแบบนี้น่าจะทำให้เด็กๆเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ หรือ สัตว์ป่า เหมือนที่คนโบราณพูดถึงเรื่อง “เจ้าป่าเจ้าเขา” ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อให้มนุษย์พึงสังวรถึงความสำคัญของธรรมชาติ

ผมพาท่านผู้อ่านไปเสียไกลเลยครับ , วกรถกลับมาที่สมุทรสงครามกันต่อดีกว่า คณะผู้สังเกตการณ์ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าวัตถุประสงค์สำคัญของการเดินออกจากตำราครั้งนี้ คือ ไปดูพื้นที่ป่าชายเลนนอกจากนี้พวกกระผมยังมีโอกาสได้นั่งเรือออกไปปลูกป่าโกงกาง ป่าแสม กันด้วย

ตำบล “คลองโคน” เป็นตำบลหนึ่งในเมืองสมุทรสงครามครับ ใครจะไปรู้ว่าตำบลเล็กๆแห่งนี้มีโครงการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนมา 16 ปี แล้ว คณะของเรามีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ลุงผู้ใหญ่แกดูท่าทางใจดี และเป็นมิตรมากครับ แกเล่าให้พวกเราฟังว่าแต่เดิมนั้นบริเวณแห่งนี้มีการเลี้ยงกุ้งเลี้ยงหอยแครงกันตามธรรมชาติ ต่อมากระแสเลี้ยงกุ้งกุลาดำบูมประมาณปี 2528 – 2531 ชาวบ้านก็แห่มาเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพราะขายได้ราคาดี แต่ผลของการทำนากุ้งปรากฏว่ามีการใช้สารเคมีทำให้เกิดสารพิษตกค้างส่งผลต่อสภาพนิเวศน์ที่เคยมีอยู่เริ่มสูญเสียไป ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านก็เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีการหักร้างถางพงป่าชายเลนเพื่อแปลงมาเป็นนากุ้งกุลาดำ ท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างแย่ลง ฟองสบู่การทำนากุ้งกุลาดำแตก ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลนที่หายไป พวกเขาจึงเริ่มต้นปลูกป่าชายเลนกันใหม่เมื่อปี 2533 ครับ

ในระหว่างที่ฟังผู้ใหญ่บ้านบรรยาย, ผมยืนจดข้อมูลและคิดไปถึงเรื่องที่อ่านในตำรา Narural Resource Economics (2005)ของ Professor Barry C. Field ซึ่งแกเขียนไว้ในเรื่อง Marine resource ว่าประเด็น Open access หรือ การที่ใครก็ได้สามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลมีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลถูกทำลาย โดยเฉพาะจำนวนปลาเริ่มลดน้อยถอยลง สำหรับที่ คลองโคนแล้วปัญหาที่ชาวบ้านพบ คือ ระบบนิเวศน์ของที่นี่ได้ถูกทำลายไปเนื่องจากชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งกุลาดำ แต่ก็น่าดีใจนะครับที่ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้และช่วยกันปลูกป่าชายเลนให้กลับมาใหม่อีกครั้ง แถมยังได้แรงเชียร์จากนักท่องเที่ยวตลอดจนคนรักธรรมชาติมาช่วยกันปลูกป่าให้ที่นี่จนวันนี้มีพื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่แล้ว

ผมว่าตราบใดที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ความร่มเย็นก็จะกลับคืนมา แต่หากวันใดที่ธรรมชาติเริ่มเกลียดชังมนุษย์แล้ว มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราคงอยู่บนโลกใบนี้ไม่ลำบากแน่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าคิดหลังจากที่ผมมีโอกาสคุยกับท่านอาจารย์ที่พาเราไปดูงานครั้งนี้ คือ อาจารย์ท่านให้ข้อสังเกตว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่ป่าชายเลนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นมันควรอยู่ในสัดส่วนหรือปริมาณเท่าไรจึงจะสมดุล พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์ คือ จุดไหนที่มันจะ Optimize ระหว่างพื้นที่ป่าชายเลนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แม้ว่าป่าชายเลนจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลได้ดี และก่อประโยชน์มากมาย แต่อย่าลืมว่าชาวบ้านก็ยังต้องทำมาหากินกับท้องทะเลอยู่

ก่อนหน้านี้วิชาเศรษฐศาสตร์สอนให้เราหาจุดสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ทั้งผู้บริโภค กับ ผู้ผลิต หรือ รัฐ กับเอกชนแต่นัก เศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้เลยครับ เพราะมนุษย์นั้นไม่รู้หรอกครับว่าเราควรจะขอหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน เพราะธรรมชาติไม่มีปากบอกเราว่า “เฮ้ยพอแล้ว พวกมึงเอาจากกูมากเกินไปแล้ว” บ่อยครั้งที่ความพิโรธของธรรมชาตินั่นแหละถึงจะทำให้มนุษย์เริ่มรู้แล้วว่าท่านไม่ยินดีที่จะให้เราเอาอะไรไปมากกว่านี้แล้ว

Hesse004

Aug 21, 2007

“พระเจ้าปราสาททอง กับ ดอนไมเคิล คาร์ลิโอเน่”



ไม่กี่วันมานี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือในเครือของศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ เรื่อง การเมือง “อุบายมารยา”แบบ Machiavelli ของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งระหว่างที่อ่านนั้นผมรู้สึกเพลิดเพลินไปกับอรรถรสทางวิชาการที่อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์เขียนไว้โดยท่านอาจารย์ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2519 จะว่าไปแล้วท่านอาจารย์สมบัตินับเป็นผู้หนึ่งที่สนใจและเชี่ยวชาญกับความคิดของ Machiavelli เลยทีเดียว

Niccolo Machiavelli นับเป็นนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่คนสำคัญที่เหล่านักเรียนรัฐศาสตร์ทั้งหลายต้องคุ้นชื่อกับหนังสือเล่มดังของเขาอย่าง The prince สำหรับหนังสือเล่มนี้นั้นผมซื้อมานานแล้วครับแต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านอย่างเป็นจริงเป็นจังสักที กล่าวกันว่า The prince ของ Machiavelli นั้นจัดอยู่ในคู่มือของผู้ปกครองที่รักอยากจะเป็นทรราชย์ (Tyrant)

ผมตั้งข้อสังเกตเป็นการส่วนตัวว่าบรรดาเหล่าคู่มือของนักปกครองตามวิธีคิดของโลกตะวันออกดูจะปลูกคุณธรรมได้ดีกว่าโลกตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องธรรมราชาและทศพิศราชธรรม หรือแม้กระทั่งปรัชญาขงจื๊อที่สอนให้ผู้ปกครองตั้งอยู่ในศีลในธรรมมากกว่าจะขวนขวายแสวงหาอำนาจ

หลังจากที่ผมอ่านหนังสือชื่อยาวเล่มที่ว่านี้จบลง ภาพของ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” กับ ภาพของ "ดอนไมเคิล คาร์ลิโอเน่” ได้ผุดขึ้นในหัวของผมทันใด แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะอยู่ในช่วงเวลาที่ต่างยุคต่างสมัยกัน แถมดอนไมเคิล แห่ง The Godfather ยังเป็นเพียงตัวละครในจินตนาการของ Mario Puzo อีก แต่ทั้งสองนั้นกลับมีอะไรที่ละม้ายคล้ายกันโดยเฉพาะเรื่องของการรักษาไว้ซึ่งอำนาจ

รุ่นพี่คนหนึ่งเคยถามผมว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการมีอำนาจคืออะไร? ผมตอบไปว่าการรักษาอำนาจนั้นให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่พี่คนนั้นกลับมองว่า การลงจากอำนาจที่เป็นสิ่งที่ยากกว่า ผมเชื่อเหมือนที่หลายๆท่านเชื่อว่าอำนาจเหมือนยาเสพติด ยิ่งเสพแล้วยิ่งติด ยิ่งนานยิ่งยากที่จะปล่อยวาง มันเหมือนที่โฟรโด้ใน Lord of the ring พะว้าพะวังลังเลที่จะถอดแหวนนั้นโยนลงสู่เปลวเพลิงในภาคจบ

ท่านผู้อ่านที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ผมแนะนำให้ลองอ่านหนังสือของเหล่ากูรูทางประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยาของเรา ของท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม , ประวัติศาสตร์อยุธยาของท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ของท่านอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และ ศรีรามเทพนคร ซึ่งรวมบทความประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

กลับมาที่เรื่องพระเจ้าปราสาททองต่อครับ , จะว่าไปแล้วการสถาปนาราชวงศ์ปราสาททองนั้นเกิดขึ้นจากการปราบดาภิเษกของ ออกญากลาโหม (พระเจ้าปราสาททอง)เมื่อปี พ.ศ.2172 ลองย้อนอดีตกันสักนิดดีมั๊ยครับว่าหลังแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรแล้วสมเด็จพระเอกาทศรศทรงขึ้นครองราชย์ต่อในราชวงศ์สุโขทัย อย่างไรก็ตามเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรศเสด็จสวรรคต ตามกฏมณเฑียรบาลจะต้องอัญเชิญพระอนุชาธิราชขึ้นเสวยราชย์ แต่การณ์กลับเป็นว่าเกิดการรัฐประหารของพระเจ้าทรงธรรมทำให้สายสกุลของสมเด็จพระเอกาทศรศสูญเสียราชบัลลังก์ไป อย่างไรก็ตามเมื่อใกล้สิ้นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ก็ปรากฏปัญหาในการสืบสันตติวงศ์อีกเมื่อพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชประสงค์ให้พระโอรสวัย 15 ชันษา นามว่าพระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์ทั้งที่สิทธิ์จะต้องตกอยู่ที่พระศรีศิลป์อันเป็นพระอนุชา

ประวัติศาสตร์การฆ่าฟันกันช่วงนี้นับว่าซับซ้อนและมีกลอุบายที่แยบยลมากครับโดยเฉพาะออกญากลาโหมซึ่งกลายเป็นกำลังสำคัญในการกำจัดพระศรีศิลป์และค้ำบัลลังก์ให้กับพระเชษฐาธิราช แต่หลังจากนั้นไม่นานออกญากลาโหมก็ทำรัฐประหารด้วยการสำเร็จโทษพระเชษฐาธิราชและตั้งพระอาทิตยวงศ์ซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 10 ขวบขึ้นครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา และท้ายที่สุดออกญากลาโหมก็ได้กระทำการปราบดาภิเษกด้วยการสำเร็จโทษ (อีกครั้ง) กับกษัตริย์องค์น้อยนี้และ สถาปนาราชวงศ์ปราสาททองขึ้นในปี พ.ศ.2172

ความสนุกของประวัติศาสตร์อยู่ที่การมองเห็นอุบายมารยาอย่างที่ท่านอาจารย์สมบัติพยายามสื่อ หลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่าการแสวงหาอำนาจนั้นไม่ได้มาเพราะโชคอำนวยหากแต่เป็นเรื่องของการใช้กลวิธีและอุบายอันรวมถึงจริตมารยาต่างๆนานาของมนุษย์เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจ พระเจ้าปราสาททองนั้นมีคุณสมบัติคล้ายกับโจโฉอย่างหนึ่ง คือ ไม่ไว้ใจคนแม้กระทั่งคนใกล้ตัวที่ช่วยกันล้มฐานอำนาจเดิม การไม่ไว้ใจคนของพระองค์ทำให้พระองค์สามารถรักษาอำนาจได้ยาวนานถึง 27 ปี

ในหนังสือจดหมายเหตุของนายวันวลิต (Jeremias Van Vilet) นั้นได้กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเจ้าปราสาททองในการขึ้นสู่อำนาจและรักษาอำนาจไว้ว่า “เป็นหลายศตวรรษทีเดียวที่ไม่เคยมีกษัตริย์สยามพระองค์ใด ขึ้นครองบัลลังก์อย่างกล้าหาญชาญชัย มีความระแวดระวังเป็นเยี่ยมหรือมีอุบายหลักแหลมมาก เช่นกษัตริย์พระองค์นี้”

คราวนี้มาดู ดอนไมเคิล คาร์ลิโอเน่ (Don Michale Corleone)ใน The Godfather กันบ้างครับ ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะคิดคล้ายๆกัน คือ ไมเคิล คาร์ลิโอเน่ นั้นมีความเหี้ยมและเลือดเย็นอยู่ในตัวเองเพียงแต่ยังไม่แสดงออกตราบใดที่ยังไม่ถูกกระตุ้น ผมว่าจุดที่ทำให้ ไมเคิล เปลี่ยนไปเป็นคนละคนน่าจะเป็นตอนที่เขาเห็นว่าศัตรูของดอนวีโต้ คาร์ลิโอเน่ ผู้เป็นพ่อ นั้นเตรียมพร้อมจะเล่นงานตระกูลเขาชนิดเหยียบกันให้ตาย ด้วยเหตุนี้เองถ้าไม่อำมหิตแน่นอนว่าเขาและคนอื่นๆในครอบครัวย่อมไม่สามารถอยู่รอดได้

ดอน ไมเคิล คาร์ลิโอเน่ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้นำที่เก่ง ฉลาด รอบคอบแต่ไม่มีความสุขในชีวิต เพราะทุกก้าวย่างของเขานั้นล้วนต้องครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา จะว่าไปแล้วบรรดาคนที่ขึ้นไปขี่หลังเสือทั้งหลายนั้นยากยิ่งนักที่จะรอดร่วงลงมาให้เสือมันไม่ตะปปกิน เว้นแต่ว่าคนเหล่านั้นจะเข้าใจว่าอำนาจมีความเสื่อมของมันและกล้าที่จะพูดอย่างบริสุทธิ์ใจว่า “พอแล้ว”

ประวัติศาสตร์บางครั้งมันก็ไม่โกหกเราหรอกครับ แม้ว่าคนเขียนประวัติศาสตร์จะแอบแต่งเสริมเติมแต่งข้อความบางคำลงไปในเรื่องราวบ้าง แต่สิ่งสำคัญของมนุษย์อย่างเราๆก็คือจะรู้จักเรียนรู้ข้อคิดประวัติศาสตร์นั้นได้มากน้อยเพียงใด ก็เพื่อวันหน้า “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม”ครับ

Hesse004

Aug 15, 2007

Cinema Paradiso ดึงความทรงจำจากลิ้นชักใบเดิม


ผมเชื่อว่าความประทับใจของคนเรานั้นมักเกิดขึ้นในรูปแบบที่เรียกว่า “At First Sight” หรือเข้าทำนองว่า “รักแรกพบ” ความประทับใจมักก่อให้เกิดความทรงจำที่ดีกับเราจนอาจกล่าวได้ว่าทุกครั้งที่หวนรำลึกความประทับใจเหล่านี้ เรามักจะอิ่มเอมอยู่เสมอ

สำหรับหัวเรื่องที่ผมจั่วไว้นั้น, ผมเชื่อว่าคอหนังอาร์ตย่อมคุ้นเคยกับชื่อCinema Paradiso เป็นอย่างดี และผมยังเชื่ออีกว่าท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะดูหนังเรื่องนี้มากกว่า 2 รอบ แล้วด้วยซ้ำ Cinema Paradiso เป็นผลงานสร้างชื่อให้กับผู้กำกับอิตาเลียนนามว่า Giuseppe Tornatore ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ยังตอกย้ำให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางดนตรีของ Ennio Morricone ที่ทำให้ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างอรรถรสที่รื่นรมย์ทุกครั้งที่ได้ยิน ผมขอสารภาพกับท่านผู้อ่านครับว่า ผมฟังเพลง Cinema Paradiso เกือบจะทุกวันเลยครับ

ว่ากันว่าCinema Paradiso กลายเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายคน ในหนังสือเรื่องอ่านชีวิตบนแผ่นฟิลม์ (2547)ของอาจารย์เสรี พงศ์พิศ นั้น ท่านอาจารย์เสรีได้เขียนเล่าเรื่องนี้และให้แง่คิดไว้น่าอ่านมากครับ จนอาจกล่าวได้ว่า Cinema Paradiso น่าจะเป็นตัวแทนของ Nostalgia Film ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้

Cinema Paradiso นั้นย้อนให้เห็นภาพของประเทศอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง มุสโสลินีและลัทธิฟาสซิสต์ของเขาทำให้อิตาลีกลายเป็นผู้แพ้สงครามไป ผลพวงของความพ่ายแพ้ยังกระทบไปยังเกาะเล็กๆอย่าง ซิซิลี ดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของมาเฟีย อย่างไรก็ตามหนังไม่ได้กล่าวถึงบริบททางการเมืองมากสักเท่าใดนัก แต่กลับสะท้อนภาพของชีวิตชาวบ้านธรรมดาๆในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่ง

ภาพของเด็กชาย โตโต้ (Salvatore ) และคุณลุง อัลเฟรโด้ (Alfredo) ทำให้เราอาจย้อนนึกถึงใครบางคนที่เราคุ้นเคยเมื่อวัยเยาว์ อาจจะเป็นภาพลุงใจดีข้างบ้านที่ชอบเล่าเรื่องสนุกๆให้เราฟัง อาจจะเป็นภาพคุณอาคนหนึ่งที่สอนให้เราได้ดูบอลและเตะบอลเป็น

Tornatore ดูจะจงใจให้ โตโต้ได้รื้อความทรงจำจากลิ้นชักใบเก่าของเขาออกมาอีกครั้งในวัยที่เขามีอายุกว่า 50 (ผมลองคะเนเอาเองครับ) จะว่าไปแล้วเราทุกคนล้วนมีประวัติศาสตร์ประจำตัว ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า ประวัติบุคคลหรือชีวประวัติแล้วกันนะครับ ที่ว่ามีประวัติศาสตร์ประจำตัวนั้น ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่อยากเก็บ อยากจำ อยากลืม แม้กระทั่งอยากเล่า

เมื่อกว่า 16 ปีมาแล้ว ผมเคยนั่งคุยกับอาเหล่าม่า (ย่าทวด) ตอนนั้นอาเหล่าม่ามีอายุ 90 ปีพอดี อาเหล่าม่าของผมยังมีความทรงจำที่ไม่พร่าเลือนนัก ท่านเล่าถึงพิธีแต่งงานของท่านสมัยกระโน้น เล่าถึงความยากลำบากในห้วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าถึงชีวิต ผู้คนรอบกายตั้งแต่คนใหญ่คนโตไปจนกระทั่งคนเล็กๆอย่างเราๆ เนี่ยแหละครับที่ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของการมีชีวิต แม้ว่าวันนี้อาเหล่าม่าของผมจะจากไปแล้ว แต่ผมก็ยังจดจำประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงเรื่องราวในครอบครัวผมได้เสมอ

ลิ้นชักความทรงจำของโตโต้ถูกดึงออกมาเหมือนที่ “เจี๊ยบ” ในภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” กำลังตกอยู่ในอารมณ์ที่เรียกว่า Nostalgia ความรื่นรมย์ในวันเก่าทั้งของโตโต้และเจี๊ยบนั้นทำให้ผมนึกถึงความสุขในวัยเด็ก ด้วยเหตุนี้อย่าแปลกใจเลยครับที่ คนอายุขึ้นเลข 3 อย่างพวกผมจะเริ่มคุ้ยค้นความทรงจำของตัวเองแล้ว

นอกเหนือจากสาระของหนังจะทำให้เห็นการหวนรำลึกถึงความสุขเมื่อครั้งวันวานแล้ว หนังยังสื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง นั่นคือ กฎอนิจจัง หรือ ความไม่เที่ยง ในวันที่ อัลเฟรโด้ บอกให้ โตโต้ ไปแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าในโรมนั้น เขาพูดกับโต้โต้ อย่างกินใจไว้ว่า

“Living here day by day, you think it's the center of the world. You believe nothing will ever change. Then you leave: a year, two years. When you come back, everything's changed. The thread's broken. What you came to find isn't there. What was yours is gone. You have to go away for a long time... many years... before you can come back and find your people. The land where you were born. But now, no. It's not possible. Right now you're blinder than I am.”

แม้ว่าโตโต้จะคะยั้นคะยอถามลุงว่ามันเป็นคำพูดของใครจากหนังเรื่องไหน ลุงแกตอบไว้น่าคิดว่า “No, Toto. Nobody said it. This time it's all me. Life isn't like in the movies. Life... is much harder”. ใช่แล้วครับ! ชีวิตไม่เหมือนกับหนัง และดูเหมือนมันจะยากกว่าด้วยซ้ำ

Cinema Paradiso นับเป็นหนังที่สร้างความบันเทิงและอิ่มเอมให้กับคนดูอย่างแท้จริง ผมชอบฉากสุดท้ายที่ โตโต้ เอาม้วนหนังที่ลุงอัลเฟรโด้ ฝากไว้ก่อนตายมาเปิดดู ภาพที่เคยถูกเซนเซอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพ “จูบ”นั้น ทำให้โตโต้แทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ มันเหมือนความทรงจำที่กำลังจะพร่าเลือนไปนั้นถูกดึงออกมาจากลิ้นชักใบเก่า ที่ถึงแม้มันจะผ่านไปแล้วแต่มันก็ยังคงอยู่ในใจของโตโต้เสมอ

สำหรับค่ำคืนนี้ผมตั้งใจจะเปิดเพลง Cinema Paradiso ฟังก่อนนอนครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ


Hesse004

Aug 13, 2007

“ก่อน” หมุดหมายของดนตรีสยามอัลเทอร์เนทีฟ



“ก่อนท้องฟ้า จะสดใส ก่อนความอบอุ่นของไอแดด ก่อนดอกไม้จะผลิบาน ก่อนความฝันอันแสนหวาน ” แค่เริ่มต้นประโยคนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะนึกถึงเนื้อเพลง “ก่อน” ของ Modern Dog เป็นแน่แท้ ผมเชื่อว่าดนตรีมีอิทธิพลต่อความทรงจำของมนุษย์ไม่แพ้รูปถ่าย

คุณผู้อ่านฟังเพลง “ก่อน” ครั้งแรกเมื่อไรครับ ? สำหรับผมแล้ว , ผมเริ่มฟังเพลงนี้เมื่อปี 2537 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้วครับ ทั้งนี้วงหมาทันสมัย (Modern Dog)ของค่ายใหม่ค่ายหนึ่งนามว่าเบเกอรี่มิวสิคนั้นได้สร้างปรากฏการณ์อย่างหนึ่งให้กับวงการดนตรีบ้านเรา คือ พวกเขาได้เริ่มต้นตำนานดนตรีที่เรียกว่า Alternative music

Alternative music เป็นดนตรีที่ถือกำเนิดอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อทศวรรษที่ 90 ดนตรีสายพันธุ์นี้นับเป็นลูกหลานของดนตรี Rock ครับ ว่ากันว่าดิคชั่นนารีทางดนตรีนั้นได้ให้นิยาม “Alternative music” ว่าหมายถึง ดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดนตรี Punk rock โดยยึดแนวทางการเล่นที่แหวกแนวจากขนบเดิมของชาว Rock โดยเฉพาะถ้าเราฟังเสียงกีตาร์ของเพลงแนวนี้ให้ดีๆ เราจะพบเสียงกีตาร์ที่มันรกรุงรัง แตกพร่า ขณะที่เครื่องดนตรีส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะน้อยชิ้นยิ่งนัก อาจมีเพียงกีตาร์ 2 ตัว กลองและเบส เท่านั้น

หากพูดถึงเพลง Alternative แน่นอนครับ เรามักนึกเพลงของพวกอังกฤษชน ทั้งนี้เหล่านักดนตรีเผ่าพันธุ์อิงลิชนี้นับว่ามีความสามารถอยู่ไม่น้อยเลยครับ ไล่เรียงมาตั้งแต่รุ่นของ The Beatles ในยุคปลาย 50 มี Eric Clapton เป็นหัวหอกของวงการเพลง Blues จนกระทั่งมาในยุคที่ชนชาวอังกฤษนั้นเรียกขานดนตรีพันธุ์ใหม่ว่า เพลง Indie นั้น พวกเขาก็ยังมีวงดนตรีฝีมือดีอย่าง Oasis เป็นตำนานอีก ด้วยเหตุนี้เองผมจึงคิดว่าวงดนตรีและนักดนตรีจากฝั่งอังกฤษนั้นดูมีเสน่ห์มากกว่าวงดนตรีจากฝั่งอเมริกา

ในยุค 90 นั้น , นับเป็นยุคที่โลกของเราเริ่มยอมรับถึงความหลากหลายมากขึ้น อาจเพราะมนุษย์เข้าใจคำว่าสิทธิและเสรีภาพมากกว่าที่เคยเป็นอยู่ ผมคิดว่าการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1989 นั้น น่าจะเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของยุค 90 ที่เชื่อว่าโลกเราไม่ได้มีแค่ความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว การเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นได้ทำให้โลกของเราเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยแห่งโลกาภิวัฒน์ (Globalization)....ผมนอกเรื่องไปเสียไกลเชียว

กลับมาที่ดนตรี Alternative กันต่อครับ , ในฝั่งของดนตรีอเมริกานั้น กล่าวกันว่า วง R.E.M. เป็นวงดนตรีวงแรกๆที่บุกเบิกเพลง Alternative โดยเฉพาะอัลบั้มชุด Out of Time (1991) เช่นเดียวกับฝั่งอังกฤษครับรากของดนตรี Alternative นั้น มีมาตั้งแต่ปลายสมัยทศวรรษที่ 70 โดยเหล่ากูรูทางดนตรีสันนิษฐานว่าแรงบันดาลใจสำคัญของเหล่า Alternative bands ทั้งหลายนั้นมาจากดนตรีสไตล์ Gothic rock ทั้งนี้ทั้งนั้นเพลงในสายสกุล Rock นั้นเน้นไปที่ความหนักหน่วงรุนแรงทั้งทำนองและเนื้อหา ขณะที่เพลงใน Alternative music กลับเน้นไปที่ความรกรุงรังของเสียงดนตรีที่บางครั้งออกจะดู “เหน่อ” แต่กลับมีเสน่ห์ชวนฟัง ส่วนเนื้อหาก็ดูจะใช้คำง่ายๆไม่ลึกซึ้งมากนัก ดนตรี Indie บนแผ่นดินราชอาณาจักรนั้นยังพัฒนาไปในรูปแบบของ Britpop style ที่เน้นเล่นเครื่องดนตรีกันไม่กี่ชิ้น วงดนตรีแนว Britpop ที่มีชื่อเสียงในยุค 90 และกลายมาเป็นขาใหญ่และเป็นตำนานในยุคนี้นั้น ประกอบไปด้วย Radiohead , Oasis , Blur และ Sued เป็นต้น

สำหรับบ้านเรานั้น , เพลง Alternative เริ่มต้นจริงจังเมื่อปี 2536 ครับ ว่ากันว่า วง Crub เป็นวงดนตรี Alternative วงแรกของสยามประเทศ สำหรับอัลบั้มแรกที่ Crub ปล่อยออกมานั้น ผมเคยฟังอยู่เพลงสองเพลงซึ่งนับว่าน่าสนใจเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสไตล์การเล่นกีตาร์ที่แปลกจากดนตรี Rock ทั่วไป แม้ว่า Crub ดูจะไม่ประสบผลสำเร็จทั้งด้านรายได้และชื่อเสียงแต่ผมเชื่อว่าพวกเขาคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาดนตรีบ้านเราให้มีความหลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานั้น

ถัดจาก Crub มา ผมเชื่อว่า วงหมาทันสมัยหรือ Modern Dog น่าจะเป็นวงที่สองของประวัติศาสตร์ดนตรี Alternative ไทย อัลบั้มชุดเสริมสุขภาพของพวกเขานับเป็นการ “แหวก” ขนบอะไรบางอย่างของวงการเพลงบ้านเราสมัยนั้น โดยเฉพาะเพลงอย่าง “บุษบา” “มานี” และ “กะลา” นับเป็นเพลงที่แตกต่างจากเพลงไทยสากลสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง

Modern Dog เป็นวงดนตรีที่ชนะเลิศการประกวด Coke music award เมื่อปี 2535 เหล่าเด็กหนุ่ม (ยุคนั้น) หารู้ไม่ว่าพวกเขากำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์” อะไรบางอย่างขึ้นกับสังคมไทย ผมเชื่อว่า Modern Dog คือ ตัวแทนของความหลากหลายและมีความแตกต่างอย่างลงตัว พวกเขาจัดเป็นปัญญาชนที่มีความคิดเป็นของตัวเองและเลือกที่จะเล่นตามแนวทางของตัวเอง

ความล้ำเหลื่อมของช่วงเวลานอกจากจะทำให้มนุษย์แตกต่างกันในแง่ของอายุแล้วยังทำให้มนุษย์มีความคิดที่ต่างกันด้วย การลุกขึ้นมาของเด็กกลุ่มหนึ่งที่เชื่อในความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์นั้นนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคำว่า ขบถหรือหัวดื้อ

ในแทบทุกศาสตร์เลยก็ว่าได้จะมีความคิดชุดหนึ่งที่เรียกว่า Main Stream หรือพวกกระแสหลัก เหล่าชน Main Stream นั้นมักจะบูชาความคิดที่พวกเขาได้รับการถ่ายทอดมาตลอดช่วงชีวิตของศาสตร์นั้น จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น หัวอนุรักษ์นิยม (ความคิดชุดเดิม) อย่างไรก็ตามการคิดออกจากกรอบและสร้างแนวทางของตนเองขึ้นใหม่นั้นนับเป็นเรื่องที่ท้าทายความคิด Main Stream เพราะยากยิ่งนักที่จะทำให้คนที่เชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งมานานนมจะมายอมรับไอเดียที่แปลกและแตกต่าง ด้วยเหตุนี้เองผมจึงคิดว่า Modern Dog เมื่อปี 2537 ก็ไม่ต่างอะไรกับวิญญาณขบถของนกนางนวล Jonathan Livington ในหนังสือของ Richard Bach

ความสำเร็จของหมาทันสมัยเมื่อปี 2537 ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นต้นแบบของวงดนตรี Alternative หลายวงในเวลาต่อมา เป็นต้นแบบที่ทำให้เด็กวัยรุ่นหลายคน ในช่วงนั้น เริ่มหัดเล่นกีตาร์ ตั้งวงดนตรี ประกวดประชัน และแน่นอนครับ เพลง “ก่อน” ได้กลายเป็นเพลงอมตะสำหรับวัยรุ่นสมัยนั้นไปแล้ว

ลองนึกดูเล่นๆนะครับว่า หากวันหนึ่งเมื่อพวกเรามีอายุครบ 60 ปี แล้วไปร้องคาราโอเกะกับลูกๆหลานๆ ถึงวันนั้นเราจะร้องเพลงก่อนได้เหมือนสมัยที่เรายังเป็นวัยรุ่นกันอยู่หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆก็คือ ผมคงจะกระโดดไปร้องไปแบบพี่ป๊อดไม่ไหวแน่ครับ

Hesse004