Jun 30, 2007

15 ปี “ทะเลใจ”กับ กลไกการค้นหาตัวตน



ผมเชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับเพลง “ทะเลใจ” ของคาราบาว โดยส่วนตัวแล้ว, ผมคิดว่าทั้งเนื้อร้องและทำนองของเพลงนี้ขึ้นชั้นอมตะทางดนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ปีนี้คาราบาวครบรอบ 25 ปีอย่างไรก็ดีก็ถือว่าครบรอบ 15 ปี ของเพลงทะเลใจ ด้วย เพลงนี้แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ผมจำได้ว่าฟังเพลงนี้ครั้งแรกสมัยเรียน ม.5 ด้วยติดใจในท่วงทำนองมากกว่าเนื้อหาของเพลง

อาจกล่าวได้ว่าทะเลใจเป็นเพลงที่มาพร้อมกับเหตุการณ์ทางการเมือง เพราะหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 น้าแอ๊ดแกก็ออกอัลบั้มที่ชื่อ พฤษภา เพลงของคาราบาวในทุกยุคทุกสมัยจึงสะท้อนอะไรบางอย่างภายในสังคมของเรา ลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ชุดวณิพก ผมเริ่มฟังเพลงคาราบาวครั้งแรกเมื่อปี 2527 ในชุด Made in Thailand และทุกครั้งที่ผมฟังเพลงคาราบาวผมมักนึกถึงใครคนหนึ่งที่ได้จากผมไปแล้ว

ตลอดระยะเวลาสิบห้าปี เพลงทะเลใจยังถูกนำมาร้องใหม่อยู่เสมอ เช่น งานของนรีกระจ่าง (2536) หรือ งานของป๊อด โมเดอร์นด๊อก (2550) ผมคิดว่า “ทะเลใจ” น่าจะเป็นตัวแทนของชีวิตช่วงหนึ่งที่กำลังแสวงหาอะไรบางอย่าง

ผมว่ามนต์เพลงคาราบาวมีเสน่ห์แบบบ้านๆ ดีครับ ด้วยท่วงทำนองที่ขึงขังแต่ละมุนละไมในบางครั้ง หรือ เนื้อหาที่ดุดันแต่แฝงไปด้วยสารบางอย่างที่ต้องการจะสื่อ ทำให้เพลง “บาว” คล้ายบทสวดมนต์ของนักแสวงหาไปโดยปริยาย และด้วยวัยที่โตขึ้น ผมค่อยๆศึกษาถ้อยคำบางคำที่ปรากฏในเนื้อเพลงทะเลใจ และสิ่งหนึ่งที่ผมพบ คือ ถ้อยคำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกลไกการค้นหาตัวตนและเป้าหมายบางอย่างของมนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราๆ

ใช่แล้วครับ ! ชีวิตเล็กๆของมนุษย์แต่มักคิดเรื่องราวใหญ่โตอยู่เสมอ และแทบจะเป็นสูตรสำเร็จเลยก็ว่าได้ที่เรามักผิดหวังหรือพ่ายแพ้ทางความรู้สึก ย้อนมองจากประวัติศาสตร์อันใกล้โดยมี “คนเดือนตุลา” เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องของ “เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน” หรือแม้กระทั่งย้อนไปไกลเมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ภายใต้กลุ่มคนหนุ่มที่ขนานนามตัวเองว่า “คณะราษฎร” ก็ถือเป็นกรณีคลาสสิคของมนุษย์เล็กๆที่คิดการใหญ่โดยจะอยากเปลี่ยนแปลงสังคม อยากสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับแผ่นดินเกิด แต่ท้ายที่สุดคนหนุ่มเหล่านี้ล้วนต้องมาฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” เพียงอย่างเดียว ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เรารู้ว่ามนุษย์มักพ่ายแพ้ต่ออำนาจ เงินตรา กิเลสตัณหา หรือแม้กระทั่งความรัก แต่ที่สำคัญคือ แพ้ใจของตนเอง ครับ และนี่เองที่น้าแอ๊ดแกสรุปได้ดีว่า “ฉันเรียนรู้เพื่ออยู่ เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกัน”

เนื้อหาใน “ทะเลใจ” กล่าวถึง การปรับสมดุลในการใช้ชีวิตด้วยการประนีประนอมอารมณ์ของโลกแห่งความฝันให้เข้ากับสภาพของความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ สังเกตได้จากท่อนที่ว่าว่า “คืนนั้นคืนไหน ใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสี ศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น คืนนั้นคืนไหนใจเพ้อฝัน คืนและวันฝันไปไกลลิบโลก ดั่งนกน้อยลิ่วล่องลอยแรงลมโบก พออับโชค ตกลงกลางทะเลใจ” ผมเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้จากการอ่านหนังสือของอาจารย์เสก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ตั้งแต่ ฤดูกาล , ดอกไผ่ , มหาวิทยาลัยชีวิต , เดินป่าเสาะหาความจริง,เร่ร่อนหาปลา , เพลงเอกภพ มาจนกระทั่ง วันที่ถอดหมวก มีบางอย่างที่ผมสังเกตเห็นคือ เมื่อครั้งวัยหนุ่มสาว ,ความตั้งใจของมนุษย์มักต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่ให้เข้าสู่สังคมอุดมคติแต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นความตั้งใจเหล่านั้นกลับค่อยๆหดหายลดทอนไปพร้อมๆกับกำลังวังชาตามวัย หากแต่สิ่งที่ได้มาจากบาดแผลที่เจ็บปวด คือ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ โดยเฉพาะเป็นมิตรกับตัวเองและรื่นรมย์ไปกับโลกที่แท้จริง

ผมนึกถึงอีกท่อนหนึ่งที่ว่า “ทุกชีวิตดิ้นรน ค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดซ้ำเพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข” เนื้อหาท่อนนี้มีความคล้ายคลึงกับปรัชญาพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องของ “เซน”

ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราทุกคนล้วนมีคำถามอยู่ในใจว่า เราเกิดมาทำไม? คำถามแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของศาสนา ซึ่งปรัชญาตะวันตกอย่างกรีกได้ตั้งคำถามเรื่องของการมีอยู่ของชีวิตโดย อธิบายถึงเรื่อง “แบบ” ของสิ่งต่างๆ ดังนั้นปรัชญาตะวันตกจึงเชื่อในความสมบูรณ์ของ “แบบ” ขณะที่ปรัชญาตะวันออกกลับกล่าวถึงการละวางตัวตน โดยเน้นไปที่การทำลายอัตตาด้วยวิถีที่ต่างกัน ทั้งนี้การปล่อยวางของโลกตะวันออกนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน” ด้วยเหตุนี้เองที่วิธีคิดแบบสองโลกนี้จึงส่งผลต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ในแต่ละซีกโลกไม่ว่าจะเรื่องการสร้างสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี ขนบจารีตและความเชื่อที่แตกต่างกัน

คราวนี้ลองกลับมาย้อนดูที่ตัวเราเองบ้างสิครับ เราจะพบว่ายิ่งเติบใหญ่ ยิ่งพอกพูนอัตตาที่มากหลาย ด้วยเหตุนี้เองโลกตะวันออกจึงเชื่อว่าการสละอัตตาให้หลุดเหลือน้อยที่สุดนั้นเป็นมรรคาของการหลุดพ้นจากความทุกข์ของชีวิต หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของ “มิยาโมโต้ มูซาชิ” จอมดาบไร้สำนักผู้มีตัวตนอยู่จริงในญี่ปุ่นสมัยโชกุนโตกุงาว่า (ประมาณศตวรรษที่ 17) ซึ่ง โยชิคาวา เอญิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นได้จับเรื่องราวของเขามาเรียงร้อยใหม่ในรูปแบบนิยายอิงชีวประวัติ ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อคนญี่ปุ่นอย่างมากในการหันกลับมาสร้างชาติอีกครั้งหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ (หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย)สังคมตะวันออกให้ความสำคัญกับปล่อยวางและทำลายอัตตามากกว่าสังคมตะวันตกที่มุ่งหน้าสะสมอัตตา (Ego Accumulation) จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกของทุนนิยมจะกลืนกินทุกอย่างแม้กระทั่งตัวและหัวใจของมนุษย์

ทุกครั้งเมื่อรู้สึกพ่ายแพ้ เหนื่อยหน่าย หรือท้อแท้กับการใช้ชีวิต ลองนึกถึงเนื้อร้องที่ว่า “ฉันเรียนรู้เพื่ออยู่เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีตลอดกาล” ดูสิครับ ผมว่ามันน่าจะเป็นคาถาชั้นดีที่ทำให้เรารู้สึกปล่อยวางและมีความสุขกับชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

Hesse004

Jun 22, 2007

The Babarian Invasions ฝันสุดท้ายของชายชรา



ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยผ่านตากับหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพซึ่งจะว่าไปแล้วหนังสือเหล่านี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเพราะเป็นเครื่องถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตคนหนึ่งคนได้ดี หลายครั้งที่ผมแวะเวียนไปร้านหนังสือเก่า ผมมักเจอหนังสืองานศพอยู่เสมอ และบางทีออกจะเสียดายด้วยซ้ำไปเมื่อเห็นเจ้าของเดิมมองไม่เห็นคุณค่าของหนังสือเหล่านี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตหนังสืองานศพอาจเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นซีดีที่ระลึกงานฌาปนกิจศพแทนก็ได้นะครับ

สำหรับเรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ข้างต้นนั้นเป็นชื่อของหนังครับ The Barbarian Invasions (2003) เป็นหนังสัญชาติแคนาดาแต่พูดภาษาฝรั่งเศส งงมั๊ยครับ! หนังเรื่องนี้ได้รับเกียรติให้เข้าฉายที่เมืองคานส์ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลออสการ์สาขา The Best foriegn language film ในปี 2003 มาครองอีกด้วย

The Barbarian Invasions จัดว่าเป็นหนังที่ดูไม่ยากครับ พล็อตเรื่องไม่สลับซับซ้อนอะไรมากแต่ที่สำคัญคือแก่นสาระที่ Denys Arcand ผู้กำกับชาวแคนาเดียน ต้องการจะสื่อสารนั้นถือว่ามีเนื้อหาค่อนข้างเป็นสากลเลยทีเดียว กล่าวคือ เขาพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของความตายครับ กระบวนหนังที่ผมดูมาแล้วมีเรื่องราวผูกพันกับความตายนั้นหนังญี่ปุ่นอย่าง After Life (1998) ของ Hirokazu Koreeda , ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น , นับว่านำเสนอเรื่องราวของชีวิตหลังความตายได้น่าสนใจโดยตั้งคำถามไว้ว่า “What is the one memory you would take with you?” หรือเมื่อเราตายไปแล้ว เราจะเลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตช่วงไหนเพื่อจะนำติดตัวไปเป็นความทรงจำในชาติภพต่อไป

แต่สำหรับ The Barbarian Invasions ของ Arcand นั้น กลับมองช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตก่อนตายว่าเป็นอย่างไร หนังเปิดฉากมาด้วยเรื่องราวของครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่งใน Montreal แคนาดา เมื่อ Rémy ชายแก่คนหนึ่งที่กำลังนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่รู้ว่าตัวเองกำลังใกล้ตาย เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่ายโดยผู้กำกับตั้งใจสื่อให้เห็นชีวิตที่ผ่านมาของ Rémy ผ่านทางคนรอบข้างทั้งจากครอบครัว และเพื่อนฝูง

หลังจากดูมาได้สักพัก เราถึงรู้ว่าแม้สภาพภายนอกของแกจะดูไม่ป่วยไข้รุนแรงสักเท่าไร แต่ความเป็นจริงแล้วอาการของแกอยู่ในขั้นสุดท้ายของโรคร้ายนี้ อย่างไรก็ดียังมีเรื่องราวเฮฮาของ Rémy กับเพื่อนฝูงวัยดึกให้เห็นเป็นระยะๆ แต่ที่แน่ๆผมสรุปได้ว่า Rémy แกเป็นตาแก่ปัญญาชนที่เข้าข่ายปากจัดกัดเจ็บ รักสนุก ออกจะเจ้าชู้และมีความเป็นศิลปินแบบฝรั่งเศสชนทั้งหลาย นอกจากนี้เรายังได้เห็นวิถีคิดของพวกฮิปปี้หรือบุปผาชนในยุค 60 ที่สะท้อนอยู่ในตัวของ Rémy และผองเพื่อน

The Babarian Invasions ได้ผูกโยงเรื่องราวของคน(เคย)หนุ่มสาวเมื่อ 40 ปีก่อน และนำเสนอมันออกมาได้อย่างครื้นเครง ในรูปของคนแก่ที่โหยหาอดีต (Nostagia) คนดูเริ่มรู้จักตัวละครตัวอื่นที่เป็นองค์ประกอบในชีวิตของ Rémy ซึ่งจะว่าไปแล้วมิตรสหายส่วนใหญ่ของแกก็มักมีรสนิยมและบุคลิกคล้ายๆกัน เพียงแต่รูปแบบของการมีชีวิตอาจจะต่างกันไป Rémy ดำเนินชีวิตด้วยการเป็นProfessorในมหาวิทยาลัย เขากล่าวไว้ในหนังว่า เขาจัดเป็นพวกซ้ายหรือนักสังคมนิยม Socialist ตามสไตล์เฟรนช์แมน ขณะที่เหล่าเพื่อนฝูงส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นพวกนักคิด นักปฏิวัติ ปัญญาชน คนเหล่านี้น่าจะเป็นตัวแทนของบุปผาชนที่เชื่อในเสรีภาพทั้งเรื่องการใช้ชีวิต เพศสภาพ แม้กระทั่งการเมือง มีอยู่ฉากหนึ่งที่ผมชอบและคิดว่าน่าจะเป็นฉากที่สรุปความเป็นตัวตนของพวกเขาได้ดี เมื่อทั้งหมดมานั่งรวมกลุ่มคุยกันถึงวันคืนเก่าๆโดย บอกเล่าถึงหนังสือที่ตัวเองเคยอ่าน เช่นอ่านงานของซารต์ ดูหนังของโกดาร์ต ความประทับใจที่มีต่อช่วงชีวิตในวัยหนุ่มสาวทั้งเรื่องรักและเซ็กส์ และท้ายที่สุดมันสื่อให้เห็นอุดมคติของการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการเพียงแค่ความสงบร่มเย็นของสังคมเท่านั้นเอง

หนังเรื่องนี้มีกลิ่นของความเป็นยุโรปค่อนข้างมากครับ แต่เป็นยุโรปที่อยู่ในคราบของแคนาดา ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่าทำไมภาษาฝรั่งเศสจึงกลายเป็นภาษาทางราชการอีกภาษาหนึ่งของแคนาดา ด้วยความที่พวกเฟรนช์ชนนั้นไปลงหลักปักรากกันอยู่เต็มไปหมดบนแผ่นดินอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ประเด็นที่หนังสื่อสารให้เราเห็นอีกอย่าง คือ ความรักของพ่อกับลูกๆ อย่างที่ผมเล่าไปข้างต้นแล้วว่าด้วยความที่ตาแก่ Rémy แกเป็นพวกปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ปากจัด แถมเจ้าชู้ ดังนั้นแทบจะสรุปได้เลยว่าชีวิตครอบครัวของแกจัดว่าล้มเหลว เนื่องจากแกหย่าร้างกับเมียและอยู่ห่างจากลูกๆ แต่หนังไม่ได้บอกที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าวมากนัก ดังนั้นเราจึงเห็นความไม่ลงรอยของแกกับ Sébastien ลูกชายปรากฏอยู่ในหนังเสมอ

ตัวละครอย่าง Sébastien , นำแสดงโดย Stéphane Rousseau, นับว่าเด่นมากในเรื่องนี้เนื่องจากเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเจริญก้าวหน้าในฐานะนักการเงินที่ลอนดอน ดังนั้นวิธีคิดของ Sébastien จึงต่างกับพ่ออย่างสิ้นเชิง แม้เขาจะขัดกับพ่ออยู่บ่อยครั้งแต่อย่างไรก็ตามหลายฉากทำให้เห็นภาพความกตัญญูของ Sébastien ที่มีต่อพ่อด้วยการจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพ่อ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล รวมถึงติดต่อเรียกเพื่อนฝูงเก่าๆของพ่อให้ช่วยมาเยี่ยมเยียนในวาระสุดท้าย

นอกจากนี้ฉากที่ประทับใจอีกฉาก คือ ตอนที่ชายชราบอกลาและขอบคุณกับมิตรภาพที่คนๆหนึ่งได้รับมาตลอดชีวิตจากครอบครัวลูกเมีย รวมไปถึงเพื่อนฝูง มันเป็นการบอกลาที่ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ทำ โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่ Rémy พูดกับ Sébastien ว่า “I wish that one day you will have a son like you.” ผมว่านี่น่าจะเป็นคำบอกลาที่ไม่ต้องบรรยายอะไรกันมากมายแต่ฟังแล้วกินใจยิ่งนัก

เคยสงสัยบ้างมั๊ยครับว่าทำไมคนเราถึงได้พบกันรู้จักกัน เป็นพ่อแม่ เป็นลูกหลาน เป็นเพื่อน เป็นคู่รัก สามีภรรยา ทั้งๆที่ถ้าเทียบกับระยะเวลาของการกำเนิดโลกแล้วมันยาวนานเสียเหลือเกิน ผมว่าการเจอะเจอกันในภพชาตินี้คงไม่น่าจะใช่เป็นเรื่องของเหตุบังเอิญแต่อย่างใด เพราะพิจารณาจากความเหลื่อมของเวลาแต่ละยุคสมัยแล้วเรามีโอกาสน้อยมากที่จะพบกัน

ฉากสุดท้ายของเรื่อง,หนังค่อยๆปล่อยให้เราสัมผัสกับความตายของชายแก่และทำให้เห็นภาพฝันในห้วงสุดท้าย ซึ่งอาจจะเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดของแกที่จะนำติดตัวไปในภพต่อไป สำหรับความฝันอะไรนั้น ผมขออนุญาตไม่เล่าแล้วกันนะครับ และถ้าจะให้ดีผมว่าท่านผู้อ่านลองไปหาหนังเรื่องนี้มาดูดีกว่าครับ

Hesse004

Jun 15, 2007

“ทวิภพ” ประวัติศาสตร์ในหนังพีเรียด



ผมชอบดูหนังประวัติศาสตร์ครับ เพราะหนังเหล่านี้ช่วยเติมจินตภาพเรื่องราวในอดีตได้อย่างมีอรรถรส ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา , ถ้าเราย้อนดูหนังประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ นางนาก (2542) , บางระจัน (2542) , สุริโยทัย (2543) , โหมโรง (2547) , ทวิภพ (2547)และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร (2549 และ 2550) ในกระบวนหนังทั้งหกเรื่องนี้ ผมประทับใจทวิภพมากที่สุดครับ ด้วยเหตุผลที่ว่าทวิภพฉบับปี 2547 ภายใต้การตีความของผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า นั้น มีความลงตัวระหว่างศิลปะและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ทวิภพฉบับนี้มีชื่อภาษาอังกฤษห้อยท้ายว่า Siam Renesiance อันหมายถึงยุคแผ่นดินรัตนโกสินทร์กำลังจะก้าวสู่ความเป็นสยามใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็จริงนะครับ เพราะหนังได้สื่อสารให้เราเห็นการวางตัวของสยามเมื่อปี พ.ศ. 2398 ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไรเพื่อให้พ้นปากเหยี่ยวปากกาจากมหาอำนาจ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งที่สุดแล้วทั้งสองประเทศเลือกที่จะใช้สยามเป็นรัฐกันชน (Buffer State) มากกว่าจะมาแย่งกันเอง ประกอบกับนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยามสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เลือกที่ปรับตัวมากกว่าดึงดันอย่างแตกหัก

คุณสุรพงษ์ พินิจค้า ได้หยิบทวิภพบทประพันธ์เดิมของคุณทมยันตีมาตีความใหม่ท่ามกลางบริบทของกระแสโลกาภิวัฒน์ ในหนังเราจะเห็นได้ว่าการครอบงำของฝรั่งนั้นมิได้ทำผ่านกลอุบายเรือปืนเพียงอย่างเดียวครับ หากแต่การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาก็นับเป็นหนทางหนึ่งที่ชนตะวันตกอยากให้ชาวตะวันออกได้คิดและเชื่อเหมือนที่พวกเขาเชื่อ ตัวอย่างที่พบในหนังคือ การเข้ามาของมิชชันนารีสอนศาสนาอย่างหมอบรัดเลย์ (Dan B. Bradley)

สยามในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นมีความเปราะทางการเมืองภายในพระนครค่อนข้างมาก เพราะหากเราทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่าช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 3 กับ รัชกาลที่ 4 นั้น การผลัดแผ่นดินจำเป็นต้องอาศัยฐานกำลังของขุนนางสายสกุลบุนนาคโดยเฉพาะขุนนางหนุ่มอย่าง เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาท่านผู้นี้นับว่ามีบทบาทสำคัญในการนำพารัฐนาวาสยามให้พ้นจากการล่าอาณานิคมของโลกตะวันตก

หนังพาเราย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2398 โดยมี มณีจันทร์หรือ แมนี่ เป็นนางเอกเดินเรื่อง กลวิธีการเล่าเรื่องสลับไปสลับมาผ่านเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วทำให้คนดูฉงนตามไปด้วยว่าว่าตกลงแล้วกูกำลังฝันไปหรืออยู่ในโลกของความจริงกันแน่ การเลือกใช้เพลงนับเป็นเทคนิคที่น่าสนใจในการเล่นกับหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ภาพฉากกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังช่วยทำให้จินตนาการการเรียนประวัติศาสตร์ของผมกระจ่างชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งบทหนังทำให้เราเห็นสภาพการเมืองระหว่างประเทศโดยมีสยามกับชาติมหาอำนาจที่กำลังคัดง้างดูท่าทีกันอยู่ และเมื่ออังกฤษภายใต้การเข้ามาของ Sir John Bowring ซึ่งมาพร้อมกับสนธิสัญญาที่อ้างเรื่องการค้าเสรี (คุ้นๆมั๊ยครับ) ว่าจะขอเข้ามาทำการค้าขายกับสยามโดยตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ของความยุติธรรม ผมขอวงเล็บว่าสำหรับพวกฝรั่ง ผมขอเสริมนิดหนึ่งว่า Sir John Bowring นั้นจัดเป็นราชทูตตัวแสบสำหรับโลกตะวันออกเลยทีเดียว คุณผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าอีตา John คนนี้แกเป็นผู้ว่าเกาะฮ่องกงคนแรกหลังจากที่จีนต้องยอมเสียฮ่องกงให้กับอังกฤษ นักประวัติศาสตร์จีนมองว่า Sir John Bowring คนนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอังกฤษแย่ลง จนถึงกับทำให้ชาวจีนลอบวางยาพิษใส่ขนมปังฆ่ายกครัวของแกเลยทีเดียว

กลับมาที่เรื่องของเราต่อครับ ,รัฐบาลสยามได้มอบหมายให้เสนาบดี 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสกุลบุนนาคโดยมีเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินการเจรจาความเมืองและผลลัพธ์ก็เหมือนที่เราเรียนจากวิชาประวัติศาสตร์ คือ สนธิสัญญาบาวริ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศสยามโดยแท้จริง แม้ว่าฝ่ายเราจะเสียเปรียบก็ตาม จะว่าไปแล้วการมองเห็นภาพอดีตผ่านสื่อภาพยนตร์นั้นมันทำให้เรามองเห็นความรู้สึกของคนโบราณว่า เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไรในช่วงเวลาคับขันเช่นนั้น หนังยังสื่อสารให้เราเห็นว่า หากเราเลือกที่จะสู้เราก็คงรบแพ้เหมือนอย่างที่พม่าและญวนแพ้ ไม่แน่ว่าทุกวันนี้พวกเราอาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสเป็นภาษาประจำชาติก็ได้ ผมว่าบรรพบุรุษของเราเลือกแก้ปัญหาได้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ และอย่างน้อยเขาก็รักษาให้แผ่นดินนี้ไม่ต้องตกเป็นของใคร

ประเด็นที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากการดูหนังเรื่องนี้ คือ ความใฝ่รู้ของคนสมัยก่อน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าคนโบราณนั้นมีความใฝ่รู้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น รัชกาลที่ 4 ทรงจ้างแหม่มแอนนา เตียวโลเว่นส์ เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับพระองค์และพระโอรสพระธิดาถึงในพระบรมมหาราชวัง จนนางแหม่มคนนี้กลับไปเขียนหนังสือเป็นตุเป็นตะในชื่อ Anna and The King of Siam ภาพของการไขว่คว้าหาความรู้อีกภาพหนึ่งที่ผมพบในหนังทวิภพ คือ ภาพที่เจ้าพระยากลาโหมหรือท่านช่วงกำลังนั่งอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอย่างสบายอารมณ์แถมยังพูดเหน็บแนมไอ้กงสุลฝรั่งเศสอย่างคล่องปร๋อ หันกลับมาดูตอนนี้สิครับ ! น่าตกใจไม่น้อยที่ตัวเลขการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยของคนไทยมีแค่ 6 บรรทัด ต่อปี ขอย้ำนะครับว่า 6 บรรทัด สำหรับผมแล้ว, ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ค่อยดูดำดีดีกับระบบการศึกษามากนัก แม้จะชูธงปฏิรูปการศึกษากันหลายครั้ง ขณะที่การจัดการศึกษามิเพียงแต่ให้คนอ่านออกเขียนได้เท่านั้น อย่างน้อยควรทำให้พลเมืองของประเทศได้รู้จักคิดเป็น นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังให้คุณค่ากับทุนทางปัญญาน้อยมาก เมื่อเทียบกับทุนทางวัตถุที่ใช้ปรนเปรอความสำราญทางร่างกายเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายผมอยากแนะนำให้ใครหลายคนที่กำลังสมอ้างว่ารักชาติรักแผ่นดินเกิดจนออกมาปั่นป่วนวุ่นวายกันมาตลอดปีสองปีนี้ อยากให้ลองไปดูทวิภพฉบับปี 2547 แล้วพิจารณาดูเสียว่ากว่าบรรพบุรุษเขาจะนำพารัฐสยามให้อยู่รอดปลอดภัยได้นั้น เขาใช้สติปัญญาต่อสู้มากน้อยแค่ไหนและที่สำคัญที่สุด คือ เขาไม่ต้องมานั่งบอกกันว่าเราต้องสามัคคีกันสู้นะ เพราะเขาได้ทำให้เราเห็นแล้ว

Hesse004

Jun 9, 2007

Letter From Iwo Jima สงครามของผู้พ่ายแพ้



เรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ข้างต้นหลายท่านที่เป็นนักดูหนังหรือชอบดูหนังคงคุ้นชื่อกันอยู่บ้าง กับ Letter From Iwo Jima ผลงานกำกับลำดับที่30ของ Clint Eastwood โดยปกติแล้วเรื่องราวของสงครามมักจะถูกถ่ายทอดจากมุมมองของผู้ชนะจนแทบเรียกได้ว่ามันเป็นความภูมิใจของผู้มีชัย อย่างไรก็ดีผมว่าเรามักไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องราวของผู้พ่ายแพ้กันสักเท่าไร ยิ่งในโลกของภาพยนตร์ แล้ว สตูดิโอทั้งหลายในHollywood ล้วนพยายามสร้างหนังสงครามในมิติที่อเมริกามักเป็นพระเอก เสมอ ผมตั้งข้อสังเกตกับเรื่องนี้ว่า ความที่อเมริกันชนมีประวัติศาสตร์ที่สั่นจุ๊ดจู๋ ซึ่งถ้านับแล้วยังไม่ถึง 250 ปีด้วยซ้ำไป ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความภูมิใจของชนชาติจำต้องสร้างขึ้นผ่านการหมิ่นเหยียบชาติที่ด้อยกว่าโดยพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่าเพราะเหตุใดกูจึงต้องทำอย่างนี้ ทำไมจึงต้องร่วมสงครามหรือเพราะเหตุใดกูถึงต้องทำตัวเป็นตำรวจโลกที่คอยพิทักษ์ปกปักคุ้มครองความฉิบหายของมวลมนุษย์อยู่เสมอ

ยิ่งถ้าเราดูหนังพีเรียดที่มีฉากหลังเป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วส่วนใหญ่หนังอย่าง Saving Private Ryan (1998) , Schinder List (1993) ,ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดยพ่อมดแห่ง Hollywood อย่าง Spilberg, หรือย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 50 ถึง70 ที่หนังสงครามโลกครั้งที่สองถูกสร้างออกมาอย่างเกลื่อนกราด ไม่ว่าจะเป็น The Great Escape (1963) The Gun of Navarone (1961) The Longest Day (1962) Patton (1970) The Bridge on the River Kwai (1957) เป็นต้น หนังเหล่านี้ล้วนถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงเพื่อยกย่องเชิดชูวีรบุรุษสงครามซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นทหารอเมริกันโดยมีเยอรมัน ญี่ปุ่น หรืออิตาลีเป็นผู้ร้ายอยู่เสมอ

สำหรับ Letter from Iwo Jima (2006) ของ Clint Eastwood เป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน แต่ผมจัดให้อยู่ในสกุลหนังที่มีเนื้อหาต่อต้านสงคราม เช่นเดียวกับ The Thin Red Line (1998) ของ Terrence Marick หรือ The Pianist (2002)ของอากู๋ Roman Polanski

Letter from Iwo Jima เล่าถึงช่วงเวลา 4-5 เดือนสุดท้ายก่อนที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์บอกเราว่าหมู่เกาะ Iwo Jima (อ่านว่า “ไอโวจิมา” นะครับ) เป็นเกาะหนึ่งในหมู่เกาะโบมินซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ภายในเกาะมีถ้ำอยู่หลายแห่งด้วยเหตุนี้เองทำให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถสร้างป้อมปราการไว้เป็นฐานที่ตั้งของกองกำลังเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เครื่องบินอเมริกาเข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีเกาะญี่ปุ่นทั้งเกาะได้ พูดง่ายๆก็คือ Iwo Jima เปรียบเสมือนเกาะหน้าด่านที่อเมริกาต้องการเพื่อใช้เป็นฐานจอดเครื่องบินรบสำหรับโปรยระเบิดนาปาล์มทำลายญี่ปุ่น ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ต้องรักษาเกาะนี้ไว้สุดชีวิตเพราะหากเกาะนี้ถูกยึดเมื่อไรนั่นหมายถึงเค้าลางของความพ่ายแพ้ย่อมตามมา

แต่แล้ว เกาะ Iwo Jima ก็ถูกอเมริกาเปิดบริสุทธิ์ยึดเป็นฐานที่มั่นจนได้เมื่อเดือนมีนาคมปี 1945 และ 5 เดือนหลังจากนั้นญี่ปุ่นต้องยอมแพ้สงคราม เรื่องราวของสมรภูมิรบ Iwo Jima ที่ปู่ Clint แกบรรจงถ่ายทอดให้เราเห็นนั้น ทำให้เรานึกถึงความไร้สาระของการทำสงคราม เพราะสงครามคือการทำลายล้างอย่างแท้จริง นอกเหนือจากชีวิตทหารและพลเมืองผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไปแล้ว สงครามยังพรากจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ออกไปด้วย หลายปีก่อนผมเคยชื่นชอบวีรบุรุษสงครามโดยเฉพาะพวกนายพลรวมทั้งผู้นำระดับโลกทั้งหลาย แต่เมื่อยิ่งเติบโตขึ้น การทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์กลับทำให้ผมมองเห็นความโลภ ความตะกละในอำนาจของคนใหญ่คนโตเหล่านั้น ขณะเดียวกันผมกลับศรัทธาชีวิตเล็กๆของทหารที่ออกสู้รบกลางสมรภูมิทั้งที่ลึกๆแล้วก็รักตัวกลัวตายเหมือนกัน แต่การต่อสู้ของพวกเขาก็เพียงเพื่อทำหน้าที่โดยจิตสำนึกที่ดีของความเป็นผู้ปกป้องคนหนึ่งที่อาจจะคิดเพียงว่าสิ่งที่ทำไปก็เพื่อลูกเมียหรือเพื่อนฝูงแนวหลังเท่านั้นเอง มิใช่เพื่อเกียรติยศชื่อเสียงหรือโหยหาคำว่า วีรบุรุษ วีรสตรี แต่อย่างใด ผมว่าไอ้คำเหล่านี้หรือเหรียญตรากล้าหาญมันเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์บางพวกสร้างขึ้นมา ซึ่ง Clint Eastwood แกมาเฉลยได้อย่างแนบเนียนในหนังที่แทบเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อของ Letter from IwoJima นั่นคือ Flag of our Father (2006)

หลายท่านคงเคยผ่านตากับภาพเหล่าทหารอเมริกัน4-5 คน ที่ช่วยกันแบกธงชาติของพวกเขาขึ้นปักบนยอดเขา Suribashi บนเกาะ Iwo Jima นั่นแหละครับ คือวันที่อเมริกาประกาศก้องว่า กูกำลังจะเป็นมหาอำนาจชาติใหม่บนโลกสีน้ำเงินใบนี้ กลับมาที่หนังต่อครับ Letter from Iwo Jima ทำให้เราเห็นภาพของหลายมนุษย์บนเกาะแห่งนี้ในห้วงเวลาของความพ่ายแพ้ ตั้งแต่นายพลไปยันพลทหาร สงครามในทัศนะของผู้ปราชัยย่อมสร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเขาอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้เองทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ,ยกเว้นโกโบริในคู่กรรม, จึงยอมฆ่าตัวตาย

ผมเองเริ่มรู้สึกแล้วว่ายิ่งดูหนังสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ผมกลับยิ่งเห็นความตายเป็นเรื่องสวยงาม (Beautiful Death) สวยงามในที่นี้หมายถึง ในยามที่เรากำลังเผชิญเงื้อมมือของมัจจุราชนั้น เราจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไรในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เราจะกลัวลนลานหรือเปล่า? หรือว่าจะเข้าใจว่ามันก็เป็นแค่กฎหนึ่งของการดับสูญ คุณผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าถ้าเราเห็นเพื่อนทหารของเรากำลังดึงสลักระเบิดมาวางไว้ที่หัวใจ แล้วเพียงอึดใจเดียวร่างของเพื่อนก็มอดไหม้ไปต่อหน้า เราจะรู้สึกอย่างไร? เราจะเลือกตายอย่างนั้นหรือเปล่า? สิ่งเหล่านี้ล้วนมีรากมาจากความเป็นซามูไรของชาวญี่ปุ่น ผมว่าปรัชญาของซามูไรมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการสื่อสารให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้ อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าผมเป็นพวกนิยมการฆ่าตัวตาย นะครับ

สำหรับตัวละครสำคัญที่จะไม่เอ่ยไม่ได้เลย คือ นายพล Kuribayashi Tadamichi , นำแสดงโดย Ken Watanabe นายพลคนนี้เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ครับ (ดูภาพประกอบ) Kuribayashi มีโอกาสไปร่ำเรียนที่อเมริกา ทำให้เขาซึมซับบางอย่างของโลกตะวันตกเช่นความเชื่อในเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงไม่ลงโทษทหารแบบซี้ซั้ว ขณะเดียวกันเขาก็ยังชื่นชมกับความเป็นนิปปอนชนโดยเฉพาะปรัชญาการใช้ชีวิตของซามูไรที่ถึงที่สุดแล้วเกียรติยศ ประเทศชาติ และสมเด็จพระจักรพรรดิย่อมสำคัญกว่าชีวิตตนเอง Kuribayashi นับเป็นตัวละครสำคัญเพราะเขาเป็นผู้บันทึกทุกอย่างบนเกาะ Iwo Jima ผ่านจดหมายที่ตั้งใจส่งให้เมียและลูกๆที่บ้าน แต่จดหมายไม่เคยถูกส่งแต่อย่างใดและถูกฝังไว้ในถ้ำบัญชาการในวันที่ทหารอเมริกันยึดครองเกาะนี้ได้ หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี เราจึงได้รับรู้เรื่องราวของวาระสุดท้ายของทหารญี่ปุ่นบนเกาะแห่งนี้ สำหรับผมแล้ว , สงครามในทัศนะของผู้แพ้บางทีดูมันจะมีคุณค่ามากกว่าชัยชนะของมหาอำนาจอย่างอเมริกาเสียอีก
Hesse004