May 30, 2007

อวสานของเจ้ยฉินอ๋อง เมื่อประวัติศาสตร์หมุนรอบตัวเอง



ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ครับ เพราะประวัติศาสตร์สามารถเติมจินตนาการในอดีตของมนุษย์ได้ดี ประวัติศาสตร์ยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของมนุษยชาติและที่ละเอียดอ่อนไปกว่านั้น คือ เราสามารถเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเรื่องราวในอดีตได้
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์จีน, ผมเชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงสามก๊กเป็นอันดับแรก จริงๆแล้วสามก๊กมีความเป็นพงศาวดารจีนอยู่ในตัวเนื่องจากมีข้อเท็จจริงอยู่บ้างแต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซนต์ ตัวละครอย่างเล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย ตามหลักฐานโบราณเชื่อได้ว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงแต่อย่างไรก็ตามตัวละครอย่างนางเตียวเสี้ยน นักประวัติศาสตร์จีนบอกว่าไม่มีชื่อนี้อยู่ในโลกประวัติศาสตร์แต่อย่างใด สำหรับเรื่องที่ผมอยากจะเล่าในวันนี้ยังเป็นประวัติศาสตร์จีนอยู่เหมือนเดิมแหละครับแต่เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยหลังจากสิ้นสุดยุคสามก๊กแล้ว
อัครเสนาบดีของวุยก๊กนามว่า สุมาเอี๋ยนสามารถรวบรวมก๊กทั้งสามให้เป็นประเทศจีนได้อีกครั้ง และสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นปกครองแผ่นดินจีน อย่างไรก็ดีราชวงศ์นี้มีอายุไม่ยืนครับ เนื่องจากเกิดความแตกแยกกันเองของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ประวัติศาสตร์จีนมักบอกเราเสมอว่าช่วงที่ฮ่องเต้เข้มแข็งบ้านเมืองก็จะสงบสุข แต่เมื่อใดที่ฮ่องเต้อ่อนแอ ความวุ่นวายย่อมตามมา ยุคที่ราชวงศ์จิ้นปกครองมีอยู่สองช่วงครับ พวกแต้จิ๋วชน จะเรียกว่าสมัยไซจิ้น (จิ้นตะวันตก)กับ ตั้งจิ้น (จิ้นตะวันออก) ด้วยเหตุที่แบ่งเช่นนี้เพราะเรียกตามเมืองหลวงของจีน ถ้าจำไม่ผิดช่วงนั้นจีนมีเมืองลั่วหยางหรือโล่หยางเป็นเมืองหลวงสมัยไซจิ้น หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นเมืองเกี้ยนฆัง (นานกิง)ในสมัยตั้งจิ้น
ผมเกริ่นมาเสียยืดยาว จริงๆแล้วผมอยากเขียนเรื่องของบุคคลผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่ผมคิดว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย คนๆนั้นคือ เจ้ยฉินอ๋อง ครับ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.894 หรือประมาณหนึ่งพันหกร้อยกว่าปีก่อน มีรัฐใหญ่รัฐหนึ่งในแผ่นดินจีนนั่นคือ รัฐเฉียนฉิน (เรียกสั้นๆว่าฉิน) รัฐนี้มีเมืองฉางอานเป็นเมืองหลวง มีเจ้านครรัฐนามว่า ฝูเจียน หรือที่ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า เจ้ยฉินอ๋อง อ๋องคนนี้นับว่ามีอำนาจมากที่สุดในบรรดาเจ้านครทั้ง 16 รัฐ ยิ่งในช่วงที่แผ่นดินจีนขาดเสถียรภาพด้วยแล้ว ความเก่งกาจ เฉลียวฉลาดของเจ้ยฉินอ๋อง ทำให้เขามีอำนาจบารมีสร้างศรัทธาให้กับผู้คนได้อย่างมากมาย ประกอบกับการได้กุนซือคู่ใจอย่าง หวางเหมิ่ง ยิ่งทำให้อาณาจักรเฉียนฉินดูจะรุ่งเรืองเกรียงไกร จนเจ้ยฉินอ๋องเกือบจะรวมประเทศจีนได้สำเร็จ แต่....
ผมว่าการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดจำเป็นต้องอาศัยทั้งความสามารถและวาสนา ขณะที่วาสนาเนี่ยไม่รู้มันจะสามารถหาซื้อได้อย่าง "ปาติหาน" หรือเปล่า แต่ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันคือการสะสมบุญบารมีของมนุษย์แต่ละคน บุญก็คือการสร้างความดีนั่นแหละครับ ส่วนความดีก็คือการสร้างสิ่งดีๆให้กับคนในสังคมส่วนใหญ่ และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน คงไม่ต้องขยายความกันต่อนะครับ
กลับมาที่เรื่องของเจ้ยฉินอ๋องกันต่อครับ , การที่เจ้ยฉินอ๋องได้หวางเหมิ่งมาเป็นกุนซือใหญ่ทำให้เขาสามารถขยายอาณาจักรเฉียนฉินออกไปได้ไกล ไกลจนกระทั่งข้ามไปตีเมืองโล่วหยางของราชวงศ์จิ้นได้ อาณาจักรฉินยังสามารถผนวกดินแดนอื่นๆให้เข้ามาเป็นประเทศราชของตนเองได้เช่น อาณาจักรเฉียนเยียนซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ อย่างไรก็ตามผู้นำทุกคนย่อมมีจุดอ่อนอยู่ในตัว แม้ว่าเจ้ยฉินอ๋องจะเป็นผู้นำที่เก่งกาจฉลาดปราดเปรื่อง แต่กลับขาดความเฉลียวครับ ด้วยความที่แกเป็นคนนับถือคนเก่งๆ แกเลยจับเอาคนเก่งจากประเทศที่ตีได้มาเป็นกุนซือบ้าง เป็นทหารเอกบ้าง เช่นเมื่อตีเฉียนเยียนได้แล้วแกก็จับเอา มอยองสุย ขุนทหารของดินแดนเฉียนเยียนเข้ามาเป็นทหารเอกทั้งๆที่หวางเหมิ่งแนะนำให้ฆ่าล้างโคตรคนสกุลมอยองไปตั้งแต่ยึดเมืองได้แล้ว เนื่องจากไม่ไว้ใจคนตระกูลนี้ผมมีเกร็ดนิดนึงครับว่า คนแซ่ มอยองหรือมู่หยงในแผ่นดินจีนนับเป็นขุนศึกที่ชำนาญการรบมาแต่โบราณแล้ว คนสกุลนี้ถูกกล่าวขานในแง่ของความกล้าหาญอยู่บ่อยครั้ง
แล้วดาววาสนาของเจ้ยฉินอ๋องก็เริ่มอับแสงลง เมื่ออุปราชคู่ใจหวางเหมิ่งได้ตายจากไป ทั้งสองนับเป็นคู่นายบ่าวที่รู้ใจกันดีที่สุดเหมือนที่เล่าปี่มีขงเบ้งในสมัยสามก๊ก ก่อนที่หวางเหมิ่งจะตาย เขาได้เขียนจดหมายสามฉบับฝากให้เจ้ยฉินอ๋อง สำหรับช่วงเวลาคับขัน โดยบอกถึงวิธีการเอาตัวรอดและกลยุทธ์สงครามที่สำคัญ โดยจดหมายฉบับสุดท้ายนั้นหวางเหมิ่งได้กำชับไม่ให้เจ้ยฉินอ๋องนำกำลังทหารไปโจมตีอาณาจักรจิ้นอีก เพราะเชื่อว่าไม่มีทางชนะได้รวมทั้งให้กำจัดเจ้ามอยองสุยตัวแสบเพราะอาจจะเป็นภัยต่อเจ้ยฉินอ๋องภายหลัง
เจ้ยฉินอ๋องแกเชื่อหวางเหมิ่ง แต่แกเชื่อไม่หมดครับ เพราะแกดันทุรังพากองทัพกว่า 80 หมื่นบุกเข้าสู่เมืองเกี้ยนฆังแถมยังไว้ใจให้มอยองสุยเป็น แม่ทัพร่วมศึกด้วยอีก การบุกแค้วนจิ้นด้วยหมายจะพิชิตเมืองเกี้ยนฆัง ทำให้เกิดยุทธการทางสงครามที่เรียกว่า ยุทธการเฝยสุ่ย ยุทธการนี้เรียกขานตามชื่อของแม่น้ำเฝยสุ่ย สาระสำคัญของการสัปประยุทธ์ครั้งนี้ คือ การที่กองกำลังน้อยกว่าของจิ้นสามารถเอาชนะกองกำลังที่มากกว่าของเจ้ยฉินอ๋องได้ คำว่าน้อยกว่าเนี่ยต้องนับกันเป็นเท่าเลยนะครับ เพราะจิ้นมีกองทหารน้อยกว่าฉินถึง 10 เท่า พูดง่ายๆคือ 8 หมื่น รับมือกับ 8 แสน การที่กองทัพเล็กกว่าสามารถชนะได้ก็เพราะพวกเขาเล่นตามกลยุทธ์ของตัวเอง และใช้ความได้เปรียบและความชำนาญในพื้นที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับกองทัพผู้มาเยือนทำให้การตั้งรับของจิ้นจึงประสบความสำเร็จ ความพ่ายแพ้ของเจ้ยฉินอ๋องทำให้เขาสูญเสียทหารไปเกือบหมด ท้ายที่สุดเจ้ยฉินอ๋องต้องกลับฉางอานด้วยความบอบช้ำอย่างสาหัส หลังยุทธการเฝยสุ่ย เจ้ยฉินอ๋องถูกคนสนิทจับประหารชีวิต (ในหนังสือพงศาวดารจีนที่แปลจากภาษาแต้จิ๋ว กล่าวถึง จุดจบของเจ้ยฉินอ๋องไว้อย่างรันทดว่า แม้จะขอน้ำกินสักหยดเดียวก็ยังไม่ได้เลย ทำให้สุดท้ายแกเลือกจบชีวิตด้วยการเอาผ้าขาวผูกคอแล้ววิ่งเอาหัวชนกำแพงตาย ) นับเป็นการสิ้นสุดความยิ่งใหญ่ของอ๋องผู้เกือบจะรวมแผ่นดินจีนสำเร็จถ้าเขาเชื่อในคำของกุนซือหวางเหมิ่ง

ประวัติศาสตร์มักหมุนย้อนกลับมาอยู่เสมอครับ อีกทั้งเป็นวงจรที่ผู้เสพอำนาจหรือคิดจะมีอำนาจต้องสำเหนียกให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะกฎของอนิจจังหรือความไม่เที่ยงของอำนาจ จะอย่างไรก็ตาม, ผมกลับชอบเจ้ยฉินอ๋องตรงไหนรู้มั๊ยครับ ผมว่าแกเป็นคนที่หลงรักศัตรู หลงรักในที่นี้หมายถึงให้โอกาสกับคนเก่งได้แสดงความสามารถ แม้ว่าสุดท้ายจะโดนทรยศหักหลัง ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยล้วนมีคนอย่างเจ้ยฉินอ๋องปรากฏให้เห็นกันอยู่เสมอ สำหรับผมแล้ว, ผมเชื่อว่าเจ้ยฉินอ๋องมีบารมีมากพอที่จะเป็นอ๋องแต่ไม่มากพอที่จะเป็นฮ่องเต้ ได้ คิดเหมือนผมหรือเปล่าครับ

Hesse004

May 28, 2007

Escape from Hongkong Island เมื่อคราวซวยมาเยือน



วานก่อนผมมีโอกาสดูหนังฮ่องกงฟอร์มเล็กๆเรื่อง Escape from Hongkong Island หนังเรื่องนี้สร้างเมื่อปี 2004 มี Simon Lui (Yu – Yeung)เป็นมือเขียนบทและกำกับการแสดงเอง ส่วนนักแสดงนำหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง Jordan Chan (Siu - Chun) ที่โด่งดังมาจากหนังบู๊ล้างผลาญสไตล์ฮ่องกง และ Chapman To (Man-Chat) จาก Infernal Affair
ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การบอกเล่าถึงความโคตรซวยของชายคนหนึ่งที่ชื่อ นายม่ายโต้ (Raymond Mak) , นำแสดงโดย Jordan Chan , หนังเริ่มต้นด้วยเช้าปกติธรรมดาของ ม่ายโต้ โดยที่คนดูค่อยๆรู้จักพฤติกรรมของนายคนนี้จากรูปแบบการใช้ชีวิต บุคลิกท่าทาง และคำพูดซึ่งเพียงไม่ถึงยี่สิบนาทีเราสามารถเข้าใจได้ว่า ไอ้ม่ายโต้คนนี้พี่แกเป็นมนุษย์ประเภทเชื่อมั่นในตัวเองสูง อวดดี ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์และดูถูกคนอื่นอยู่เสมอ แน่นอนครับคนประเภทนี้ย่อมเชื่อว่าตัวเองเป็นคนเก่งมีความวิเศษวิโสอยู่ในตัว Simon Lui จงใจเขียนบทให้ม่ายโต้ทำงานในตลาดการเงินของฮ่องกง คล้ายๆกับหนังฝรั่งอย่าง Wall Street ผมเชื่อว่าภาพของคนทำงานในภาคการเงินส่วนใหญ่ค่อนข้างมีบุคลิกทันสมัยและว่องไวตลอดเวลาแต่ในมุมกลับกันมีความทะเยอทะยานไปจนกระทั่งก้าวร้าวก็มี สำหรับม่ายโต้, เขาเป็นสุดยอดโบรกเกอร์ของตลาดหุ้นในเกาะฮ่องกง ทำให้ชีวิตที่ผ่านมาของนายคนนี้ดูจะเพียบพร้อมจนน่าอิจฉาไปเสียทุกอย่างทั้งเรื่องเงินทอง หน้าที่การงาน และผู้หญิง
แต่แล้วเช้าวันนั้นโลกของม่ายโต้ก็เปลี่ยนไป เช้าที่เร่งรีบของสังคมเมือง ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาที่จะไปทำงานให้ทัน ไม่มีใครสนใจใยดีใคร ผมนึกถึงตัวเองในวันที่เร่งรีบไปทำงานต้องกระเสือกกระสนแย่งกับคนอื่นเพื่อขึ้นรถตู้หรือรถไฟฟ้า บ่อยครั้งผมรู้สึกว่ายิ่งคนมากเท่าไร เรากลับยิ่งเหงามากขึ้น กลับมาที่หนังต่อครับ ในเช้าวันนั้นม่ายโต้พบชายแปลกหน้าแต่งตัวดีใส่สูทผูกไทด์แบบเขาแต่ดันเข้ามาขอตังค์เขาแค่ 3 เหรียญเพื่อจะข้ามฟากไปฝั่งเกาลูน ชายคนนั้นอ้างว่าถูกขโมยกระเป๋าไม่มีเงินติดตัวเลยสักแดงเดียว ม่ายโต้มองหน้าชายคนนั้นอย่างเหยียดๆและไม่มีทีท่าจะใส่ใจกับความทุกข์ของชายแปลกหน้านั้นแต่อย่างใด นี่แหละครับคือบททดสอบความเอื้ออาทรของฟ้าที่มักส่งมาให้มนุษย์ไม่ทันได้ตั้งตัวอยู่เสมอ มันเป็นบททดสอบง่ายๆที่ถูกส่งลงมาวัดความเมตตาของมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นถ้าเบื้องบนท่านตรวจข้อสอบข้อนี้ แน่นอนครับว่านายคนนี้สอบตก
เมื่อม่ายโต้มาถึงที่ทำงาน เขาพบว่าตัวเองถูกไล่ออกจากงานเพราะเจ้านายใหญ่ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมกร่างของเขากับทุกคนไม่เว้นแม้แต่เจ้านาย ด้วยความที่เขาเชื่อว่ากูแน่ เขาจึงไม่สนใจกับการไล่ออกแถมยังโทรศัพท์หาบริษัทคู่แข่งที่อยู่ฝั่งเกาลูนเพื่อตอบรับข้อเสนอที่เขาจะไปนั่งเป็นบอสใหม่ที่นั่น หนังมาถึงจุดสำคัญแล้วครับ เมื่อนายคนนี้ออกมาจากบริษัทเพื่อจะเดินทางไปเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ที่ฝั่งเกาลูน ปรากฏว่าเขาถูกจี้ครับ พอผมเล่ามาถึงตรงนี้หลายท่านคงพอเดาเรื่องได้แล้วใช่มั๊ยครับว่าไอ้ม่ายโต้มันจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
ผู้กำกับหนังทำให้เราเห็นชะตากรรมของคนเคยรวยที่ต้องกระเสือกกระสนขอเงินคนอื่นแค่ 3 เหรียญ เพียงเพื่อจะข้ามฝั่งไปเกาลูน แต่การณ์กลับไม่ง่ายอย่างที่คิดสิครับ บทเรียนดังกล่าวทำให้ม่ายโต้รู้ว่าเขาไม่เป็นที่พึงปราถนาของคนใกล้ตัวเลย ไล่ไปตั้งแต่เพื่อนที่ไม่มีใครจริงใจกับเขาเลยสักคน เพราะเขาเลือกที่จะไม่จริงใจกับคนเหล่านี้ก่อน พอมาถึงแฟน ,ไอ้หมอนี่ก็ดันไปทำเจ้าชู้ใส่ผู้หญิงหลายคนและที่แสบกว่านั้นคือดันแอบไปอึ๊บเพื่อนของแฟนตัวเองซะอีก พอย้อนกลับมาที่ครอบครัว หนังพาให้เราเห็นความเห็นแก่ตัวของม่ายโต้มากขึ้น เพราะเขาส่งแม่ไปอยู่สถานเลี้ยงดูคนชรา แถมแม่ยังเป็นอัลไซเมอร์โดยที่เขาไม่เคยดูดำดูดีเลย พี่สาวพี่ชายก็มีฐานะต่างกับม่ายโต้ชนิดหน้ามือกับหลังเท้า ความที่ไม่เอาพี่เอาน้องเลยจึงทำให้ไม่มีใครคิดอยากจะช่วยเหลือม่ายโต้เลยสักคน
ม่ายโต้พยายามหาทุกวิธีเพื่อจะให้ได้เงินมาแค่ 3 เหรียญ แต่จนแล้วจนรอดโชคชะตาก็ดูเหมือนจะเล่นตลกและสอนให้เขาเรียนรู้อะไรๆจากวันที่โคตรซวยและไม่เป็นใจ อ้อ! ผมลืมเล่าถึงตัวละครอีกตัวนั่นคือ Chapman To หมอนี่เล่นเป็นตำรวจฮ่องกง บทบาทของแกดูขรึมๆไม่เหมือนที่เล่นเป็นเพื่อนพระเอกใน Infernal affair หนังใช้ให้ตำรวจเป็นตัวแทนของผู้รักษากฎที่พยายามทำทุกอย่างให้อยู่ในความเรียบร้อย เช่น คุณตำรวจแนะนำให้ม่ายโต้ไปแจ้งทำบัตรประชาชนชั่วคราวเพื่อขอข้ามฟากแต่ด้วยความที่ม่ายโต้ดันขี้เกียจไปยืนต่อคิว แกเลยเลือกที่จะไม่ทำบัตรและหาวิธีอื่นที่ลัดกว่านี้
ผมหยิบหนังเรื่องนี้มาดูด้วยความบังเอิญ เพราะครั้งแรกที่เห็นแผ่นหนัง ผมไม่รู้สึกอยากดูแต่อย่างใด คงเพราะเบื่อกับหนังตลกฮ่องกงบ้าๆบอๆ แต่พอดูไปสักพักผมเริ่มคิดแล้วว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรดีๆแฝงอยู่ไม่น้อย หลังปี 1997เกาะฮ่องกง เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างโดยเฉพาะความแปลกแยกของคนฮ่องกงกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ คนฮ่องกงยังคุ้นเคยกับความเป็นอังกฤษชนซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีอะไรหลายอย่างดูจะประดักประเดิดใจอยู่ไม่น้อยในทัศนคติของคนฮ่องกง นอกจากนี้สภาพความเป็นเมืองการค้าการลงทุน ทำให้เกาะฮ่องกงไม่ต่างอะไรกับนิวยอร์ค ลอนดอนหรือแม้กระทั่งโตเกียว โลกในเมืองเหล่านี้ดูจะหมุนไวกว่าโลกในทิเบตหรือภูฎาน เหมือนที่ผมบอกไปตอนต้นว่ายิ่งคนเยอะเรายิ่งเหงา
ผมเชื่อเสมอว่าความเอื้ออาทรกันของคนเป็นการสะสมทุนทางสังคมที่ดีอย่างหนึ่ง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันบนฐานของความจริงใจเป็นการลด Transaction Cost ของการดำเนินชีวิต สังคมเอเชียสมัยใหม่กำลังก้าวย่างตามรอยสังคมตะวันตกที่ชอบบอกตัวเองว่ากูนั้นศิวิไลซ์แล้ว แต่ความจำเริญทางวัตถุกลับทำให้บางอย่างของความเป็นมนุษย์ของเราหายไป โดยเฉพาะการใส่ใจซึ่งกันและกัน
ผมดูเรื่องนี้จบด้วยความอิ่มเอม และอยากจะเขียนแนะนำหนังเรื่องนี้ บางทีเราแต่ละคนอาจจะเจอเหตุการณ์แบบม่ายโต้ก็ได้นะครับที่อยู่ดีๆฟ้าได้ส่งบททดสอบอะไรบางอย่างมาให้เราลองฝึกทำดูเล่นๆ
Hesse004

May 18, 2007

ตำราเศรษฐศาสตร์ของนาย Mas-Colell และคณะ

คุณผู้อ่านเคยรู้สึกปวดเศียรเวียนกบาลกับการอ่านหนังสือกันบ้างหรือเปล่าครับ ? ผมว่าอารมณ์แบบนี้คงบังเกิดขึ้นกับทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านตำราเรียน ส่วนตัวผมเองประสบการณ์เลวร้ายที่สุดของการอ่านหนังสือหนักๆ คือ ไข้ขึ้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่า นอกจากหนังสือจะมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจแล้วยังส่งผลต่อสภาพร่างกายคนเราด้วย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมนั่งอ่านตำราเศรษฐศาสตร์เพื่อเตรียมสอบปลายภาค ตำราที่ว่าคือ Microeconomic Theory ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1995 มีผู้แต่งร่วมกัน 3 คน คือ นาย Andreu Mas-Colell , นาย Michale Whinston และ นาย Jerry Green ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้ถูกใช้เป็น Required text book สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์(แบบทุนนิยม)ทั่วโลก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ตำราหนาเกือบพันหน้าเล่มนี้จะกลายเป็นสุดยอดคัมภีร์ของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคในโลกปัจจุบัน
Microeconomic Theory นับเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ชั้นสูงที่ดี กล่าวคือ มีสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เต็มไปหมด มีกราฟประหลาดพิสดารที่เราไม่ใคร่จะพบเจอนักใน หนังสือระดับ Basic หรือ Intermediate และที่สำคัญคือมีแบบฝึกหัดท้ายบทที่โคตรยากเลยครับ แน่นอนว่าผู้เขียนหนังสือทั้งสามท่านย่อมเป็นปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคชนิดที่เรียกว่ามองทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้เป็นเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง ขอย้ำนะครับว่าชั้นสูง ผมเคยสงสัยว่าลุง Mas-Colell สแปนนิชชนคนนี้เวลาแกไปสั่งอาหารสเปน แทนที่แกจะคำนวณอาหารออกมาเป็น Callories แกอาจจะคำนวณมันออกมาเป็น Utility แทน
จะว่าไปแล้วไอ้ความหงุดหงิดจากการอ่าหนังสือยากๆเนี่ยมันก็สร้างความลำบากใจให้กับคนเขียนเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเขียนที่ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนั้นให้มันเกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ผมเองเชื่อว่าตำรา Microeconomic Theory ของผู้เขียนทั้งสามท่านจะ ยืนยงคงกระพันไปอีกหลายสิบปี เพราะยากนักที่จะหาคนเขียนตำราระดับนี้ออกมาสู้ได้ แค่ดูท้ายบทที่ท่านทั้งสามหยิบมาอ้างอิงก็หนาวแล้วครับ นักเรียนเศรษฐศาสตร์ควรจะภูมิใจในความเป็นสากล ความสมเหตุสมผล ความมีตรรกะและอธิบายได้อย่างมีหลักการของศาสตร์นี้
เศรษฐศาสตร์นับเป็นสังคมศาสตร์แขนงเดียวที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลระดับโลกอย่างรางวัลโนเบล โดยธนาคารกลางของสวีเดนจะเป็นผู้ดำเนินการมอบรางวัลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีผลงานทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างล่าสุดเมื่อปี 2006 ศาสตราจารย์ Edmund Phelp อมริกันชนก็คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไปครองจากผลงานวิชาการมากมายทาง Macroeconomic หรือเมื่อปีก่อนหน้าโน้น 2005 ศาสตราจารย์ Robert Aumann จากมหาวิทยาลัยฮิบรูในเยรูซาเล็ม ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานการพัฒนาทฤษฎีเกม (Game Theory)
ผลพวงของการได้รับการยอมรับจากสถาบันอย่างโนเบลทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์พยายามถีบตัวให้เข้าถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไปไม่ถึงเสียที ทั้งนี้การสร้าง Pure Theory ของวิชาวิทยาศาสตร์มีความแตกต่างจากวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะบางครั้งนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ห้องทดลองเป็นสนามจำลองการสร้างทฤษฎีซึ่งเป็นข้อจำกัดที่วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถทำได้
ในวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกมีนักวิทยาศาสตร์เด่นๆอย่าง Sir Isac Newton , Albert Eistein หรือ Stephen Hawking แต่สำหรับวงการเศรษฐศาสตร์เรามีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ อย่าง Adam Smith , Karl Marx ,Alfred Marshall , John Maynard Keynes เรื่อยมาจนกระทั่ง Paul Samuelson และ Milton Friedman ท่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสร้างชื่อให้กับเศรษฐศาสตร์จนสามารถปักหลักแขนงวิชาในสรรพวิชาทั้งหลายบนโลกนี้ได้
ด้วยความที่เศรษฐศาสตร์เติบโตมาจากปรัชญาความคิดการจัดการเศรษฐกิจ ทำให้ความพยายามที่จะพิสูจน์ปรัชญาเหล่านี้จำเป็นต้องนำคณิตศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการสำแดงอิทธิฤทธิ์ของวิชานี้ และด้วยเหตุนี้เองภาพชินตาของนักเศรษฐศาสตร์คือ ตัวเลข กราฟ สมการ ทำให้การอธิบายเรื่องง่ายๆ ประเภทใช้สามัญสำนึกอธิบายก็น่าจะเข้าใจ แต่นักเศรษฐศาสตร์ต้องพยายามพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ด้วยคณิตศาสตร์ให้ได้ เช่น การอธิบายการเปลี่ยนแปลงต้นทุนของหน่วยผลิตโดยใช้หลัก Marginal ซึ่งก็มาจากการDifferential ในแคลคูลัส ไอเดียดังกล่าวได้แนวคิด มาจากวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเรียกวิธีการแบบนี้ว่า Newtonian อันหมายถึง วิธีคิดแบบ Sir Isac Newton ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาความคิดทางวิทยาศาสตร์ให้กับโลก
ที่กล่าวมาข้างต้น ว่าด้วยเรื่องตำราเศรษฐศาสตร์ของนาย Mas-Collel และคณะนั้น ผมเพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของโลกวิชาการในปัจจุบันว่า นักคิด นักทฤษฎีทั้งหลายต่างพยายามเหลือเกินที่จะลดช่องว่างระหว่างโลกทฤษฎีกับโลกความเป็นจริง ให้โลกทั้งสองโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุดแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารมันจะยากก็ตาม(ผมพูดบ่อยครั้งว่ามันเกินกว่ามนุษย์อย่างเราๆท่านจะเข้าใจ) แต่ถึงที่สุดแล้วที่เราพัฒนามาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความพยายามที่จะทำเรื่องยากที่สุดในทางทฤษฎีให้เอามาใช้ได้ในทางปฏิบัติมิใช่หรือ สำหรับประโยชน์อื่นๆของตำราเล่มหนาๆเล่มนี้ยังทำให้ผมมีที่หนุนหัวยามที่คิดอะไรไม่ออกและอยากจะนอนเสียเหลือเกิน....
Hesse004

May 7, 2007

General Equilibrium เศรษฐศาสตร์แนวแฟนตาซี ตอนกล่องของ Edgeworth

ปกป้อง หรือ อาจารย์ป้อง , มิตรทางปัญญาและสหายสมัยเรียนธรรมศาสตร์ , เคยเขียนแนะนำหนังสือเรื่อง The Making Modern Economic : the lives and ideas of the great thinkers ของ นาย Mark Skousen หลังจากที่ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว ผมรู้สึกถึงเสน่ห์แบบแปลกๆของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังทั้งหลาย ทำให้นึกไปถึงคำพูดที่ว่า “มีเส้นบางๆกั้นกลางระหว่างอัจฉริยะกับคนบ้า” อย่างไรก็ตามผมกลับคิดว่าความบ้าหรือเพี้ยน(Freak) ของคนเหล่านี้มีเสน่ห์และไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครแถมยังสร้างประโยชน์ให้กับโลกวิชาการ ซึ่งต่างจากคนดีๆ ที่มักจะบ้าอำนาจ บ้าชื่อเสียง บ้าเกียรติยศ
หัวเรื่องที่จั่วไว้คงเป็นศัพท์เฉพาะทางที่เด็กเศรษฐศาสตร์คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ใช่แล้วครับ! วันนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของ General Equilibrium ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ดุลยภาพทั่วไป สมัยที่ผมเริ่มเรียนเรื่องนี้ใหม่ๆ ผมมักประหลาดใจในความช่างคิดของกูรูเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายว่า ทำไม (แ ... ง) ไม่มีอะไรให้คิดแล้วเหรอ เพราะหลังจากที่เราเจอกราฟตั้งแต่เส้นเดียวไปยังหลายเส้น บางเส้นก็เป็นเส้นตรงบางเส้นเว้าแบบ Convex บางเส้นคว่ำแบบ Concave แถมยังเจอการ Shiftของกราฟทั้งแบบปกติและพิสดาร สารพัดที่จะเจอครับ สุดท้ายพอมาถึงเรื่อง General Equilibrium ผมกลับมาเจอกล่อง (Box) อีก โอ้!...พระเจ้ายอด มันจอร์จมากเลย
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผมมองว่าเรื่อง General Equilibrium มีความเป็นแฟนตาซีสูง เพราะ มันมีความสวยงามอยู่ในตัว เพียงเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าตลาดทุกตลาดในระบบเศรษฐกิจนั้นมันมี ดุลยภาพอย่างไร หรือพูดให้ยากขึ้นไปอีก คือ ทุกตลาดมันจะหาทางปรับตัวเข้าหาดุลยภาพของมันเองจนท้ายที่สุดเกิดดุลยภาพทั่วไปทั้งหมด ดังนั้นเรื่องของ General Equilibrium จึงมีความแตกต่างจาก Partial Equilibrium ที่พิจารณาเจาะจงไปที่ตลาดใดตลาดหนึ่ง
อย่างที่เราทราบกันดีว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้นเติบโตอย่างมั่นคงในแผ่นดินยุโรป โดยมีสำนัก Cambridge เป็นหัวขบวน ภายใต้การนำของปรมาจารย์ Alfred Marshall และ Authur C. Pigou ขณะที่ในเวียนนามีสำนักคิดที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวก Austrian School มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเชื้อสายออสเตรียน อย่าง Carl Menger , Ludwig Von Missie และ Eugen Bohm Bawerk (สำหรับรายหลังนี้ จัดเป็นยอดรัฐมนตรีคลังของออสเตรีย ถึงขนาดที่รัฐบาลออสเตรียนำหน้าของเขาไปปรากฏบนธนบัตรเลยทีเดียว) ส่วนในสวีเดนมีสำนัก Stockgholm ของ Knut Wicksell ต่อมาสำนักนี้พัฒนาตัวเองจนขึ้นชื่อในเรื่องทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และฐานที่มั่นสุดท้ายของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ครับ ภายใต้การนำของ Leon Walras และ Vifredo Pareto ทั้งสองสร้างสรรค์ให้สำนัก Lusanne มีชื่อเสียงในเรื่องของ General Equilibrium โดยเฉพาะ Walras ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังว่าเป็นผู้บุกเบิกเอาวิชาคณิตศาสตร์มาผสมกับเศรษฐศาสตร์ได้อย่างลงตัว
กลับมาที่พระเอกของเราครับ , ผมขอแนะนำนักเศรษฐศาสตร์เผ่าพันธุ์ไอริช นามว่า Francis Ysidro Edgeworth (1845 – 1926 ) ครับ Edgeworth เป็นนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกับ Leon Walras (1834-1910) Alfred Marshall (1842-1924 )และ Vifredo Pareto (1848 - 1923) ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างองค์ความรู้ของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค
Edgeworth มีประวัติการศึกษายอดเยี่ยม เขาจบการศึกษาที่ Trinity College โดยนอกจากจะมีพื้นความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ระดับเอกอุแล้วเขายังชำนาญการทางสถิติชนิดที่หาตัวจับยาก Edgeworth เริ่มงานเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์และการเมือง (Political Economy) ที่ Oxford อีกสำนักหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกับ Cambridge School ซึ่งงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นงานที่ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมืออธิบายเศรษฐศาสตร์ ผมตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าววิชาเศรษฐศาสตร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะมีคณิตศาสตร์มาเป็นอาวุธสำคัญที่สนับสนุนความคิด
นักเรียนเศรษฐศาสตร์หลายคนคงจะยังไม่ทราบว่า Edgeworth นี่เองที่เป็นผู้ประดิษฐ์เส้น Indifference Curve ในเรื่อง Utility ซึ่งเจ้าเส้น IC นี้แหละครับที่ทำให้ Alfred Marshall ใช้อธิบายที่มาของเส้นดีมานด์ที่ชื่อ Marshallian Demand อย่างไรก็ตาม แม้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเขาเป็นคนคิดเส้น IC แต่กล่องเจ้าปัญหาของเขาหรือ Edgeworth Box ก็ได้รับการจดจำในฐานะที่เป็นเครื่องมืออธิบายการแลกเปลี่ยนของผู้บริโภค 2 คน ที่มีสินค้า 2 ชนิด แล้วเอามาแลกกันจนกว่าจะได้รับความพอใจด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งแนวคิดการแลกกันหรือ Exchange / Trade กันนั้น ได้ถูกนำมา ต่อยอดอธิบายเรื่องของ General Equilibrium
ดังนั้น อย่าแปลกใจเลยครับเวลาที่เราเรียนเรื่อง General Equilibrium แล้วเราจะคุ้นเคยกับชื่อ Edgeworth Box , Walrasian Economy และ Pareto Optimal สำหรับผมแล้วสิ่งเหล่านี้ยังเป็นแฟนตาซีทางเศรษฐศาสตร์ที่ดูยังไงคนธรรมดาๆอย่างเราๆท่านๆคงไม่อยากคิดอะไรให้มันสลับซับซ้อนใช่มั๊ยครับ
Hesse004